ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงที่เกี่ยวข้องกับพยาธิวิทยา
บทความนี้จะพิจารณาถึงการวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnoses) และตัวเลือกในการจัดการการรักษาเมื่อพบว่าสุนัขมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง
แม้ว่าจะเริ่มมีการกำหนดระยะของชีวิตของแมวอย่างชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังขาดแนวทางการให้สารอาหารจำเพาะสำหรับแมวสูงวัย
แมวสูงวัยมักจะมีความสามารถด้านการย่อยอาหารลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคะแนนสภาพร่างกายและกล้ามเนื้อได้
การวิจัยล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารและอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัส
อาหารเสริมที่จะช่วยแก้ภาวะการทำงานของสมองเสื่อมถอยลงในแมวสูงอายุนั้นจำเป็นต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติม
ไม่นานมานี้ได้เริ่มมีการกำหนดช่วงชีวิต (life stages) ของแมวอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าระยะของช่วงชีวิตเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปเล็กน้อยตามแต่ละองค์กรก็ตาม (ตารางที่ 1) จากแนวทางปฏิบัติของ American Animal Hospital Association (AAHA) และ American Association of Feline Practitioners (AAFP) ปี 2021 พบว่าช่วงชีวิตของแมวนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ลูกแมว (ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 1 ปี) วัยหนุ่มสาว (young adult) (1-6 ปี) ช่วงโตเต็มวัย (mature adult) (7-10 ปี) และช่วงสูงวัย (senior) (>10 ปี) โดยมีช่วง “วาระสุดท้ายของชีวิต” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ 1 ทั้งนี้ International Society of Feline Medicine (ISFM) ยังได้กำหนดระยะของช่วงชีวิตที่แตกต่างกันเล็กน้อย ได้แก่ ลูกแมว (ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 เดือน) วัยเด็ก (junior) (7 เดือน-2 ปี) วัยผู้ใหญ่ (adult) (3-6 ปี) ช่วงโตเต็มวัย (mature) (7-10 ปี) ช่วงสูงวัย (senior) (11-14 ปี) และช่วงสูงวัยระดับสุดยอด (super senior) (15 ปีขึ้นไป) 2 โดยนอกเหนือจากความแตกต่างเล็กน้อยเหล่านี้แล้ว ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่แตกต่างกันในสัตว์เลี้ยงของพวกเรานั้นยังหมายความว่าในขณะนี้ได้มีความสนใจในการเข้าใจถึงความแตกต่างทางโภชนาการระหว่างช่วงชีวิตเหล่านี้รวมถึงช่วงสูงวัยมากขึ้นเช่นกัน และในขณะเดียวกันองค์กรต่างๆ เช่น American Association of Feed Control Officials (AAFCO) และ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF) ก็ได้มีคำแนะนำทางโภชนาการและแนวทางปฏิบัติในช่วงเจริญเติบโต (ซึ่ง FEDIAF ได้แบ่งเพิ่มเติมเป็นการเจริญเติบโตระยะต้นและระยะปลาย (early and late-stage growth phases) ช่วงผสมพันธุ์ และช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงอายุ สิ่งนี้จึงได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความท้าทาย เนื่องจากการทำความเข้าใจวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงเมื่ออายุมากขึ้นนั้นถือเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้นตามอายุของกลุ่มประชากร โดยร้อยละ 20-40 ของแมวในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกจัดอยู่ใน “ช่วงสูงวัย” และ “ช่วงสูงวัยระดับสุดยอด” 3 (รูปภาพที่ 1)
ตารางที่ 1 คำอธิบายของระยะของชีวิตที่องค์กรสัตวแพทย์ด้านสุขภาพแมวที่มีชื่อเสียงได้อธิบายไว้
ระยะของชีวิต | AAHA & AAFP | ISFM |
---|---|---|
ลูกแมว (kitten) | ตั้งแต่เกิดจนถึงน้อยกว่า 1 ปี | ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 เดือน |
วัยเด็ก (junior) | – | 7 เดือน-2 ปี |
วัยหนุ่มสาว (young adult) | 1-6 ปี | – |
วัยผู้ใหญ่ (adult) | – | 3-6 ปี |
ช่วงโตเต็มวัย (mature adult) | 7-10 ปี | 7-10 ปี |
ช่วงสูงวัย (senior) | > 10 ปี | 11-14 ปี |
ช่วงสูงวัยระดับสุดยอด (super senior) | – | 15 ปีขึ้นไป |
