วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 27.1 ระบบทางเดินอาหาร

คำแนะนำในการสอดสายให้อาหารผ่านทางจมูกในสุนัข

เผยแพร่แล้ว 07/02/2023

เขียนโดย Joris Robben และ Chiara Valtolina

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English

การให้อาหารสุนัขป่วยโดยใช้สายให้อาหารสอดผ่านทางจมูก (intra-nasal tube) นั้นเป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถใช้เป็นตัวช่วยในสถานการณ์ทางคลินิกได้หลากหลายและมักเป็นปัจจัยชี้ขาดในการสร้างผลลัพธ์เชิงบวก บทความนี้ Joris Robben และ Chiara Valtolina จะเน้นไปที่การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

คำแนะนำในการสอดสายให้อาหารผ่านทางจมูกในสุนัข

ประเด็นสำคัญ

สายให้อาหารผ่านทางจมูก (nasal feeding tubes) นั้นสามารถทำหัตถการสอดผ่านทางจมูกได้ง่าย เป็นการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารระยะสั้น (short-term enteral feeding) ในสุนัขที่ไม่มีความอยากอาหารหรือไม่สามารถกินอาหารเองได้


สามารถให้อาหารทางสายที่ผ่านจมูกสู่หลอดอาหาร (nasoesophageal tubes) หรือสายที่ผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหาร (nasogastric tubes) ได้ทั้งคู่ ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป


สำคัญอย่างมากที่จะต้องแน่ใจว่าสายให้อาหารนั้นอยู่ในตำแหน่งและมีช่วงเวลาการใช้งานที่เหมาะสม


แนวทางการดูแลรักษาสายให้อาหารอย่างง่ายจะช่วยลดปัญหาขณะใช้งานสายให้อาหาร


บทนำ

สายให้อาหารนั้นเป็นหัตถการที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายในทางสัตวแพทย์สัตว์เล็ก (small animal practice) และยังเหมาะสมกับสถานการณ์ทางคลินิกได้หลากหลาย สายให้อาหารนั้นสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ (1-7 วัน) โดยจะช่วยให้อาหารผ่านเข้าระบบทางเดินอาหารเพื่อให้สัตว์ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีอาหารเหลวเท่านั้นที่จะสามารถผ่านสายให้อาหารได้เพราะว่าสายนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่จำกัดตามเส้นผ่านศูนย์กลางของ ventral meatus ของสัตว์ป่วยอีกทีก็ตาม

การสอดสายให้อาหารผ่านทางจมูกนั้นรวดเร็วกว่าและปลอดภัยกว่าการสอดสายทางหลอดอาหาร (esophageal tube) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สัตว์ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมวางยาสลบหรือกรณีที่การผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกมากเกินไป (excessive bleeding) เช่น มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (coagulopathy) สายให้อาหารจะช่วยให้สัตวแพทย์ตรวจสอบได้ว่าทางเดินอาหารของสัตว์ป่วยที่มีภาวะเบื่ออาหารสามารถทนต่อการให้อาหารผ่านทางเดินอาหารหรือไม่ อีกทั้งเพื่อให้ทราบปัจจัยที่ส่งผลต่อการกินอาหารที่เหมาะสม (เช่น ปริมาณอาหาร องค์ประกอบของอาหาร และการให้อาหารแบบต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion; CRI) หรือการให้อาหารเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆ (bolus feeding) วิธีใดดีกว่ากัน

วัสดุ

มีหลายปัจจัยที่ต้องตระหนักเมื่อต้องเลือกใช้สายให้อาหารที่เหมาะสม (ตารางที่ 1) ซึ่งสัตวแพทย์ควรเลือกใช้สายให้อาหารที่มีความเหมาะสมต่อสัตว์ป่วยมากที่สุด มีอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นสำหรับการสอดสายให้อาหารโดยเป็นอุปกรณ์พื้นฐานซึ่งจะแสดงในรูปภาพที่ 1

