วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 28.3 โภชนาการ

พฤติกรรมการกินของแมว

เผยแพร่แล้ว 31/03/2021

เขียนโดย Jon Bowen

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español , English และ Українська

การกินอาหารมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในการอยู่รอด แต่สำหรับมนุษย์อาจซับซ้อนมากกว่าแค่การกิน เพราะช่วงเวลาอาหารของมนุษย์ยังเป็นเวลาที่ได้พักผ่อน คลายเครียด รวมไปถึงการสนทนากับเพื่อนและครอบครัวระหว่างมื้ออาหาร Dr. Jon Bowen จะมาอธิบายว่าหลักการกินอาหารของแมวต่างกันกับคนในประการใดบ้าง (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

Feeding behavior in cats

ประเด็นสำคัญ

แมวที่อาศัยในธรรมชาติจะกินอาหารตลอด 24 ชั่วโมงหากมีอาหารเพียงพอ โดยพบพฤติกรรมการล่าและกินอาหารมากสุดที่ช่วงเวลารุ่งเช้าและพลบค่ำ


แมวจะมีความไวต่อรสชาติของกรดอะมิโนและนิวคลีโอไทด์เป็นอย่างมาก ทั้งยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าชอบและไม่ชอบรสชาติบางชนิด


แมวจะมีกิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัดแน่นอน หากว่าเจ้าของแมวมีกิจวัตรที่ไม่ปกติจะก่อให้เกิดความเครียดแก่แมวทั้งยังสร้างความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิตของแมวอีกด้วย


เจ้าของแมวมักเชื่อว่าการให้อาหารแมวคือการดูแลแมว แต่ยังมีสิ่งอื่นที่สามารถทำได้เพื่อแสดงออกถึงการดูแลเอาใจใส่


บทนำ

การดูแลเอาใจใส่คือรากฐานของการเลี้ยงสัตว์ ความรู้สึกของการแบ่งปันประสบการณ์ทางอารมณ์ไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์แต่รวมถึงประโยชน์แก่เจ้าของสัตว์ด้วย บทความจาก American Heart Association ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการมีสัตว์เลี้ยงและผลดีต่อสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ประโยชน์เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของความสัมพันธ์ มากกว่าการมีสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว 1

ถึงแม้จะมีการศึกษาที่ไม่มากนัก แต่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาทางพฤติกรรมจะส่งผลเสียต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเจ้าของ ยกตัวอย่างการศึกษาเจ้าของสุนัขที่พบว่าสุนัขมีปัญหาหลักทางพฤติกรรม เช่นความดุร้าย ความกระวนกระวาย และปัญหารองเช่น การดึงรั้งสายจูง ส่งผลกับการใช้ชีวิตและความพึงพอใจในการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก 2 ผลเสียอย่างเดียวกันอาจพบได้ในเจ้าของแมวที่แมวมีปัญหาไม่เข้าสังคม ทำลายสิ่งของ และขับถ่ายเรี่ยราดภายในบ้าน

Offering food to a pet is a primary means of human expression of care.
รูป 1 การให้อาหารคือการแสดงออกหลักในการดูแลสัตว์เลี้ยงของคน © Shutterstock

การมีสัตว์เลี้ยงเป็นโอกาสที่เจ้าของได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จากสัตว์ซึ่งไม่ตัดสินคุณค่าของผู้เลี้ยง และได้แสดงออกถึงการให้ผ่านการดูแลเอาใจใส่ การให้และรับการดูแลเป็นการแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ ส่งผลบวกทางอารมณ์ให้กับผู้คน โดยการแสดงออกหลักของคนในการดูแลคือการให้อาหาร 3 ดังนั้นในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเจ้าของแมว จะรู้สึกว่าความสำคัญของการเลี้ยงแมวคือการให้อาหารแมวและเห็นแมวกินอาหารนั้น เจ้าของแมวบางคนที่ออกจากบ้านไปเป็นเวลานานในแต่ละวันจะมองว่าการให้อาหารคือสิ่งสำคัญในการเชื่อมต่อกับสัตว์เลี้ยงของเขา (รูป 1)