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับแมวสูงอายุอยู่บ้าง แต่ก็ยังขาดการศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะ (specific nutrients) ทั้งในด้านของสารอาหารจำเป็น (essential nutrients) และสารอาหารอื่นๆที่อาจเป็นประโยชน์นอกเหนือจากความต้องการสำคัญ (key requirement) เหล่านี้ บทความนี้จะนำเสนอโภชนาการจากสารอาหาร (nutrition-by-nutrient) และอภิปรายสิ่งที่ผู้เขียนทราบรวมถึงสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อจากหลักฐานที่มีในปัจจุบันเพื่อเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับเหล่าแมวสูงอายุ
เมื่อพูดถึงความสามารถในการย่อยได้ (digestibility) พวกเราล้วนทราบกันมานานแล้วว่าแมวช่วงโตเต็มวัยและช่วงสูงอายุนั้นจะมีความสามารถในการย่อยอาหารได้ลดลง โดยพบว่ามีแมวมากกว่าร้อยละ 33 ที่มีความสามารถการในย่อยไขมันลดลงและประมาณร้อยละ 20 จะมีความสามารถในการย่อยโปรตีนลดลง 4 นอกจากนี้จากข้อมูลล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักที่ลดลงในแมวสูงอายุทั้งในแมวที่มี “สุขภาพดี” และ “สุขภาพไม่ดี” นั้นก็อาจมีสาเหตุมาจากความสามารถในการย่อยสารอาหารที่ลดลงเช่นกัน ซึ่งถือป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นว่าแมวสูงอายุนั้นจะสูญเสียมวลของร่างกายในส่วนที่ไม่มีไขมัน (loss of lean body mass) และมีคะแนนสภาพกล้ามเนื้อลดลง (drop in muscle condition score) โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความสามารถในการย่อยโปรตีนที่ลดลงส่งผลให้สมดุลไนโตรเจนเป็นลบ (negative nitrogen balance) 5 ทั้งนี้ยังมีคำถามเกิดขึ้นว่าปริมาณโปรตีนที่แนะนำสำหรับแมวในปัจจุบันเพื่อรักษาสมดุลไนโตรเจนนั้นมีความเพียงพอที่จะรักษามวลของร่างกายในส่วนที่ไม่มีไขมันหรือไม่ และเราควรพิจารณาความต้องการโปรตีนที่สูงขึ้นกว่านี้หรือไม่ 6
ยังมีสาเหตุอื่นๆนอกเหนือจากความสามารถในการย่อยได้ของอาหารที่ลดลงที่อาจส่งผลให้สัตว์สูงอายุมีน้ำหนักตัวลดลงและสูญเสียมวลของร่างกายในส่วนที่ไม่มีไขมัน (loss of lean body mass) ได้ โดยในคนสูงอายุนั้นประสาทสัมผัสรับกลิ่นและรสชาติจะลดลง ซึ่งในสัตว์อื่นๆก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน 7 เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่จะช่วยในเรื่องนี้จึงได้แก่ การจัดหาอาหารที่มีกลิ่นและรสชาติที่หลากหลาย รวมถึงการให้อาหารที่มีอุณหภูมิเหมาะสมที่สุดคือประมาณ 37 องศาเซลเซียสหรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ 8 (รูปภาพที่ 2) ทั้งนี้โรคภัยต่างๆก็สามารถทำให้ความอยากอาหาร (appetite) และความสนใจในอาหารลดลงเนื่องจากความเจ็บปวด (เช่น โรคทางทันตกรรม) ความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม (metabolic derangement) (เช่น อาการคั่งของของเสียในร่างกาย (uremic toxins) ในโรคไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease (CKD) หรือการผลิตไซโตไคน์ที่เพิ่มขึ้น (increased cytokine production) ในโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (inflammatory diseases)) และ/หรือการใช้ยาบางชนิด (เช่นยาเคมีบำบัด (chemotherapeutic agents) ที่อาจส่งผลโดยตรงต่อรสชาติอาหาร) รวมไปถึงโรคอื่นๆที่สามารถเกิดได้ในแมวสูงอายุและยังส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักตัวและการสูญเสียกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) โรคกระเพาะและลำไส้เรื้อรัง (chronic enteropathy) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) และโรคเบาหวาน (diabetes mellitus) สุดท้ายนี้ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) หรือการสูญเสียมวลของร่างกายในส่วนที่ไม่มีไขมันที่เกี่ยวกับข้องกับความชราและไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคนั้นได้ถูกอธิบายไว้แล้วในทั้งสุนัขและแมว 9
