วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 24.3 Other Scientific

ความเจ็บป่วยที่เกิดร่วมกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในสุนัขและแมว

เผยแพร่แล้ว 20/12/2021

เขียนโดย Emi Kate Saito

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Polski , Română , Español และ English

โรคอ้วนเป็นภาวะทุพโภชนาการที่สำคัญในสุนัขและแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีรายงานว่าสุนัขและแมวเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมากถึงร้อยละ 35 ประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โรคเรื้อรังหลายชนิดมีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนทั้งในสุนัขและแมวเช่น ข้ออักเสบ (osteoarthritis) โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน รวมถึงภาวะ hypothyroidism ในสุนัข (แปลโดย น.สพ. พีมะ มานิตยกุล)

Co-morbidity of overweight and obesity in dogs and cats

บทนำ

โรคอ้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการที่ควรระวังในสุนัขและแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีรายงานว่าสุนัขและแมวโตในประเทศสหรัฐอเมริการ้อยละ 35 ประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน 1234 โรคเรื้อรังบางชนิดมีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในสุนัขและแมวเช่นข้ออักเสบ โรคหัวใจ รวมถึงภาวะไฮโปไทรอยด์ในสุนัข 56 การวิเคราะห์ประชากรนี้ทำเพื่อประเมินความเจ็บป่วยที่เกิดร่วมกับภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินของประชากรสัตว์เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา

วิธีวิเคราะห์ข้อมูล

ประวัติการรักษาของสุนัขและแมวที่เป็นสัตว์ป่วยใน (in-patient) ช่วงปี 2013 จากสถานพยาบาลสัตว์มากกว่า 850 แห่งในเครือ Banfield Pet Hospital ถูกใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ body condition score (มีคะแนน 1-5 โดย 1หมายถึงผอมแห้ง 3 หมายถึงรูปร่างเหมาะสม และ 5 หมายถึงภาวะโรคอ้วน) เพศ (รวมถึงสถานะการทำหมัน) และการถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเรื้อรังบางชนิดที่สนใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ(กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หัวใจวาย ลิ้นหัวใจรั่ว) ข้ออักเสบ และภาวะไฮโปไทรอยด์ (เฉพาะในสุนัข) ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk)คำนวณโดยใช้ prevalence ratio เปรียบเทียบความน่าจะเป็นของภาวะน้ำหนักเกินระหว่างสัตว์ที่มีโรคเรื้อรังและไม่มีโรคเรื้อรัง มีช่วงความเชื่อมั่น (confidence interval) อยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ผ่านการคำนวณสำหรับโรคแต่ละชนิดโดยมีการปรับสำหรับสถานะการทำหมันหรือไม่ทำหมัน

ผลที่ได้

แมวมากกว่า 463,000 ตัวและสุนัขมากกว่า 2,281,000 ตัว เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลสัตว์ในเครือ Banfield Hospital ในปี 2013 การกระจายตัวด้านเพศและสถานะการทำหมันในประชากรแมวมีดังนี้ เพศเมีย ไม่ทำหมัน ร้อยละ 6.5 เพศผู้ ไม่ทำหมันร้อยละ 5.5 เพศเมีย ทำหมันร้อยละ 43.6 และเพศผู้ ทำหมันร้อยละ 44.4 การกระจายตัวด้านเพศและสถานะการทำหมันในประชากรสุนัขมีดังนี้ เพศเมีย ไม่ทำหมัน ร้อยละ 10.7 เพศผู้ ไม่ทำหมันร้อยละ 14.3 เพศเมีย ทำหมันร้อยละ 37.4 และเพศผู้ ทำหมันร้อยละ 37.6 ในประชากรแมวประกอบด้วยแมวเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนร้อยละ 23.1 แมวรุ่นอายุ1-3ปี ร้อยละ 20.9 แมวโตอายุ 3-10 ปีร้อยละ 37.2 และแมวชราอายุ 10 ปีขึ้นไปร้อยละ 18.8 ในประชากรสุนัขประกอบด้วยสุนัขเด็กร้อยละ 22.0 สุนัขรุ่นอายุ1-3ปี ร้อยละ 23.3 สุนัขโตอายุ 3-10 ปีร้อยละ 44.6 และสุนัขชราอายุ 10 ปีขึ้นไปร้อยละ 10.1