ขนาด (size) 4-12 Fr; 6, 8 หรือ 10 Fr นิยมใช้มากที่สุดในสุนัข
ความยาว (length) 50-100 ซม. ขึ้นกับขนาดตัวของสุนัข แต่สายควรมีความยาวเพียงพอที่จะให้จุดเชื่อมต่อ (access port) สามารถยึดติดไว้กับคอสุนัขได้ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นสามารถใช้สายต่อ (extension tube) ได้
วัสดุ (material) ผนังของสายจำเป็นที่จะต้องบางเพื่อให้รูท่อมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สายก็จำเป็นที่จะต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะลดความเสี่ยงที่จะงอด้วย โดยเฉพาะในตำแหน่งที่สายต้องโค้งงอเมื่อออกจากจมูก ตัวเลือกของวัสดุจะได้แก่
  • Polyvinyl chloride (PVC): ยืดหยุ่นได้ แต่สายจะเปราะและแข็งขึ้นหากใช้ไปนานๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัมผัสกับน้ำย่อย เมื่อสายแข็งจะทำให้ถอดสายออกได้ยากและเจ็บมากขึ้น
  • Silicone: มีความยืดหยุ่นสูงโดยมีแนวโน้มที่จะงอเล็กน้อย แต่ผนังท่อจะค่อนข้างหนาเนื่องจากต้องทำให้ผนังสายให้อาหารมีความแข็งแรงส่งผลให้รูท่อมีขนาดเล็กลง เนื่องจากสายให้อาหารจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยรวมดูเล็กเพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยเหมาะในการเอาไปใช้งาน
  • Polyurethane: ทำให้รูท่อสายให้อาหารมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ก็มีแนวโน้มที่จะงอได้ง่ายขึ้นเมื่อท่อออกจากมูกหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
จุดเชื่อมต่อ (access ports) มีจุดเชื่อมต่อประเภทต่างๆดังนี้
  • Luer-Lock connection นั้นเหมาะสมสำหรับการให้อาหารแบบต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion; CRI) อย่างไรก็ตามหากใช้ในสัตว์ป่วยที่มี (central) vascular access อยู่อาจจะนำไปสู่การให้อาหารทางหลอดเลือดดำโดยไม่ได้ตั้งใจหากต่อสายให้อาหารเข้ากับ IV port แทน
  • Tapered extension connector จะช่วยให้สามารถใช้ไซริงก์ให้อาหารได้
  • Christmas tree adaptor จะช่วยเปลี่ยน tapered extension connector เป็น Luerlock connection ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการให้อาหารแบบต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ชั่วคราว (temporary continuous infusion of food)
ปลายสาย (tube tip) ถึงแม้ว่าสายให้อาหารจะมีรูเปิดด้านข้าง แต่ปลายเปิดของสาย (open-ended tube) จะมีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงในการอุดตัน ปลายเปิดของสายให้อาหารยังช่วยให้สามารถฟลัชล้างทำความสะอาดได้ง่ายในกรณีที่เกิดการอุดตันขึ้น

ตารางที่ 1 ตัวเลือกของสายให้อาหาร

 อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการสอดสายให้อาหาร: 2% lidocaine (กับ 0.5% epinephrine) lidocaine spray ไซริงก์ 2 มล. สายให้อาหาร ไซริงก์ 10-20 มล. ปากกากันน้ำ ผ้าพันแผลแบบมีกาวในตัว เทปกาว วัสดุเย็บแผล ที่จับเข็ม กรรไกร

รูปภาพที่ 1 อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการสอดสายให้อาหาร: 2% lidocaine (กับ 0.5% epinephrine) lidocaine spray ไซริงก์ 2 มล. สายให้อาหาร ไซริงก์ 10-20 มล. ปากกากันน้ำ (waterproof marker) ผ้าพันแผลแบบมีกาวในตัว (elastic self-adhesive bandage) เทปกาว วัสดุเย็บแผล (suture material) ที่จับเข็ม (needle holder) กรรไกร © Joris Robben & Chiara Valtolina

ตำแหน่งของสายยางให้อาหาร (positioning the feeding tube)

มี 2 ทางเลือกสำหรับการสอดสายให้อาหาร

• สายให้อาหารที่ผ่านจมูกสู่หลอดอาหาร (nasoesophageal tube) นั้นปลายสายจะอยู่ที่หลอดอาหารที่ระดับช่องระหว่างกระดูกซี่โครงที่ 9 (9th intercostal space) วิธีนี้มีข้อดีตรงที่สามารถลดการเกิดกรดไหลย้อน (gastric reflux) และลดโอกาสการเกิดหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (reflux esophagitis) หรือหลอดอาหารตีบ (esophageal stricture) ได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการที่จะสำลักอาหารเข้าสู่ปอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ป่วยที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้าง (lateral recumbency)

• สายให้อาหารที่ผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหาร (nasogastric tube) ปลายสายจะอยู่ที่กระเพาะอาหารที่ด้านหลังของซี่โครงซี่สุดท้าย (caudal of the last rib) วิธีนี้จะช่วยให้สัตวแพทย์ตรวจสอบได้ว่ายังมีอาหารคงเหลืออยู่ในกระเพาะอาหารก่อนจะให้อาหารมื้อถัดไปหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสำลักอาหารในสัตว์ป่วยที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้างได้ด้วย อย่างไรก็ตามสายให้อาหารที่ผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหารจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนและหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อนอันเป็นผลมาจากการรบกวนการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหารส่วนบน (cardiac sphincter function)

ข้อดีและข้อเสียของ 2 ทางเลือกที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นจากความรู้ของผู้เขียนพบว่ายังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในทางสัตวแพทย์และยังไม่มีการแนะนำวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ส่วนตัว ลักษณะของสัตว์ป่วย และโรคที่เกี่ยวข้องจะเป็นตัวกำหนดทางเลือกของตำแหน่งสายให้อาหาร