ดังนั้นแมวสูงอายุหรือแม้แต่แมวที่มีสุขภาพดีอาจต้องการปริมาณแคลอรี่ (caloric intake) ที่สูงขึ้นเพื่อรักษาน้ำหนัก และบ่อยครั้งที่อาหารที่สามารถย่อยได้ดีกว่าอาจส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารดีขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตนั้นได้จัดทำแนวทางในการให้อาหาร (feeding guidelines) เพื่อประมาณความต้องการโดยเฉลี่ยแต่ทั้งนี้ในสัตว์แต่ละตัวก็อาจมีความแตกต่างกันได้ถึง +/-ร้อยละ 50 จากค่าเฉลี่ย 10 สัตวแพทย์ควรทำการปรับเปลี่ยนอาหารเป็นประจำสำหรับแมวทุกตัวที่อยู่ในช่วงสูงวัยหรือช่วงสูงวัยระดับสุดยอดโดยการประเมินน้ำหนักตัว คะแนนความสมบูรณ์ร่างกาย (body condition score) และคะแนนสภาพกล้ามเนื้อ (muscle condition score) ตลอดจนปริมาณแคลอรี่ที่เหมาะสมและอาหารที่เป็นไปได้ (รูปภาพที่ 3)
ภาวะขาดน้ำ (dehydration) สามารถพบได้ในสัตว์สูงวัยเนื่องจากมีความกระหายน้ำ (thirst drive) ลดลง ความสามารถในการเคลื่อนไหว (mobility) ลดลง และ/หรือเป็นผลมาจากขบวนการโรค (disease process) 11,แต่ทั้งนี้การประเมินภาวะขาดน้ำ (hydration status ) ของสัตว์ป่วยก็อาจเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากอาการแสดงทางคลินิกของภาวะขาดน้ำนั้นมักจะไม่สอดคล้องกันแม้จะมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม 12 เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้แมวสูงวัยดื่มน้ำมากขึ้นแม้ว่าแมวจะไม่ได้อยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างชัดเจน (รูปภาพที่ 4) การดูแลให้น้ำดื่มของแมวสะอาดนั้นถือเป็นหลักสำคัญของกลยุทธ์นี้ แต่การเพิ่มความชุ่มชื้นของอาหารโดยการให้อาหารเปียกก็ยังช่วยเพิ่มการบริโภคน้ำได้เช่นเดียวกัน โรคทางทันตกรรมเป็นเรื่องที่พบได้ปกติในแมว มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่าแมวสูงวัยมากกว่าร้อยละ 50 จะเป็นโรคทางทันตกรรม 13 ดังนั้นหากมีหลักฐานว่าแมวรู้สึกไม่สบายช่องปากหรือมีความสามารถในการเคี้ยวอาหารลดลง การให้อาหารเปียกก็อาจเป็นประโยชน์ (ควบคู่ไปกับการรักษาหรือแก้ปัญหาอื่นๆตามความเหมาะสม) (รูปภาพที่ 5) ส่วนปัญหาอื่นๆที่ความชุ่มชื้นในอาหารมีความสำคัญต่อการจัดการก็ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังและโรคนิ่วทุกรูปแบบ (urolithiasis) อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เสมอคือการเพิ่มความชุ่มชื้นในอาหารยังช่วยลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์จะต้องแน่ใจว่าปริมาณอาหารที่ให้ (feeing amounts) นั้นมีความเหมาะสมกับความต้องการในแต่ละวันของแมวและปริมาณแคลอรี่ยังต้องเพียงพอ หากแมวมีปัญหาในการบริโภคอาหารตามที่ควรได้รับในแต่ละวัน การให้อาหารแบบผสมหรืออาหารแห้งก็จะช่วยให้ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอได้
ถึงแม้ว่าสัตวแพทย์จะทราบกันดีว่าแมวสูงวัยบางตัวมีความสามารถในการย่อยโปรตีน (protein digestibility) ได้ลดลง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าควรแนะนำโปรตีนในระดับใดสำหรับสัตว์สูงอายุที่ภายนอกดูมีสุขภาพดี ทั้งนี้เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังสามารถถูกวินิจฉัยได้ค่อนข้างบ่อยในแมวสูงอายุ โดยประมาณร้อยละ 30-40 ของสัตว์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีมักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง 14 และโดยทั่วไปแล้วสัตวแพทย์มักจะแนะนำให้ลดปริมาณโปรตีนในอาหารสำหรับแมวที่อยู่ในระยะท้ายของโรคไตวายเรื้อรัง บางครั้งเชื่อกันว่าการลดปริมาณโปรตีนในอาหารสำหรับแมวสูงวัยทุกตัวตั้งแต่เนิ่นๆอาจเป็นประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าการลดปริมาณโปรตีนในอาหารเมื่อแมวอายุมากขึ้นจะช่วยลดการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ นอกจากนี้ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) นั้นมีรายงานว่าพบในแมวตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการย่อยโปรตีนในแมวสูงวัยที่ลดลง การลดปริมาณโปรตีนในอาหารอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยสูงขึ้น อีกทั้งแมวยังเป็นสัตว์กินเนื้อโดยบังคับ (obligate carnivores) และมีความต้องการโปรตีนในปริมาณที่สูง จากปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงแนะนำว่าควรให้โปรตีนในระดับต่ำในแมวที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง และไม่แนะนำให้ให้อาหารโปรตีนต่ำเพื่อป้องกันโรคในแมวสูงวัยที่ยังมีสุขภาพดี
ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น แมวสูงอายุจะมีความสามารถในการย่อยไขมัน (fat digestibility) ได้ลดลงซึ่งจะส่งผลทำให้การดูดซึมแคลอรี่ (caloric absorption) ลดลงโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากไขมันมีแคลอรี่มากกว่าคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีนเมื่อเปรียบเทียบต่อกรัม การให้อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นไขมันปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีส่วนประกอบโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตย่อยได้ปริมาณสูงด้วยนั้นอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแมวที่มีสุขภาพดีแต่น้ำหนักและความสมบูรณ์ร่างกายลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ในทางกลับกันหากแมวมีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) การให้อาหารที่มีปริมาณไขมันและแคลอรี่ต่ำก็จะดีกว่า สมาคมป้องกันโรคอ้วนในสัตว์เลี้ยง (The Association for Pet Obesity Prevention) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินไว้ว่าในปี 2022 ร้อยละ 61 ของแมวเลี้ยงนั้นมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน 15 และเนื่องจากแมวจำนวนมากมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นจึงมีแนวโน้มว่าข้อมูลทางสถิตินี้ได้รวมแมวที่อยู่ในช่วงสูงวัยเข้าไปด้วย แมวที่เป็นโรคอ้วนนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง กล้ามเนื้อและกระดูก และ/หรือปัญหาทางทันตกรรม รวมถึงโรคระบบทางเดินปัสสาวะและโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีการแนะนำให้ให้อาหารที่มีปริมาณไขมันสูงในแมวที่มีน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ (unintentionally losing weight) แต่ก็ยังมีบางสถานการณ์ที่เป้าหมายคือการลดน้ำหนักซึ่งสามารถทำได้โดยการลดปริมาณไขมันที่แมวบริโภคเข้าไป
Lori Prantil
แม้ว่าคาร์โบไฮเดรตจะไม่ใช่สารอาหารที่จำเป็น แต่ก็เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานที่จำเป็นและปรับสมดุลระหว่างปริมาณโปรตีนและไขมันให้ได้สัดส่วนที่ต้องการในอาหารโดยรวม สัตวแพทย์จำเป็นต้องทราบว่าสำหรับแมวสูงวัยที่มีสุขภาพดี (นอกจากแมวจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ที่จะต้องประเมินระดับคาร์โบไฮเดรตย่อยได้อย่างใกล้ชิด - รูปภาพที่ 6) นั้นการพิจารณาคาร์โบไฮเดรตเพียงอย่างเดียวมักจะกระทำหลังจากสามารถระบุปริมาณโปรตีนและไขมันได้แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตามคาร์โบไฮเดรตที่ถูกปรุงสุกแล้วซึ่งสามารถย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็วในแมวนั้นจะป้องกันการสลายโปรตีน (protein-sparing effect) โดยการเป็นแหล่งกลูโคส (source of glucose) แทนที่จะเกิดขบวนการสร้างกลูโคส (gluconeogenesis) จากการใช้โปรตีน ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ (digestible carbohydrates) จะทำให้เกิดโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานในแมว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะหลีกเลี่ยงสารอาหารนี้ โดยข้อเท็จจริงคืออาหารที่มีไขมันสูงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่โรคอ้วนและปริมาณไขมันในอาหารที่ให้สามารถลดลงได้ด้วยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของปริมาณโปรตีนและ/หรือคาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยไม่ได้ (undigestible carbohydrates) นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของเส้นใยอาหาร (dietary fiber) ที่สามารถช่วยส่งเสริมให้ทางเดินอาหารมีสุขภาพที่ดีได้ ใยอาหารที่ถูกหมักได้ (fermentable fibers) (เช่น บีทพัลพ์ (beet pulp) ชิโครี่พัลพ์ (chicory pulp) ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (fructo-oligosaccharides)) จะถูกนำมาใช้โดยจุลินทรีย์ในลำไส้ (intestinal microbiota) และผลผลิตสุดท้ายจากการหมัก (fermentation end- products) เช่น กรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acid) อาจเป็นประโยชน์โดยตรงต่อสัตว์ในช่วงสูงวัย โดยในสุนัขสูงอายุพบว่าการให้อาหารที่มีเส้นใยอาหารในปริมาณสูงสามารถลดแอมโมเนียในทางเดินอาหารได้ (intestinal ammonia) 16 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในกรณีโรคไตวายเรื้อรังและโรคสมองเหตุตับ (hepatic encephalopathy) อย่างไรก็ตามเส้นใยอาหารจะลดความหนาแน่นของแคลอรี่ในอาหาร (caloric density) และอาจส่งผลต่อความอร่อยได้ เพราะฉะนั้นความสมดุลที่เหมาะสมสำหรับสัตว์แต่ละตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงสามารถทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังในแมวสูงอายุแต่ก็มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงอาจเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังได้ ในรายงานการศึกษา 2 ฉบับล่าสุดได้ระบุถึงการทดสอบการให้อาหารที่มีระดับฟอสฟอรัสและอัตราส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสแตกต่างกันในกลุ่มแมวที่มีสุขภาพดี พบว่าอาหารที่มีระดับฟอสฟอรัสสูงที่สุด (ส่วนใหญ่มากจากอนินทรีย์วัตถุ (inorganic sources)) และมีอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสน้อยที่สุดนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไตในแมว 17 การทดสอบเพิ่มเติมในอาหารประเภทต่างๆที่มีระดับฟอสฟอรัสทั้งหมด (total phosphorus) แหล่งฟอสฟอรัสอนินทรีย์ (inorganic phosphorus sources) และอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสต่างกันได้แสดงให้เห็นว่าระดับฟอสฟอรัสอนินทรีย์ที่สูงจะทำให้ความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในพลาสม่า (plasma phosphorus concentrations) สูงตามไปด้วยและสูงกว่าระดับที่เกิดจากฟอสฟอรัสอินทรีย์ 18 อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าฟอสฟอรัสอนินทรีย์ทุกรูปแบบจะทำให้ความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในพลาสม่าเพิ่มสูงขึ้นหลังมื้ออาหาร (postprandial rise) เหมือนกันทั้งหมด และถึงแม้ว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในหัวข้อนี้แต่ผู้เขียนแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสเฟตอนินทรีย์ที่ละลายน้ำได้ (soluble, inorganic phosphates) ในระดับสูงรวมถึงอาหารที่มีอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสน้อยกว่า 1:1 19
อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ต้องทราบก่อนว่าในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ระดับของโปรตีนและฟอสฟอรัสอินทรีย์นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งก็คือยิ่งระดับของสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งสูงขึ้นเท่าไร ระดับของสารอาหารอีกตัวหนึ่งก็มีโอกาสที่จะสูงขึ้นเช่นกัน ในปัจจุบันเรากำลังเห็นอาหารใหม่ๆวางขายในตลาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเฉพาะโรค (therapeutic diets) ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาโรคไตในระยะเริ่มต้น)) ซึ่งมีโอกาสที่จะประสบปัญหานี้ได้น้อยเนื่องจากการเลือกส่วนผสมอย่างระมัดระวัง แต่สำหรับอาหารอื่นๆอาจไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นแล้วการรักษาระดับโปรตีนในอาหารให้สูงแต่หลีกเลี่ยงระดับฟอสฟอรัสที่สูงอาจเป็นเรื่องยากเมื่อทำการประเมินอาหารสูตรปกติสำหรับแมวสูงอายุ
โดยปกติแล้วแมวในทุกช่วงวัยจำเป็นต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุลโดยมีปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสม แต่แมวสูงอายุก็อาจมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมบางประการเนื่องจากสัตว์ในช่วงวัยนี้จะมีความสามารถในการย่อยไขมันลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน ในปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินต่างๆเหล่านี้ในแมวสูงอายุเนื่องจากความสามารถในการดูดซึมต่ำ อย่างไรก็ตามหากสัตวแพทย์พบว่าแมวได้รับอาหารที่ไม่สามารถถูกดูดซึมได้อย่างเหมาะสมหรือไม่สมบูรณ์และไม่สมดุล รวมถึงสูญเสียความสมบูรณ์ร่างกายและกล้ามเนื้อ (body and muscle condition) สัตวแพทย์ก็อาจต้องพิจารณาถึงการขาดสารอาหารเหล่านี้ร่วมด้วย
สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ในรูปวิตามิน เช่น วิตามินซี อี และโปรวิตามินเบต้าแคโรทีน (provitamin beta-carotene) อาจมีประโยชน์ในสัตว์สูงวัย ทั้งนี้แม้ว่าวิตามินซีจะไม่ใช่สารอาหารจำเป็นสำหรับแมว (เนื่องจากแมวสามารถสังเคราะห์ได้ภายในร่างกาย) แต่ก็มีหลักฐานว่าระดับของวิตามินอีและเบต้าแคโรทีนในอาหารแมวที่สูงขึ้นจะช่วยให้แมวมีอายุยืนยาว (increased longevity) ขึ้นได้ 20 นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับแมวสูงวัยที่มีสุขภาพดี แต่วิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี 12 อาจสูญเสียไปหากมีการสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากภาวะปัสสาวะมาก (polyuria) หรือภาวะการดูดซึมของร่างกายผิดปกติ (malabsorption) ดังนั้นอาจพิจารณาให้อาหารเสริมสำหรับสัตว์เหล่านี้ด้วย
Becca Leung
หนึ่งในภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในแมวสูงวัยคือโรคข้อกระดูกเสื่อม (degenerative joint disease (DJD) หรือ osteoarthritis) มีการศึกษาฉบับหนึ่งรายงานว่าร้อยละ 92 ของแมวที่มีอายุมากกว่า 14 ปี มีหลักฐานจากภาพถ่ายรังสี (radiographic evidence) ว่าเป็นโรคข้อกระดูกเสื่อม 21 โดยแม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายประเภทที่แนะนำสำหรับแมวที่เป็นโรคนี้ แต่การศึกษาเรื่องการใช้กรดอิโคซะเพนตะอีโนอิก (eicosapentaenoic acid; EPA) และกรดโดโคซะเฮกซะอีโนอิก (docosahexaenoic acid; DHA) นั้นมีรายงานที่ชัดเจนที่สุดถึงคุณประโยชน์จากสารเสริม (additives) เหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฉบับหนึ่งที่พบว่าแมวที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับน้ำมันปลานั้นจะมีระดับกิจกรรมที่สูงขึ้น ข้อฝืดน้อยลง (stiffness) แมวสามารถกระโดดได้สูงขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของมากขึ้น 22 (รูปภาพที่ 7)
เนื่องจากในปัจจุบันแมวที่อยู่ในช่วง “สูงวัย” และ “สูงวัยระดับสุดยอด” นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสื่อมถอยของการทำงานของสมอง (cognitive decline) และความผิดปกติของการรับรู้หรือความคิด (cognitive dysfunction) จึงได้กลายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและจดจำได้ง่ายแม้แต่ในแมวที่ถือว่ามีสุขภาพดีก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วปัญหานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความแก่ (aging process) ตามปกติ โดยมีการศึกษาฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 36 ของเจ้าของที่มีแมวอายุระหว่าง 7-10 ปี (ช่วงโตเต็มวัยและช่วงสูงวัย) และร้อยละ 88 ของเจ้าของที่มีแมวอายุระหว่าง 16-19 ปี (ช่วงสูงวัยระดับสุดยอด) นั้นได้รายงานว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขานั้นมีปัญหาด้านพฤติรรมที่เกี่ยวข้องกับอายุ (age-related behavioral problems) 23 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้อาจทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งแมวและเจ้าของลดลง และเพราะเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีความสนใจอย่างมากในการหาอาหารและ/หรืออาหารเสริมที่จะช่วยชะลอกระบวนการเหล่านี้ได้
มีการศึกษาสารเสริม (additives) จำนวนหนึ่งซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย มีหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับการเสริมสารเอส-อะดีโนซิล-แอล-เมไทโอนีน (S-adenosyl-l-methionine; SAMe) อีกทั้งยังมีรายงานโดยเรื่องเล่า (anecdotal reports) เกี่ยวกับสารเสริมอื่นๆ เช่น เมลาโทนิน (melatonin) แอล-ธีอะนีน (l-Theanine) โปรตีนนมไฮโดรไลเสส (milk protein hydrolysates) และฟีโรโมน (pheromones) อย่างไรก็ตามอาหารเสริมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความวิตกกังวล (anxiety issues) ทั่วไปในแมว ไม่ได้ถูกใช้ในกรณีการทำงานของสมองเสื่อมถอยลงโดยเฉพาะ จึงต้องมีการวิจัยทางคลินิก (clinical