แมวร้อยละ 30.3 และสุนัขร้อยละ 26.3 มีการบันทึกว่ามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน(มีค่า BCS เท่ากับ 4 หรือ 5) สัตว์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่สงสัยในการศึกษานี้มักมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนโดยความชุกของโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินจะสูงในสัตว์ที่มีโรคเรื้อรังเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ไม่มีโรคเรื้อรัง (ตาราง 1) สัตว์ที่ทำหมันแล้วมีแนวโน้มจะพบทุกความผิดปกติได้มากกว่าสัตว์ที่ยังไม่ทำหมัน (P < 0.0001 สำหรับแต่ละการเปรียบเทียบในตาราง 2) มีค่า prevalence ratio ในแมวสูงกว่าในสุนัขอย่างเห็นได้ชัด ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินในสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้แก่ ข้ออักเสบ โรคหัวใจ และเบาหวาน เทียบกับไม่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในแมวมีค่าเท่ากับ 1.39 1.05 และ 1.79 ตามลำดับ ในขณที่สุนัขมีค่าเท่ากับ 1.97 1.55 และ 2.09 ตามลำดับ ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของภาวะไฮโปไทรอยด์ในสุนัขเท่ากับ 2.73 จากการที่ภาวะการทำหมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินจึงได้มีการปรับโดยเพิ่มค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเป็นโรคอ้วนร่วมกับโรคที่สนใจในประชากรสัตว์ที่ทำหมันแล้วและในประชากรสัตว์ที่ยังไม่ทำหมัน จากนั้นจึงนำค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่ได้จากประชากรสองกลุ่มมาคำนวณอีกครั้งจะได้ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่ปรับแล้ว ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก(weighted average) ของกลุ่มเสี่ยงสองกลุ่มทำให้ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ระหว่างโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินและโรคเรื้อรังแต่ละชนิดลดลง ยกเว้นในกรณีโรคหัวใจในแมว (p = 0.75) ที่มีโอกาสพบได้สูงพอกันทั้งกลุ่มที่มีภาวะน้ำหนักเกินและไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน (P < 0.0001)

 

 

 

 

โรคเรื้อรัง
ความชุก
โดยรวม
ในประชากร
แมว
ร้อยละ
ของแมว
ที่ป่วยด้วย
โรคเรื้อรัง
ร่วมกับภาวะ
น้ำหนักเกิน
ร้อยละ
ของแมว
ที่ป่วยด้วย
โรคเรื้อรัง
โดยไม่มี
ภาวะ
น้ำหนักเกิน
ความชุก
โดยรวม
ในประชากร
สุนัข
ร้อยละ
ของสุนัข
ที่ป่วยด้วย
โรคเรื้อรัง
ร่วมกับภาวะ
น้ำหนักเกิน
ร้อยละ
ของสุนัข
ที่ป่วยด้วย
โรคเรื้อรัง
โดยไม่มี
ภาวะ
น้ำหนักเกิน
โรคข้ออักเสบ
0,7 %
41,9 %
30,2 %
3,0 %
50,2 %
25,5 %
โรคหัวใจ
0,1 %
31,8 %
30,3 %
0,3 %
40,6 %
26,3 %
โรคเบาหวาน
0,9 %
54,0 %
30,0 %
0,3 %
54,7 %
26,2 %
ภาวะไฮโปไทรอยด์
---
---
---
0,6 %
71,0 %
26,0 %
ตารางที่ 1 แสดงสัดส่วนของประชากรสัตว์เลี้ยงที่มีโรคเรื้อรังร่วมกับภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

 

โรคเรื้อรัง
แมว
(n = 463,802)
ความเสี่ยงสัมพัทธ์
ของการตรวจพบ
การป่วยเรื้อรัง
แบ่งตามการทำหมัน
(ทำหมัน
หรือไม่ทำหมัน)
แมว
(n = 463,802)
ความเสี่ยงสัมพัทธ์
ระหว่างโรคอ้วน
หรือภาวะน้ำหนักเกิน
เมื่อตรวจพบ
การป่วยเรื้อรัง
โดยผ่านการ
ปรับแต่งค่า
ตามการทำหมัน
สุนัข
(n = 2.281,039)
ความเสี่ยงสัมพัทธ์
ของการตรวจพบ
การป่วยเรื้อรัง
แบ่งตามการทำหมัน
(ทำหมัน
หรือไม่ทำหมัน)

สุนัข
(n = 2.281,039)
ความเสี่ยงสัมพัทธ์
ระหว่างโรคอ้วน
หรือภาวะน้ำหนักเกิน
เมื่อตรวจพบ
การป่วยเรื้อรัง
โดยผ่านการ
ปรับแต่งค่า
ตามการทำหมัน
โรคอ้วน/น้ำหนักเกิน 5,60 (5,42 ; 5,79) ---
3,11 (3,09 ; 3,14)
---
โรคข้อเสื่อม 8,60 (6,45 ;11,47) 1,26 (1,21 ; 1,32) 4,00 (3,89 ; 4,11) 1,72 (1,70 ; 1,73)
โรคหัวใจ 3,10 (2,10 ; 4,60) 0,98 (0,87 ; 1,10) 1,72 (1,62 ; 1,83) 1,44 (1,40 ; 1,48)
โรคเบาหวาน 5,03 (4,18 ; 6,05) 1,65 (1,61 ; 1,70) 3,50 (3,22 ; 3,81) 1,84 (1,80 ; 1,88)
ภาวะไฮโปไทรอยด์
---
---
4,32 (4,05 ; 4,60)
2,38 (2,36 ; 2,41)
ตารางที่ 2 แสดงค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่มีช่วงความเชื่อมั่น (confidence interval) 95 เปอร์เซ็นต์