การเตรียมตัว

• จำเป็นที่จะต้องวัดและทำสัญลักษณ์บนสายให้อาหารก่อนทำการสอด โดยให้ทำสัญลักษณ์ ณ จุดที่สายให้อาหารเข้าสู่เข้าช่องอก (thoracic inlet) ด้วยปากกากันน้ำ (รูปภาพที่ 2) ถ้าใช้วิธีสอดสายให้อาหารผ่านจมูกสู่หลอดอาหาร สายควรจะยาวไปจนถึงช่องระหว่างซี่โครงที่ 9 แต่สำหรับวิธีสอดสายให้อาหารผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหารสายควรยาวไปจนถึงระดับหลังจากซี่โครงซี่สุดท้าย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนจุดที่สายออกจากจมูกเมื่อปลายสายไปถึงตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ทำสัญลักษณ์ไว้ด้วยเทปพับเป็นรูปปีกผีเสื้อเล็กๆ

กำหนดความยาวของสายให้อาหารที่จำเป็นเพื่อเข้าไปถึงทางเข้าช่องอก (a) จากนั้นใช้ปากกากันน้ำทำสัญลักษณ์ตรงจุดที่สายให้อาหารออกมาจากจมูก (b)

รูปภาพที่ 2 กำหนดความยาวของสายให้อาหารที่จำเป็นเพื่อเข้าไปถึงทางเข้าช่องอก (a) จากนั้นใช้ปากกากันน้ำทำสัญลักษณ์ตรงจุดที่สายให้อาหารออกมาจากจมูก (b) © Joris Robben & Chiara Valtolina

กำหนดความยาวของสายให้อาหารเพื่อให้ไปถึงตำแหน่งที่ต้องการ (a) แล้วทำสัญลักษณ์ตรงจุดที่สายให้อาหารออกมาจากจมูกด้วยเทปที่ทำเป็นรูปปีกผีเสื้อ (butterfly tape)

รูปภาพที่ 3 กำหนดความยาวของสายให้อาหารเพื่อให้ไปถึงตำแหน่งที่ต้องการ (a) แล้วทำสัญลักษณ์ตรงจุดที่สายให้อาหารออกมาจากจมูกด้วยเทปที่ทำเป็นรูปปีกผีเสื้อ (butterfly tape) © Joris Robben & Chiara Valtolina

  • สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือสายให้อาหารต้องมีความยาวที่เพียงพอ หากจำเป็นสามารถใช้สายต่อ (extension) ได้ แต่ส่วนด้านนอกของสายให้อาหารหรือสายต่อควรผ่านปลายจมูกไปที่คอของสุนัขได้โดยไม่ตึงมากเกินไป

  • สายให้อาหารสามารถสอดผ่านได้ในขณะที่สัตว์ยังมีสติหรืออยู่ภายใต้การวางยาซึมเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ว่ากรณีใดก็จำเป็นที่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณเยื่อโพรงจมูก (nasal mucosa) เช่นเดียวกัน โดยหยด lidocaine 1 หยดเข้าไปในรูจมูกซ้ายและขวา (ถ้าการสอดสายให้อาหารโดยใช้รูจมูกด้านใดด้านนึงนั้นทำได้ยาก สัตวแพทย์สามารถลองอีกด้านได้) รอ 2-5 นาที ก่อนจะทำให้การสอดสายให้อาหาร ทั้งนี้แนะนำให้ใช้ lidocaine ร่วมกับ epinephrine เพราะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดเฉพาะที่บริเวณโพรงจมูก

การสอดสายให้อาหาร

• สายให้อาหารควรหล่อลื่นด้วย lidocaine หรือ silicone spray ก่อนจะทำการสอดเข้าทางจมูก สุนัขอาจอยู่ในท่ายืน นั่ง หรือนอนหมอบ (sternal recumbency) โดยจับสุนัขหันหน้าตรงไปทางด้านหน้า ใช้นิ้วโป้งหรือนิ้วอื่นๆดันให้จมูกเอียงขณะค่อยๆสอดปลายสายให้อยู่ชิดกลางและล่างของรูจมูก (medially and ventrally) เพื่อให้สายให้อาหารเข้าไปถึง ventral meatus ของจมูกได้ ทั้งนี้สายให้อาหารควรค่อยๆเลื่อนเข้าไปในจมูกได้โดยไม่มีแรงต้าน (รูปภาพที่ 4)

 สายให้อาหารควรเข้าไปใน ventral meatus ของจมูกสุนัขได้โดยไม่มีแรงต้าน

รูปภาพที่ 4 สายให้อาหารควรเข้าไปใน ventral meatus ของจมูกสุนัขได้โดยไม่มีแรงต้าน © Joris Robben & Chiara Valtolina

• ค่อยๆสอดสายให้อาหารเข้าไปในคอหอย (pharynx) แล้วคอยดูสุนัขทำท่ากลืน เมื่อสุนัขเริ่มกลืนสายให้อาหารแล้ว ให้ค่อยๆสอดสายลงไปจนถึงระดับของสัญลักษณ์แรกที่ทำไว้ซึ่งแสดงว่าปลายสายนั้นอยู่ที่ทางเข้าของช่องอก (thoracic inlet) (รูปภาพที่ 5) สัตวแพทย์ต้องสังเกตอาการไอ (coughing) หรืออาการสำลัก (gagging) เพราะอาจจะทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลมโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