trials) อื่นๆเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบผลของสารเสริมต่อความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองและรับประกันผลของสารเสริมนั้น ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางหรือ Medium chain triglycerides (MCTs) นั้นเป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้ในสุนัขเพื่อแก้ไขความผิดปกติของการรับรู้หรือความคิดแต่อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในแมว การศึกษาก่อนหน้านี้ได้ใช้ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางในแมวแล้วพบว่ามีความท้าทายทางด้านรสชาติ (palatability challenges) แม้ว่าการศึกษาที่ใหม่กว่าจะแนะนำว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม 24,25 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยล่าสุดที่มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของทางเดินอาหารและสมอง (gut-brain axis) ด้วยแนวคิดในการปรับปรุงการทำงานของสมองในสัตว์ช่วงสูงวัย อีกทั้งยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง (โดยให้ความสนใจไปที่การออกฤทธ์ของคีโตนและผลกระทบโดยตรงของกรดไขมันสายโซ่ปานกลาง (medium-chain fatty acids)) ทั้งนี้พรีไบโอติกส์ (prebiotics) และโพรไบโอติกส์ (probiotics) ยังควรถูกพิจารณาเป็นหัวข้อสำหรับศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตที่อาจตอบสนองความต้องการด้านปัญญา (cognitive needs) ของสัตว์สูงวัย
ในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารหรืออาหารเสริมที่มีป้ายกำกับว่าสำหรับแมวสูงอายุโดยพิจารณาจากดุลยพินิจและความเชื่อของบริษัทเองและปราศจากการวิจัยหรือความรู้ความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับแมวสูงวัย แม้ว่าสัตวแพทย์จะเริ่มเข้าใจถึงความแตกต่างของสารอาหารบางชนิดแล้ว แต่ความต้องการทางโภชนการสำหรับแมวสูงอายุส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้รับการระบุแน่ชัด มีหัวข้อกว้างๆที่ครอบคลุมการพิจารณาความต้องการทางโภชนาการหลายประการแม้แต่ในแมวที่มีอายุมากแต่สุขภาพดี เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดมาตรฐานสำหรับคำแนะนำสำหรับสัตว์ทุกตัวแต่ควรจะให้คำแนะนำเรื่องอาหารเป็นรายตัวแทน เมื่อประชากรแมวของเราเริ่มมีอายุมากขึ้น สัตวแพทย์ควรพยายามทำความเข้าใจความต้องการของแมวให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องให้คำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based recommendations) เพื่อช่วยสนับสนุนแมวที่กำลังอยู่ในช่วงสูงวัยและช่วงสูงวัยระดับสุดยอดเหล่านี้
Quimby J, Gowland S, Carney HC, et al. 2021 AAHA/AAFP Feline Life Stage Guidelines. J. Feline Med. Surg. 2021;23(3):211-233. DOI: 10.1177/1098612X21993657. Erratum in: J. Feline Med. Surg. 2021;23(8):NP3.
ISFM. “What age? What stage?” Catcare4life.org, Life stages – Cat Care for Life (catcare4life.org). Accessed May 25, 2023.
Salt C, Saito E, O’Flynn C, et al. Stratification of companion animal life stages from electronic medical record diagnosis data. J. Geront.: Series A, 2023(78);4;579-586.
Laflamme D, Gunn-Moore D. Nutrition of Aging Cats. Vet. Clin. North Am. Small Anim. Pract. 2014;(44);4;761-774.
Dowgray NJ. An epidemiological, clinical and biomechanical study into age-related changes in 206 middle-aged cats; the CATPAW Study. University of Liverpool; 2021. DOI:10.17638/03124250.
Laflamme DP, Hannah SS. Discrepancy between use of lean body mass or nitrogen balance to determine protein requirements for adult cats. J. Feline Med. Surg. 2013;15(8):691-697.
Barragán R, Coltell O, Portolés O, et al. Bitter, sweet, salty, sour and umami taste perception decreases with age: sex-specific analysis, modulation by genetic variants and taste-preference associations in 18- to 80-year-old subjects. Nutri. 2018;18;10(10):1539.