 

การอภิปรายผล

สัตว์เลี้ยงที่ประสบปัญหาน้ำหนักตัวมากเกินหรือโรคอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดโรคเรื้อรังบางชนิดได้ง่ายซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์และเจ้าของสัตว์ สัดส่วนสัตว์ป่วยที่เข้ารักษาที่สถานพยาบาลสัตว์ในเครือ Banfield Hospital ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเรื้อรังบางชนิดมีปริมาณน้อย ถึงแม้ว่าประชากรสัตว์ป่วยส่วนมากที่ทำการสำรวจจะมีอายุน้อยแต่ความชุกของโรคเรื้อรังที่พบไม่แตกต่างกับที่เคยทำการสำรวจ 1 2 3 7

การที่จะระบุความสัมพันธ์ระหว่างโรคเรื้อรังเหล่านี้กับโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์แบบพหุตัวแปร (multivariate analysis) ที่มีการควบคุมเพื่อลดตัวแปรกวน (confounder) รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นเช่นเพศ อายุ และสายพันธุ์ 1 2 5 6 การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์แบบตัดขวาง (cross-sectional study) จึงไม่สามารถบอกได้ว่าโรคเรื้อรังที่ทำการศึกษานั้นเกิดก่อน เกิดร่วมกัน หรือว่าเป็นผลตามมาจากภาวะโรคอ้วน อย่างไรก็ตามจากความเกี่ยวข้องที่พบได้ชัดจากสถิติทำให้การตรวจพบโรคเรื้อรังบางชนิดเป็นโอกาสที่สัตวแพทย์จะได้ให้ความรู้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการและการคุมน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่นที่มาพร้อมกับโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน

แหล่งอ้างอิง

  1. Lund EM, Armstrong PJ, Kirk CA, et al. Health status and population characteristics of dogs and cats examined at private veterinary practices in the United States. J Am Vet Med Assoc 1999;214:1336-1341.
  2. Lund EM, Armstrong PJ, Kirk CA, et al. Prevalence and risk factors for obesity in adult cats from private US veterinary practices. Intern J Appl Res Vet Med 2005;3:88-96.
  3. Freeman LM, Abood SK, Fascetti AJ, et al. Disease prevalence among dogs and cats in the United States and Australia and proportions of dogs and cats that receive therapeutic diets or dietary supplements. J Am Vet Med Assoc 2006;229:531-534.
  4. Lund EM, Armstrong PJ, Kirk CA, et al. Prevalence and risk factors for obesity in adult dogs from private US veterinary practices. Intern J Appl Res Vet Med 2006;4:177-186.
  5. Diez M, Nguyen P. Obesity: epidemiology, pathophysiology and management of the obese dog. In: Pibot P, Biourge V, Elliott D (eds). Encyclopedia of Canine Clinical Nutrition. Aimargues:Royal Canin 2006;2-57.
  6. German A, Martine L. Feline obesity: epidemiology, pathophysiology and management. In: Pibot P, Biourge V, Elliott D (eds). Encyclopedia of Feline Clinical Nutrition. Aimargues: Royal Canin 2008;3-49.
  7. Panciera DL. Hypothyroidism in dogs: 66 cases (1987-1992). J Am Vet Med Assoc 1994;204:761-767.
Emi Kate Saito

Emi Kate Saito

สัตวแพทย์หญิงไซโต สำเร็จการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เพนซิลเวเนีย ในปี 1997 เธอได้รับปริญญามหาบัณฑิต สาขาสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยอีโมรีในปี 2001 อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 05/09/2022

การคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

สาเหตุที่ปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์มีความสำคัญเป็นเพราะ...

โดย Richard Butterwick

หมายเลขหัวข้อ 24.3 เผยแพร่แล้ว 20/11/2021

ประโยชน์ของเส้นใยอาหารต่อแมว

เส้นใยอาหาร (dietary fiber) ได้รับความสนใจจากนักโภชนาการและสัตวแพทย์มานานหลายปีในฐานะส่วนประกอบของ...

โดย Allison Wara และ Craig Datz