 สอดสายให้อาหารเข้าไปในหลอดอาหารในขณะที่สุนัขกลืน สอดสายลงไปเรื่อยๆจนถึงตำแหน่งที่ทำสัญลักษณ์แรกไว้ บ่งชี้ว่าปลายสายให้อาหารอยู่ที่ทางเข้าช่องอกเรียบร้อย (thoracic inlet)

รูปภาพที่ 5 สอดสายให้อาหารเข้าไปในหลอดอาหารในขณะที่สุนัขกลืน สอดสายลงไปเรื่อยๆจนถึงตำแหน่งที่ทำสัญลักษณ์แรกไว้ บ่งชี้ว่าปลายสายให้อาหารอยู่ที่ทางเข้าช่องอกเรียบร้อย (thoracic inlet) © Joris Robben & Chiara

• หากมีการใช้ลวดตัวนำ (guidewire) เพื่อทำให้สายให้อาหารมีความแข็งตัว ควรค่อยๆถอนลวดตัวนำออกเมื่อถึงตำแหน่งนี้ (รูปภาพที่ 6) จากนั้นใช้ไซริงก์ 10-20 มล. ตรวจสอบตำแหน่งของสายให้อาหารว่าอยู่ในหลอดอาหารถูกต้องแล้ว (รูปภาพที่ 7a) (รูปภาพที่ 7b) โดยเริ่มจากการใช้ไซริงก์ดูดกลับจะพบว่าเป็นภาวะสุญญากาศ จากนั้นให้ดันอากาศเข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าสายให้อาหารนั้นเปิดโล่งและไม่ได้งอเข้าไปในหลอดลม (ดูต่อด้านล่าง)

ถ้ามีการใช้ลวดตัวนำ (guidewire) เพื่อให้สายให้อาหารมีความแข็งตัว ควรจะถอนลวดตัวนำออกเมื่อถึงตำแหน่งนี้

รูปภาพที่ 6 ถ้ามีการใช้ลวดตัวนำ (guidewire) เพื่อให้สายให้อาหารมีความแข็งตัว ควรจะถอนลวดตัวนำออกเมื่อถึงตำแหน่งนี้ © Joris Robben & Chiara

ใช้ไซริงก์ตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องของสายให้อาหาร โดยเมื่อใช้ไซริงก์ดูดกลับจะพบว่าเป็นสุญญากาศ

รูปภาพที่ 7a ใช้ไซริงก์ตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องของสายให้อาหาร โดยเมื่อใช้ไซริงก์ดูดกลับจะพบว่าเป็นสุญญากาศ © Joris Robben & Chiara

 ดันอากาศเข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าสายให้อาหารนั้นเปิดโล่งและไม่มีการงอเข้าไปในหลอดลมโดยไม่ได้ตั้งใจ

รูปภาพที่ 7b ดันอากาศเข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าสายให้อาหารนั้นเปิดโล่งและไม่มีการงอเข้าไปในหลอดลมโดยไม่ได้ตั้งใจ © Joris Robben & Chiara

• ถ้าตำแหน่งของสายให้อาหารถูกต้องแล้วก็สามารถสอดสายให้อาหารเข้าไปต่อจนถึงตำแหน่งที่ต้องการซึ่งก็คือเมื่อเทปที่ทำเป็นรูปผีเสื้อ (butterfly tape) ถึงรูจมูก

การยึดตำแหน่งของสายให้อาหาร

• สายให้อาหารสามารถเย็บติดกับผิวหนังบริเวณจมูกได้ (skin of the muzzle) โดยต้องเย็บให้ใกล้กับด้านใดด้านหนึ่งของบริเวณผิวเรียบปลายจมูกส่วนที่ไม่มีขน (nasal philtrum) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (รูปภาพที่ 8) โดยสายให้อาหารสามารถสอดผ่าน lateral groove ใต้รูจมูกได้ ที่สำคัญคือต้องไม่งอสายให้อาหารมากเกินไป ให้เหลือพื้นที่ไว้บ้างเพื่อป้องกันการงอ

 ควรเย็บเทปให้ชิดกับด้านใดด้านหนึ่งของบริเวณผิวเรียบปลายจมูกส่วนที่ไม่มีขน (nasal philtrum) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้ lateral groove เป็นแนวทาง

รูปภาพที่ 8 ควรเย็บเทปให้ชิดกับด้านใดด้านหนึ่งของบริเวณผิวเรียบปลายจมูกส่วนที่ไม่มีขน (nasal philtrum) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้ lateral groove เป็นแนวทาง © Joris Robben & Chiara

• การยึดตำแหน่งโดยใช้กาวติดเนื้อเยื่อ (tissue adhesive) นั้นโดยปกติแล้วจะไม่แนะนำ เพราะถึงแม้ว่ากาวติดเนื้อเยื่อนั้นจะใช้ได้ง่ายและสามารถยึดสายให้อาหารได้อย่างแข็งแรง แต่กาวนั้นมีแนวโน้มที่จะกรอบ เปราะจนแตกได้ง่าย และอาจทำให้สายให้อาหารหลุดได้หลังจากยึดตำแหน่งได้เพียงไม่นาน