การมีปฏิสัมพันธ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะได้ผลดีกับสัตว์เลี้ยงบางชนิดเช่นสุนัข เพราะสุนัขถือว่ามื้ออาหารคือกิจกรรมทางสังคมและมีความยืดหยุ่นต่อเวลาอาหาร สุนัขสามารถปรับตัวได้ง่ายไม่ว่าจะมีอาหารหนึ่ง สอง หรือสามมื้อต่อวัน แสดงความดีใจเมื่อได้รับอาหาร และยอมรับได้เมื่อถูกจำกัดเวลาการให้และสิ่งที่สามารถกินได้ อย่างไรก็ตามแมวมีรูปแบบการหาอาหารและการกินที่ทำให้ยากต่อการปรับตัว หรือแสดงความดีใจที่ถูกให้อาหารโดยคน (รูป 2) อันที่จริงแล้วความไม่ตรงกันในเรื่องแรงจูงใจในการกินและพฤติกรรมระหว่างคนกับแมวสามารถนำไปสู่ปัญหาทางพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตของเจ้าของแมวและความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของได้

พฤติกรรมการล่าและการกินแบบปกติเป็นอย่างไร

ในธรรมชาติหากมีอาหารเพียงพอ แมวจะกินตลอดในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง 4 จำนวนมื้ออาหารอาจสูงได้ถึง 20 ครั้ง 5 ต่อวัน แต่อาจมีความแตกต่างกันได้ในแมวแต่ละสายพันธุ์ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาในแมวพันธุ์ Bengal พบว่ามีค่าเฉลี่ยจำนวนมื้ออาหารสูงกว่าพันธุ์ domestic shorthaired 6

The activity and feeding patterns of cats and humans differ significantly, as shown in this diagram.
รูป 2 แผนภาพที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันของรูปแบบพฤติกรรมการทำกิจกรรมและการกินของแมวและมนุษย์ © Jon Bowen

แมวที่อยู่อย่างอิสระจะมีจำนวนมื้ออาหารที่ขึ้นกับปริมาณอาหารที่เข้าถึงได้และความสำเร็จในการล่า แมวจะไปยังพื้นที่ล่าในอาณาเขตของตัวเองหลายครั้ง โดยเน้นช่วงเวลาที่เหยื่อจะเคลื่อนไหวช้าและจับได้ง่าย ดังนั้นแมวมักจะล่าเหยื่อที่ช่วงเวลารุ่งเช้าและพลบค่ำ แต่สามารถออกล่าช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่นกอยู่ในรังเช่นเดียวกัน การมองเห็นของแมวถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้ดีในที่ที่มีแสงสว่างน้อย แมวไม่สามารถทนต่อแสงสว่างจ้าได้และจะไม่ค่อยทำกิจกรรมในวันที่มีแดดจัด เหยื่อของแมวจะมีขนาดเล็กเป็นได้ทั้งสัตว์ที่มีและไม่มีกระดูกสันหลัง 7 การออกล่าแต่ละครั้งจะได้อาหารที่มีขนาดเล็กซึ่งให้พลังงานได้ไม่กี่ชั่วโมง ความอิ่มจึงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการหาอาหารและการกินของแมว หลังจากที่ได้กินแล้วแมวต้องกลับออกไปล่าอย่างรวดเร็วสำหรับอาหารมื้อถัดไป แมวมักไม่กินอาหารที่มีขนาดใหญ่เพราะมีความจุของกระเพาะที่ไม่มากนัก

When hunting, a cat will adopt a crouched body posture to make itself less visible before launching an opportunistic predatory strike.
รูป 3 รูปแบบการล่าของแมวที่จะทำการย่อตัวลงเพื่อลดโอกาสที่เหยื่อจะมองเห็น จากนั้นจึงเข้าโจมตีโดยการกระโจนเข้าขย้ำ © Shutterstock

แมวจะใช้ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นและความผิดปกติที่พบในบริเวณล่าเหยื่อเพื่อหาว่ามีเหยื่อในบริเวณนั้นหรือไม่ จากนั้นแมวจะไปอยู่ในจุดใกล้เคียงเพื่อรอเป็นเวลาหลายสิบนาทีถึงจะเปลี่ยนไปที่ตำแหน่งต่อไป พฤติกรรมผู้ล่าจะถูกกระตุ้นโดยเสียงที่มีความถี่สูงและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของเหยื่อขนาดเล็ก แมวจะหยุดเคลื่อนที่ ย่อตัวลงเพื่อไม่ให้เหยื่อสังเกตเห็น ระบุตำแหน่งของเหยื่อ รอให้เหยื่อเข้ามาหาหรือเคลื่อนที่ช้าๆเข้าไปหาเหยื่อ จากนั้นจึงทำการกระโจนเข้าใส่เหยื่อ (รูป 3) การโจมตีจะเป็นไปอย่างกระชับและว่องไวในระยะทางไม่กี่ช่วงตัวของแมว

แมวไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะที่ใกล้กว่า 15-20 เซนติเมตร ทำให้ช่วงสุดท้ายของการล่าต้องอาศัยหนวดและการสัมผัสในปาก หลังจากที่แมวงับเหยื่อได้แล้ว แรงกัดจะถูกควบคุมโดยระบบรีเฟล็กซ์เฉพาะที่ หากเหยื่อยิ่งขยับหรือดิ้น แมวจะกัดแรงขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมการกัดของแมวจึงทำให้เจ้าของเจ็บปวดมากและทำไมเราจึงไม่ควรใช้มือและเท้าในการเล่นกับแมว

รูปแบบการล่าของแมวจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปมาระหว่างบริเวณล่าเหยื่อ การหาอาหาร และการรอคอย หลังจากที่แมวจับเหยื่อได้แล้ว แมวจะนำเหยื่อไปกินที่อาณาเขตของมันเพื่อความเป็นส่วนตัว แมวที่อาศัยในบ้านจะนำเหยื่อที่ล่าได้กลับเข้าไปในบ้านไม่ใช่เป็น “ของขวัญ” ให้กับเจ้าของแมวหรือแสดงออกว่าแมวไม่ชอบอาหารที่ให้แต่อย่างใด แต่เพื่อนำไปกินอย่างปลอดภัยและสงบเงียบในอาณาเขตของมัน สาเหตุเดียวกันกับว่าทำไมแมวบางตัวจึงนำอาหารออกจากชามอาหารไปกินที่อื่นเพื่อความเป็นส่วนตัว เจ้าของแมวต้องระลึกว่านี่คือสัญญาณที่ควรเปลี่ยนตำแหน่งชามอาหารของแมวหรือแมวไม่พอใจที่ต้องแบ่งชามอาหารกับแมวตัวอื่นในบ้าน แมวที่อยู่อย่างอิสระจะแยกพื้นที่กินอาหาร ขับถ่าย และพักผ่อนไว้ห่างจากกัน แมวที่อาศัยในบ้านจึงมักถูกบีบพื้นที่ให้แคบลงกว่าที่ควร ส่งผลให้แมวไม่อยากกินอาหารจากชามอาหารที่ตั้งไว้ให้ เจ้าของแมวควรจัดชามอาหารและบริเวณขับถ่ายให้แยกจากกันเท่าที่จะทำได้

Jon Bowen

รูปแบบการล่าและการกินของแมวทำให้ยากที่จะปรับตัวหรือแสดงความขอบคุณต่อความตั้งใจของมนุษย์ที่พยายามมอบความรักผ่านการให้อาหาร

Jon Bowen

เหยื่อที่มีขนาดใหญ่และอันตรายกว่าจะถูกฆ่าทันทีโดยการกัดเพื่อตัดไขสันหลังบริเวณคอ ฟันกรามจะถูกใช้ในการเฉือนเนื้อออกจากซาก 4 หากแมวยังไม่หิวและเหยื่อมีขนาดเล็ก แมวจะปล่อยให้เหยื่อมีชีวิตต่ออีกสักพักเพื่อฝึกพฤติกรรมการล่า แมวจะกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กโดยเริ่มจากบริเวณศีรษะตามด้วยลำตัวและขา มันจะใช้เวลาในการเคี้ยวจนชิ้นเนื้อมีขนาดที่ง่ายต่อการย่อยและอาจไม่กินจนหมดตัว เป้าหมายของการกินมีเพียงแค่การเติมพลังงานเพื่อให้กลับไปล่าหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้เพียงเท่านั้น ส่วนที่มีความน่ากินน้อยเช่นลำไส้อาจถูกทิ้งไว้เช่นนั้น หากแมวล่าเหยื่อได้มากเกิน อาจฝังบางส่วนไว้ใต้ดินเพื่อเก็บไว้กินในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า และอาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมแมวที่เลี้ยงในบ้านบางตัวแสดงพฤติกรรมการขุดรอบชามอาหารของมันหลังจากที่กินเสร็จแล้ว