Eyre R, Trehiou M, Marshall E, et al. Aging cats prefer warm food. J. Vet. Behav. 2022;47:86-92.
Petersen M, Little S. Cachexia, sarcopenia and other forms of muscle wasting: Common problems of senior and geriatric cats and of cats with endocrine disease. Comp. Anim. Nutr. Summit. Published online 2018:65-73.
Bermingham EN, Thomas DG, Morris PJ, et al. Energy requirements of adult cats. Br. J. Nutr. 2010;103(8):1083-1093.
Begg DP. Disturbances of thirst and fluid balance associated with aging. Physiol. Behav. 2017;178:28-34.
Hansen B, Defrancesco T, Cardiology D. Relationship between hydration estimate and body weight change after fluid therapy in critically ill dogs and cats. Crit. Care 2002;12(4):235-243.
Dowgray N, Pinchbeck G, Eyre K, et al. Aging in cats: owner observations and clinical finding in 206 mature cats at enrolment to the Cat Prospective Aging and Welfare Study. Front. Vet. Sci. 2022;9:1-13.
Sparkes A, Caney S, Chalhoub S, et al. ISFM Consensus Guidelines on the Diagnosis and Management of Feline Chronic Kidney Disease. J. Feline Med. Surg. 2016;18:3:219-239.
Association for Pet Obesity Prevention. https://www.petobesityprevention.org/state-of-pet-obesity-report. Accessed Aug 10 2023.
Kuzmuk KN, Swanson KS, Tappenden KA, et al. Diet and age affect intestinal morphology and large bowel fermentative end-product concentrations in senior and young adult dogs. J. Nutr. 2005;135(8):1940-1945.
Alexander J, Stockman J, Atwal J, et al. Effects of the long-term feeding of diets enriched with inorganic phosphorus on the adult feline kidney and phosphorus metabolism. Br. J. Nutr. 2019;121(3):249-269.
Coltherd JC, Staunton R, Colyer A, et al. Not all forms of dietary phosphorus are equal: An evaluation of postprandial phosphorus concentrations in the plasma of the cat. Br. J. Nutr. 2019;121(3):270-284.
Laflamme D, Backus R, Brown S, et al. A review of phosphorus homeostasis and the impact of different types and amounts of dietary phosphate on metabolism and renal health in cats. J. Vet. Intern. Med. 2020;34(6):2187-2196.
Cupp CJ, Jean-Philippe C, Kerr WW, et al. Effect of nutritional interventions on longevity of senior cats. Int. J. Appl. Res. Vet. Med. 2006;4;34-50.
Lascelles BD. Feline degenerative joint disease. Vet. Surg. 2010;39(1):2-13.
Corbee RJ, Barnier MMC, van de Lest CHA, et al. The effect of dietary long-chain omega-3 fatty acid supplementation on owner’s perception of behavior and locomotion in cats with naturally occurring osteoarthritis. J. Anim. Physiol. Anim. Nutr. 2013;97:846-853.
Landsberg GM. Behavior problems of older cats. In: Proceedings, 135th annual meeting of the American Veterinary Medical Association 1998:317-320.
MacDonald ML, Rogers QR, Morris JG. Aversion of the cat to dietary medium-chain triglycerides and caprylic acid. Physiol. Behav. 1985;35(3):371-375.
Trevizan L, de Mello Kessler A, Bigley KE, et al. Effects of dietary medium-chain triglycerides on plasma lipids and lipoprotein distribution and food aversion in cats. Am. J. Vet. Res. 2010;71(4):435-440.
Lori Prantil
Dr. Prantil is a board-certified veterinary nutritionist who graduated from Tufts University Cummings School of Veterinary Medicine in the United States อ่านเพิ่มเติม
Becca Leung
Dr. Becca Leung was born in Hong Kong and raised in the United States of America อ่านเพิ่มเติม
บทความนี้จะพิจารณาถึงการวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnoses) และตัวเลือกในการจัดการการรักษาเมื่อพบว่าสุนัขมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง
เมื่อสุนัขอายุมากขึ้น ผิวหนังของพวกมันก็มีอายุมากขึ้นเช่นเดียวกัน บทความนี้จะนำเสนอภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้และภาวะทางผิวหนัง (dermatologic conditions) ที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงวัย
การสูญเสียกล้ามเนื้อ (muscle loss) หรือภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) ในสุนัขอายุมากนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการทำงาน บทความนี้ได้สรุปวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาปัญหานี้ได้