• จากนั้นจึงวางสายให้อาหารไว้ทางด้านบนของจมูก (over the top of the nose) และระหว่างตาบนหน้าผาก (between eye onto the forehead) ซึ่งสามารถใช้ไหมเย็บตรึงเพื่อยึดสายไว้ได้ อีกวิธีหนึ่งคือสามารถวางสายให้อาหารไว้ที่ด้านข้านของใบหน้า (เหนือหนวด (whiskers) และใต้โหนกแก้ม (zygomatic arch)) แล้วค่อยเย็บตรึงให้เข้าที่

• สุดท้ายคือสามารถติดเทปทับสายให้อาหารบนผ้าพันแผลที่พันรอบคอไว้หลวมๆได้ (รูปภาพที่ 9)

สามารถวางสายให้อาหารไปตามด้านข้างของใบหน้า โดยมีจุดยึดตรึงสายให้เข้าที่คือบริเวณแก้ม จากนั้นใช้เทปพันทับสายกับผ้าพันแผลที่พันรอบคอไว้หลวมๆ

รูปภาพที่ 9 สามารถวางสายให้อาหารไปตามด้านข้างของใบหน้า โดยมีจุดยึดตรึงสายให้เข้าที่คือบริเวณแก้ม จากนั้นใช้เทปพันทับสายกับผ้าพันแผลที่พันรอบคอไว้หลวมๆ © Joris Robben & Chiara

• การใส่ลำโพงกันเลีย (Elizabethan collar) นั้นมีความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยถอดสายให้อาหารออก แต่การใส่ลำโพงกันเลียก็อาจส่งผลเสียต่อการกินอาหารด้วยตัวสัตว์เอง ทั้งนี้ควรถอดลำโพงกันเลียออกเป็นประจำเพื่อตรวจสอบดูว่าสัตว์ป่วยนั้นต้องการกินอาหารเองหรือไม่

การวางตำแหน่งสายให้อาหารที่ถูกต้อง (correct tube positioning)

สัตวแพทย์ควรตรวจสอบตำแหน่งของสายให้อาหารทั้งระหว่างทำการสอดสายให้อาหารและทุกครั้งก่อนให้อาหารผ่านทางสาย วิธีการตามที่อธิบายไว้ในข้างต้น 1 จะช่วยส่งผลให้วางตำแหน่งสายให้อาหารได้ถูกต้อง แต่ก็ยังมีเคล็ดลับในการวางตำแหน่งสายให้อาหารอีก 2 ข้อ คือ

• หากสุนัขมีการกลืนเมื่อปลายสายอยู่ในช่องจมูกร่วมคอหอย (nasopharynx)/คอหอยร่วมปาก (oropharynx) จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าสายให้อาหารเข้าสู่หลอดอาหาร

• ตรวจสอบที่ด้านซ้ายของคอด้วยสายตาและด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องในขณะที่เคลื่อนสายให้อาหารลงไปที่หลอดอาหาร

เมื่อสอดสายให้อาหารเข้าที่แล้ว ควรตรวจสอบตำแหน่งก่อนให้อาหารในแต่ละครั้งอย่างรอบคอบ โดยสามารถทำได้หลายวิธี

• ตรวจสอบโดยใช้ไซริงก์ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น อย่างไรก็ตามต้องตระหนักไว้ว่าภาวะหายใจผิดปกติ (dyspnea) หรือภาวะคลื่นไส้ (nausea) สามารถทำให้สัตว์ป่วยกลืนอากาศเข้าไปได้เช่นกัน โดยจะแสดงผลคือการที่สัตว์สำลักอากาศที่อยู่ด้านในไซริงก์แล้วทำให้สัตวแพทย์เข้าใจผิดคิดว่าสายให้อาหารเข้าไปในหลอดลม อย่างไรก็ตามถ้ามีภาวะกลืนอากาศ (aerophagia) เกิดขึ้น ปริมาณอากาศที่ดูดกลับมาได้ควรต้องมีอย่างจำกัด นอกจากนี้หากอากาศสามารถดันผ่านเข้าสายให้อาหารได้อย่างง่ายดายด้วยไซริงก์จะเป็นการช่วยยืนยันว่าสายให้อาหารไม่ได้งอ

• ฟลัชล้างสายให้อาหารด้วยสารละลายอิเล็กโทรไลต์แบบสมดุล (isotonic electrolyte solution) 2-20 มล. (ขึ้นกับขนาดตัวของสุนัข) ในกรณีที่สายให้อาหารเข้าไปในทางเดินหายใจ สุนัขควรจะมีอาการไอ (แต่ต้องจำไว้ว่าสัตว์ที่ป่วยมากๆที่มีความรู้สึกตัวน้อย (reduced consciousness) หรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ยาสลบอาจไม่แสดงอาการไอก็ได้)