รสชาติแบบไหนที่แมวชอบ

แมวเป็นเช่นเดียวกับสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นที่ลิ้นขาดบริเวณรับรสหลักไป 8 ยกตัวอย่างเช่นแมวไม่สามารถรับรสหวานและเค็มได้ 9 แต่มีความไวต่อรสของกรดอะมิโนและนิวคลีโอไทด์ แมวจะหลีกเลี่ยงรสของกรดอะมิโนบางตัวเช่น L-tryptophan ซึ่งคนรับรู้ว่ามีรสขม แต่จะมีความชอบในรสของกรดอะมิโนตัวอื่นเช่น L-glycine เจ้าของแมวบางคนกล่าวว่าแมวของเขาชอบกินของที่มีรสเค็มเช่นถั่วและมันฝรั่งทอด หรือของที่มีรสหวานเช่นขนมเค้กและบิสกิต แต่ความจริงแล้วแมวสัมผัสได้ถึงรสของกรดอะมิโนปริมาณเล็กน้อยที่คนเราไม่สามารถรับรู้ได้เพราะถูกความหวานและเค็มกลบไปแล้ว แต่ก็มีบางรสชาติที่คนและแมวสามารถรับรู้และไม่ชอบได้เหมือนกัน เช่นแมวจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสขมเพื่อลดการกินอาหารที่อาจเป็นพิษได้ 10

ลูกแมวจะพัฒนาความชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งโดยทำตามพฤติกรรมการกินของแม่แมว แต่จะเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อแมวโตขึ้นและได้กินอาหารชนิดใหม่ที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมหรืออาหารที่เจ้าของแมวจัดวางไว้ให้ เจ้าของบางคนกล่าวว่าแมวของตนเองเลือกกินอาหารซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ไม่มีประสบการณ์ที่หลากหลายในการกิน ทำให้แมวไม่ค่อยลองอาหารชนิดใหม่ อย่างไรก็ตามแมวสามารถแสดงพฤติกรรมการเบื่อ (monotony effect) 4 ที่ทำให้แมวเริ่มปฏิเสธอาหารหรือเหยื่อชนิดเดิม และเริ่มหาอาหารใหม่ที่อยู่ในกลุ่มที่แมวมีความคุ้นเคยอยู่บ้าง พฤติกรรมการเบื่อนี้ช่วยให้แมวได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนผ่านการกินเหยื่อหลายชนิด พบได้มากในแมวที่อยู่อย่างอิสระมากกว่าแมวเลี้ยงซึ่งได้รับอาหารสำเร็จที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนมากกว่า 11 อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมแมวที่เลี้ยงถึงมีแสดงความเบื่ออาหารเป็นครั้งคราว ส่งผลให้เจ้าของต้องเปลี่ยนอาหารที่ให้เป็นชนิดอื่น

อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของแมว

ปัจจัยที่สำคัญและส่งผลมากต่อพฤติกรรมการล่าและการกินอาหารของแมวรวมไปถึงพฤติกรรมโดยรวม เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายในมากกว่าการเข้าสังคม แมวที่อยู่ในอาณาเขตของตัวเองจะมีรูปแบบพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นการล่า การกิน การดูแลตัวเองโดยไม่ได้รับผลจากการมีแมวตัวอื่น ล้วนเป็นกิจกรรมสันโดษทั้งสิ้น ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเช่นแสง และชนิดของพืชที่อยู่ในอาณาเขต ช่วยให้แมวคาดการณ์ได้ว่าจะพบเหยื่อได้ที่ไหน เวลาใด การที่แมวตัดสินใจออกล่าจะขึ้นอยู่กับว่าแมวต้องการที่จะดูแลตัวเองหรือต้องการออกไปหาคู่ หาอาหาร

A diagrammatic representation of the territory of a free-ranging cat. Such cats have large territories (up to 0.5-1.3 km in length and an overall area of 300,000-1,700,000 m²) with multiple hunting and latrine sites in the periphery, and places to eat, rest and groom in the core. For purposes of hygiene, latrines are located away from resting areas.
รูป 4 รูปภาพแสดงอาณาเขตของแมวที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ แมวจะมีอาณาเขตที่ยาวตั้งแต่ 0.5-1.3 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 300,000 – 1,700,000 ตร.ม.) มีพื้นที่ล่าและขับถ่ายอยู่รอบนอกของอาณาเขต สถานที่สำหรับกิน นอน และดูแลขนจะอยู่ใจกลางอาณาเขต สาเหตุที่พื้นที่ขับถ่ายอยู่ไกลออกไปจากบริเวณพักผ่อนเพื่อรักษาความสะอาด © Jon Bowen