• การใช้สายให้อาหารที่ผ่านจมูกเข้าสู่หลอดอาหาร (nasogastric tube) นั้นสามารถเอาอากาศเข้าไปได้ 5-15 มล. สัตวแพทย์อาจจะได้ยินเสียงท้องร้องโครกคราก (borborygmi) เมื่อฟัง (ausculatiating) บริเวณ cranial abdomen

• เว้นแต่จะสามารถมองเห็น/สัมผัสสายให้อาหารได้ภายในหลอดอาหารส่วนต้น (cervical esophagus) ไม่มีเทคนิคใดใดในข้างต้นที่จะไม่มีความผิดพลาด ดังนั้นในกรณีสงสัยสามารถดูภาพถ่ายรังสีบริเวณช่องอกท่านอนตะแคงเพื่อเป็นการยืนยันได้ (lateral thoracic radiography) (รูปภาพที่ 10)

วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบตำแหน่งของสายให้อาหาร (feeding tube) คือการถ่ายภาพถ่ายรังสีบริเวณช่องอกท่านอนตะแคง (lateral thoracic radiograph) ภาพถ่ายรังสีนี้แสดงให้เห็นว่าสายให้อาหารทางจมูกนั้นพันกันเป็นห่วงอยู่ที่บริเวณหลอดลมโดยไม่ได้ตั้งใจ

รูปภาพที่ 10 วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบตำแหน่งของสายให้อาหาร (feeding tube) คือการถ่ายภาพถ่ายรังสีบริเวณช่องอกท่านอนตะแคง (lateral thoracic radiograph) ภาพถ่ายรังสีนี้แสดงให้เห็นว่าสายให้อาหารทางจมูกนั้นพันกันเป็นห่วงอยู่ที่บริเวณหลอดลมโดยไม่ได้ตั้งใจ © Allison Zwingenberger, UCDavis USA

ข้อห้ามใช้และภาวะแทรกซ้อน (contraindications and complications)

มีหลายสถานการณ์ที่ห้ามใช้สายให้อาหารหรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ได้แก่สัตว์ป่วยที่มีอาการอาเจียน (vomit) มีภาวะหายใจลำบาก (dyspnea) หรือในกรณีที่มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร (aspiration of gastric content) (เช่น กรณีที่ไม่มีปฏิกิริยาการกลืน กรณีที่สัตว์ป่วยมีความรู้สึกตัวลดลง หรืออยู่ในท่านอนตะแคง) นอกจากนี้สายให้อาหารอาจไม่เหมาะสมกับสัตว์ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ (head injury) รวมไปถึงการบาดเจ็บที่จมูก (nose)/โพรงจมูก (nasal cavity) หรือคอหอย (pharynx) หรือกรณีที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด (coagulopathy) เพราะขณะสอดสายให้อาหารอาจทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ (epitaxis)

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้จากสายให้อาหาร ได้แก่

• เลือดกำเดาไหล (epitaxis)

• จมูกอักเสบ/ไซนัสอักเสบ (rhinitis/sinusitis)

• ถุงน้ำตาอักเสบ (dacryocystitis)

• โรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย (aspiration pneumonia) (กรณีสายให้อาหารบังเอิญเข้าไปในทางเดินหายใจหรือเกิดอาหารไหลย้อน (food reflux))

• การที่สายให้อาหารงอ (ปกติมักพบการงอบริเวณสายให้อาหารที่ออกจากจมูก ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำสายให้อาหารและตำแหน่งของสายให้อาหาร)

• การอุดตันที่สายให้อาหาร (พบได้บ่อยในสายให้อาหารที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่เล็กและ/หรือมีรูด้านข้าง (side holes) มากกว่าปลายเปิด (open ended) การดูแลรักษาที่ไม่เพียงพอสามารถทำให้เกิดการอุดตันในสายได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องฟลัชล้างสายให้อาหารเป็นประจำ (อ่านต่อด้านล่าง) โดยสายที่อุดตันไปแล้วให้ทำความสะอาดโดยการใส่น้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มอัดลม (carbonated beverage) หรือสารละลายเอนไซม์ตับอ่อน (pancreatic enzyme solutions) เข้าไปในสาย

• หลอดอาหารเกิดการระคายเคือง (esophageal irritation) หรือหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (gastric reflux esophagitis)

• สายให้อาหารเคลื่อนออกจากการอาเจียนหรือจาม

สายให้อาหารอาจออกมาได้ด้วยตัวสัตว์ป่วยเอง ซึ่งอาจจะเป็นอุบัติเหตุหรือความตั้งใจก็ได้ การตั้งใจเอาออกอาจเกิดขึ้นเมื่อสัตว์ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว เช่น การระคายเคืองจากไหมเย็บตรึงสายให้อาหาร ความเจ็บปวดจากจมูกอักเสบหรือถ้าสายให้อาหารไปรบกวนการมองเห็นของสัตว์ป่วยหรือหนวดบริเวณใบหน้า(มักพบในแมว)

หากยังหาสาเหตุไม่ได้หรือแก้ปัญหาไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องให้สัตว์ป่วยใส่ลำโพงกันเลีย (รูปภาพที่ 11) หรือหาวิธีอื่นๆในการช่วยให้อาหาร (เช่น ใช้สายให้อาหารผ่านเข้าหลอดอาหาร (esophageal feeding tube))