แมวที่อยู่อย่างอิสระมักจะมีกิจวัตรในการล่า กินอาหาร พฤติกรรมด้านอาณาเขต และการดูแลตัวเองที่แน่นอนทั้งในเรื่องเวลาและสถานที่ (รูป 4) เหตุผลหนึ่งคือแมวต่างจากสุนัขที่ไม่มีกระบวนการทางพฤติกรรมที่ใช้แก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน แมวจะใช้กลิ่นจากปัสสาวะ รอยเล็บ และท่าทางของร่างกายในการรักษาระยะห่าง (ลักษณะท่าทางในการข่มขู่ การมองตา และเสียง) เพื่อที่จะอยู่แยกกัน แมวสามารถอยู่รวมกันได้หากว่ามีที่พักอาศัยและอาหารในปริมาณที่เพียงพอ แต่นี่ไม่นับว่าเป็นพฤติกรรมทางสังคมของการอยู่ร่วมกันแบบในสุนัข การอยู่รวมกันของแมวสะท้อนให้เห็นการเพิ่มขึ้นของขีดความอดทนทางสังคมในแมวกลุ่มนั้น แมวที่มีความอดทนทางสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกับแมวตัวอื่นและใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ในขณะที่แมวที่ไม่มีความอดทนทางสังคมจะไม่ยอมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ความหลากหลายทางสังคมของแมวที่มีทั้งอยู่ตัวเดียวและอาศัยอยู่รวมกันทำให้แมวอยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ข้อสรุปพฤติกรรมการกินของแมวอยู่ใน (กล่อง 1)

• แมวกินอาหารมื้อเล็กต่อวันได้สูงสุดถึง 20 มื้อ
• แมวสามารถกินได้ทุกช่วงเวลาใน 24 ชั่วโมง
• การกินและการล่าไม่ใช่พฤติกรรมทางสังคมที่ได้รับผลจากการมีอยู่ของแมวตัวอื่น
• แมวมีกิจวัตรประจำวันในการล่า การกิน และการดูแลตัวเองที่แน่นอน
กล่อง 1 ข้อสรุปพฤติกรรมการกินของแมว

แมวปรับตัวให้เข้ากับการถูกเลี้ยงดูได้ง่ายเพียงใด

บทความนี้เริ่มต้นบนแนวคิดที่ว่าการให้อาหารคือสิ่งสำคัญในการดูแลจากมุมมองของคน การพบปะทางสังคมต่างๆที่จัดขึ้นต่างก็อยู่บนแนวคิดนี้พร้อมกับความคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับการเลี้ยงอาหารจะแสดงความพึงพอใจในอาหารที่ได้รับ บางวัฒนธรรมอาจมีข้อกำหนดว่าการเหลืออาหารไว้บนจานเล็กน้อยเป็นการแสดงความพึงพอใจในอาหารนั้น ในขณะที่อีกวัฒนธรรมหนึ่งถือว่าการกินอาหารเหลือเป็นการหยาบคายและการจบมื้ออาหารที่ดีต้องมีการเรอด้วยเสียงอันดัง ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมใดสิ่งที่จะแสดงออกถึงความพึงพอใจคือการกิน สุนัขเองมีความยินดีที่จะปฏิบัติตามวิถีสังคมมนุษย์และกินอาหารจนหมด

ในทางกลับกัน แมวถือว่าอาหารคือการเติมพลังงานระหว่างกิจกรรมต่างๆ การกินอาหารไม่มีความสำคัญในแง่มุมทางสังคม แมวจะกินอาหารเพียงไม่กี่คำก่อนที่จะเดินจากไปและเจ้าของแมวมักตีความว่านี่คือการที่แมวไม่พอใจอาหาร ตามมาด้วยความรู้สึกจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีความน่ากินเพิ่มขึ้น เหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เป็นปัญหาหลักแต่ในบางครั้งอาจก่อให้เกิดภาวะการกินมากเกินไปและสร้างความหงุดหงิดแก่เจ้าของ

ปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบมากกว่าคือเรื่องของจำนวนมื้ออาหารและเวลาการให้อาหาร การวางอาหารให้แมววันละ 2 ครั้งจะดีต่อเมื่ออาหารนั้นคงความสดและสามารถวางทิ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะเกิดช่วงเวลาที่แมวไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

 In many homes food bowls are placed uncomfortably close to latrine and water sites, or where there is a lot of noise and activity. This can deter cats from feeding, especially if other cats are nearby.
รูป 5 การวางชามอาหารและน้ำไว้ใกล้กระบะขับถ่ายหรือบริเวณที่มีเสียงรบกวนอึกทึกจะสร้างความเครียดแก่แมว ส่งผลให้แมวกินอาหารน้อยลงโดยเฉพาะถ้ามีแมวตัวอื่นอยู่ใกล้เคียง © Jon Bowen
This stationary tower requires a cat to move food down through various levels using its paws before it can eat the kibble.
รูป 6 อุปกรณ์ให้อาหารบางชนิดทำให้แมวต้องใช้อุ้งเท้าในการนำอาหารออกมากิน © Ingrid Johnson

แมวที่ถูกให้อาหารตามที่กล่าวมาจะปรับตัวโดยการพยายามกินอาหารมากกว่าปกติต่อครั้ง สถานการณ์จะยิ่งแย่ลงในบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัวที่ต้องแบ่งชามอาหารกัน เพราะแมวจำเป็นต้องต่อคิวเพื่อกินอาหาร ลองจินตนาการถึงตัวท่านเองหากต้องต่อคิวรับอาหารเช้า กลางวัน เย็นทุกวัน หรือได้รับอาหารมื้อใหญ่สัปดาห์ละ 1 ถึง 2 ครั้งแบบสุ่ม แถมยังต้องแบ่งกับคนอีกหลายคนที่หิวโหยพอกันและดิ้นรนที่จะรับประทานให้ได้มากที่สุด การให้อาหารเมื่อแมวต้องการไม่ได้เป็นวิธีที่ดีไปกว่ากันเพราะเจ้าของมักจะไม่อยู่หรือหลับในช่วงเวลาที่แมวจำเป็นต้องได้รับอาหารมากที่สุด (รุ่งเช้าและพลบค่ำ)

• แมวต้องสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างอิสระเพื่อที่จะกินอาหารมื้อเล็กๆได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
• การกินอาหารเล็กน้อยแล้วเดินหนีจากชามอาหารเป็นเรื่องปกติสำหรับแมว
• การให้อาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งเสริมด้วยอาหารชนิดใหม่เล็กน้อยเป็นครั้งคราวน่าจะเป็นรูปแบบการให้อาหารที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุดสำหรับแมว การเบื่ออาหารที่เกิดขึ้นจะช่วยไม่ให้แมวกินอาหารมากเกินความจำเป็น
• อุปกรณ์ให้อาหารจะช่วยกระตุ้นจิตใจแมวและควรใช้เพื่อป้องกันการกินอาหารมากเกินไปในกรณีที่ให้แบบไม่จำกัด
• เจ้าของแมวต้องหาวิธีอื่นที่จะแสดงความรักความเอาใจใส่เช่น เล่นเกม หรือพูดกับแมว
กล่องที่ 2 เกร็ดสำหรับพัฒนานิสัยการกิน

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับจำนวนของมื้ออาหารที่ไม่เหมาะสม อาหาร และการให้อาหารตามต้องการจะทำให้กิจวัตรของแมวต้องขึ้นกับกิจวัตรของเจ้าของแล้ว การที่แมวเป็นสัตว์ที่มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนและมีเจ้าของที่เวลามีการตื่นนอนหรือกลับมาบ้านเปลี่ยนไปมาจะสร้างความเครียดในการใช้ชีวิตให้กับแมวเป็นอย่างมาก