สัตว์ป่วยต้องได้รับการตรวจสอบเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าสายให้อาหารยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อาจจำเป็นต้องใส่ลำโพงกันเลียให้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยถอดสายให้อาหารโดยไม่ได้ตั้งใจ

รูปภาพที่ 11 สัตว์ป่วยต้องได้รับการตรวจสอบเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าสายให้อาหารยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อาจจำเป็นต้องใส่ลำโพงกันเลียให้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยถอดสายให้อาหารโดยไม่ได้ตั้งใจ © Joris Robben & Chiara Valtolina

การให้อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่หรือให้อาหารเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆ (continuous or intermittent feeding)

จากการศึกษาย้อนหลัง (retrospective study) ทั้งในสุนัขและแมวป่วยที่ได้รับอาหารผ่านทางสายให้อาหารที่ผ่านจมูกสู่ทางเดินอาหาร (naso-enteral tube) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal complications) (อาเจียน (vomit) ขย้อน (regurgitation) และท้องเสีย (diarrhea)) เมื่อเปรียบเทียบการให้อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion (CRI)) กับการให้อาหารเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆ (bolus feeding) 2 อย่างไรก็ตามในแต่ละกรณีควรได้รับการปฏิบัติโดยขึ้นกับความเหมาะสมของกรณีนั้นๆและสัตวแพทย์ควรตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น มีการรายงานว่าแมวที่มีปัญหาไขมันสะสมในตับมากเกินไป (feline hepatic lipidosis) อาจส่งผลให้ปริมาตรของกระเพาะอาหารลดลง (reduced stomach volume) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการอาเจียน (emesis) คลื่นไส้ (nausea) และรู้สึกไม่สบายตัว หากได้รับอาหารเป็นมื้อแต่ทีละมากๆ (bolus feeding) 3

การให้อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion) นั้นจะแนะนำในสัตว์ป่วยที่อ่อนแอและมีภาวะเบื่ออาหาร (anorexia) เป็นเวลานาน เพราะสัตว์ป่วยเหล่านี้จะมีความสามารถในการย่อยอาหารในทางเดินอาหารได้อย่างจำกัด (limited gastrointestinal capacity) ในสถานการณ์เช่นนี้ การให้อาหารทางสายอย่างต่อเนื่องช้าๆมักให้ร่วมกับยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetic drugs) (เช่น metoclopramide หรือ cisapride) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้การพยาบาลดูแลน้อยลงและมีโอกาสที่จะเกิดอาการท้องอืด (gastric distension) และไม่สบายตัวในระหว่างให้อาหารได้น้อย อย่างไรก็ตามการให้อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่นั้นไม่เหมือนกับการบริโภคอาหารตามปกติและสัตวแพทย์อาจไม่สามารถสังเกตเห็นการสะสมของอาหารในกระเพาะอาหารได้ซึ่งจะนำไปสู่การขย้อน (regurgitation) หรืออาเจียน (vomit) โดยอาหารเหลวควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (ห้ามแช่แข็ง) และต้องแน่ใจว่าอาหารไม่ตกตะกอนในไซริงก์หรือถุงอาหาร ซึ่งปัญหาหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการผสมอาหารให้เข้ากันเป็นประจำ

การให้อาหารเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆ (intermittent (bolus) feeding) นั้นสามารถใช้ได้ในสัตว์ป่วยที่ร่างกายไม่ค่อยอ่อนแอ เช่น กรณีที่สัตว์ป่วยกลับบ้านพร้อมคาสายให้อาหารไว้เพื่อให้เจ้าของกลับไปให้อาหารต่อเองที่บ้าน เป็นต้น วิธีนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการกินอาหารปกติในทางสรีรวิทยามากกว่าและช่วยให้สัตวแพทย์ติดตามกระบวนการให้อาหารได้ อีกทั้งยังช่วยให้สัตวแพทย์แน่ใจว่ากระเพาะอาหารจะไม่แน่นจนเกินไป อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะต้องใช้การพยาบาลดูแลมากกว่าวิธีแรกและอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวและคลื่นไส้ได้ โดยจำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบให้แน่ใจอยู่เสมอว่าอาหารอุ่นและต้องให้อาหารช้าๆ (<3 มล./กก./นาที) การยืดขยายของกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วในสัตว์ป่วยที่มีภาวะเบื่ออาหารอาจจะทำให้สัตว์รู้สึกคลื่นไส้ ไม่สบายตัวและอาเจียนได้ สัตวแพทย์สามารถเลือกใช้เครื่อง syringe pump เพื่อให้อาหารทีละน้อยด้วยความดันที่ตั้งค่าไว้ได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีที่ป้อนอาหารด้วยวิธีปกติต้องระวังไม่ให้ใช้แรงมากเกินไปเพราะอาจทำให้ปลายสายสั่นและกระตุ้นให้เกิดการอาเจียน ทั้งนี้มักจะเกิดขึ้นกับสายให้อาหารที่ผ่านจมูกสู่หลอดอาหาร (nasoesophageal tube) มากกว่า หลังจากป้อนอาหารแล้วควรฟลัชล้างสายให้อาหารอีกครั้งและปิดปลายสายเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารหรือน้ำเล็ดออกมา

การดูแลรักษาสายให้อาหาร (tube maintenance)

ควรตรวจสอบสายให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 2-4 ชั่วโมงสำหรับการให้อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วคงที่และก่อนการให้อาหารเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆทุกครั้ง รวมไปถึง

• การตรวจสอบด้วยสายตาให้แน่ใจว่าสายให้อาหารอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและมีไหมเย็บตรึงอยู่แน่น ถ้าสายให้อาหารหายไปให้รีบตรวจสอบว่าสุนัขอาเจียนสายให้อาหารออกมาหรือกัดส่วนภายนอกสายให้อาหารขาดหรือไม่

• ใช้ไซริงก์ดูดกลับจากสายให้อาหารเพื่อตรวจสอบว่าสามารถดึงเอาอาหารออกมาได้หรือไม่ ถ้าได้อาหารออกมาปริมาณมากจากสายให้อาหารผ่านจมูกสู่กระเพาะอาหาร (nasogastric tube) อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเนื่องจากการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารลดลง (decreased gastrointestinal motility) และกระเพาะอาหารใช้เวลานานในการบีบไล่อาหารลงสู่ลำไส้เล็ก (prolonged stomach emptying) ควรล้างทำความสะอาดสายให้อาหารแบบต่อเนื่องด้วยอัตราเร็วคงที่ (CRI tube) เป็นประจำอย่างน้อยทุก 4-6 ชั่วโมง หรือถี่กว่านี้หากมีความจำเป็น โดยใช้น้ำอุ่น 5-10 มล. (ขึ้นกับขนาดสายให้อาหาร) ขณะเดียวกันให้สังเกตอาการของสุนัขว่ารู้สึกไม่สบายตัวหรือไม่ (เช่น น้ำลายไหล (salivation) ไอ (coughing) สำลัก (gagging) หรืออาเจียน (vomiting)) ซึ่งสามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ทำทุกครั้งก่อนจะให้อาหารทางสายให้อาหารแบบแบ่งเป็นมื้อในระยะเวลาสั้นๆ (bolus feeding)


พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 เม.ย. - 15  มิ.ย. 2023

ทำเเบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Herring JM. A novel placement technique for nasogastric and nasoesophageal tubes. J Vet Emerg Crit Care 2016;26(4):593-597.
  2. Campbell JA, Jutkowitz LA, Santoro KA, et al. Continuous versus intermittent delivery of nutrition via nasoenteric feeding tubes in hospitalized canine and feline patients: 91 patients (2002-2007). J Vet Emerg Crit Care 2010;20(2):232-236.
  3. Armstrong PJ, Blanchard G. Hepatic lipidosis in cats. Vet Clin North Am Small Anim Pract 2009;39(3):599-616.

Further Reading

  1. Campbell S, Harvey N. Assisted enteral feeding. In: Advanced monitoring and procedures for small animal emergency and critical care. Burkitt Creedon JM, Davis H, eds. Ames: Wiley-Blackwell 2012:496-512.

  2. Eirmann L, Michel KE. Enteral nutrition. In: Small animal critical care medicine, 2nd ed. Silverstein DC, Hopper K, eds. St. Louis: Elsevier Saunders 2015:681-686.

  3. Dörfelt R. A quick guide to feeding hospitalized cats. Vet Focus 2016;26(2): 46-48.

Joris Robben

Joris Robben

Dr Robben จบการศึกษาจาก Utrecht University ในปี 1988 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วย เนื้องอกของตับอ่อนส่วนที่สร้างอินซูลินในสุนัขในปี 2004 อ่านเพิ่มเติม

Chiara Valtolina

Chiara Valtolina

จบการศึกษาในปี 2000 จากคณะสัตวแพทย์ในกรุงมิลาน และยังคงทำงานเป็นหนึ่งในทีมของหน่วยศัลยศาสตร์เป็นเวลาหลายปีก่อนจะทำงานเป็นสัตวแพทย์ประจำบ้านในหน่วยฉุกเฉินและสัตว์ป่วยวิกฤตใน Royal Veterinary College อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 27.1 เผยแพร่แล้ว 31/03/2021

ภาวะ protein losing enteropathies      ในสุนัข

มีความผิดปกติหลากหลายรูปแบบที่เป็นสาเหตุให้สุนัขสูญเสียโปรตีนผ่านระบบทางเดินอาหาร...

โดย Rance Sellon

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 27.1 เผยแพร่แล้ว 31/03/2021

ภาวะ protein losing enteropathies      ในสุนัข

มีความผิดปกติหลากหลายรูปแบบที่เป็นสาเหตุให้สุนัขสูญเสียโปรตีนผ่านระบบทางเดินอาหาร...

โดย Rance Sellon