ในการทดลองเพื่อสาธิตให้ดูว่าตารางชีวิตของเจ้าของแมวมีความสำคัญต่อแมวอย่างไร มีการศึกษาอย่างน้อยสองกรณีได้หาความสำคัญของการมีกิจวัตรที่แน่นอนและคาดเดาได้ต่อชีวิตของแมว การศึกษาทั้งสองพบว่ารูปแบบการให้อาหาร แสง ความร้อน ความสะอาด การมีสังคมที่ผิดไปจากปกติจะส่งผลให้แมวมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความเครียดมากขึ้น การศึกษาหนึ่งพบว่าแมวที่ต้องอยู่กับกิจวัตรที่เอาแน่นอนไมได้จะมีระดับ urine cortisol สูงขึ้น มีพฤติกรรมการสำรวจลดลง และมีความตกใจตามด้วยการหลบมากขึ้น 12 ในอีกการศึกษาหนึ่งที่มีความผิดปกติของกิจวัตรประจำวันเช่นเดียวกัน พบว่าแมวมีการปัสสาวะนอกกระบะทรายมากขึ้นร้อยละ 60 และมีการขับถ่ายนอกกระบะทรายขึ้นถึง 10 เท่า 13 ผลที่ได้มีความสำคัญมากเพราะมันได้แสดงให้เห็นว่าความแปรปรวนในชีวิตประจำวันที่แมวในการศึกษานี้ต้องพบเจอซึ่งไม่ต่างอะไรจากแมวเลี้ยงทั่วไป นอกจากการไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลาแล้ว แมวเลี้ยงยังต้องพบการการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนอันเป็นผลจากคนเช่น แสง ความร้อน การมีสิ่งเร้า และการสัมผัสจากมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อแมวถ่ายอุจจาระนอกกระบะทราย เจ้าของแมวมักพยายามหาสาเหตุของความเครียดที่มีได้หลากหลาย แต่แท้จริงแล้วอาจเกิดจากการขาดกิจวัตรที่แน่นอน หากมองจากแง่มุมเรื่องความไม่แน่นอนทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การให้อาหารจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะมันเป็นส่วนที่ความต้องการของคนและแมวไม่เหมือนกัน มันยังเป็นจุดที่ง่ายที่สุดในการปรับปรุง ในหลายครั้งที่ปัญหาการทะเลาะกันของแมวและการทำลายข้าวของในบ้านสามารถแก้ไขได้โดยการให้แมวสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างอิสระ สิ่งอื่นที่ต้องคำนึงถึงคือบริเวณที่วางอาหารภายในบ้าน (รูป 5)

Owners need to find other ways to show care, such as playing hunting games with their cat.
รูป 7 เจ้าของต้องแสดงการดูแลเอาใจใส่ผ่านวิธีอื่นเช่นการเล่นเกมกับแมว © Shutterstock

เจ้าของมักกังวลกับการให้แมวเข้าถึงอาหารอย่างอิสระเพราะคาดว่าแมวจะประสบภาวะโรคอ้วนได้ ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อการเข้าถึงอาหารจำเป็นต้องออกแรงผ่านอุปกรณ์การให้อาหารที่ทำให้แมวกินได้ช้าลง (รูป 6) และอาหารมีปริมาณโปรตีนสูง แมวจะกินอาหารเพื่อชดเชยโปรตีนตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นหากทำให้แมวกินอาหารได้ช้าพอที่ร่างกายจะดูดซึมโปรตีนจนถึงระดับที่เหมาะสมแล้ว แมวจะไม่ได้รับอาหารมากจนเกินไป แมวที่เลี้ยงในบ้านส่วนมากจะประสบปัญหาโรคอ้วนจากการที่ไม่ค่อยทำกิจกรรม ปัญหานี่สามารถแก้ได้โดยการเพิ่มสิ่งเร้าในสภาพแวดล้อมของแมวร่วมกับการควบคุมอาหารซึ่งได้ผลดีกว่าการลดอาหารเพียงอย่างเดียว

การให้แมวเข้าถึงอาหารอย่างอิสระผ่านอุปกรณ์การให้อาหารจะช่วยให้แมวได้มีประสบการณ์การหาอาหารที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น สามารถลดความเครียดและความหงุดหงิดของแมวลงได้ อย่างไรก็ตามเจ้าของบางคนอาจรู้สึกไม่ดีเพราะขาดโอกาสที่จะได้แสดงความเอาใจใส่เลี้ยงดูแมว ทางแก้ไขที่จะเป็นผลดีกับทั้งเจ้าของและแมวก้อคือการให้อาหารผ่านการละเล่น ยกตัวอย่างเช่นการใช้ของเล่นลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา (รูป 7) ที่เริ่มด้วยการให้แมวสะกดรอยตามของเล่นที่ผูกไว้ปลายไม้ไปตามที่ต่างๆ และจบลงด้วยการให้รางวัลเป็นขนม

โดยสรุปแล้ว เจ้าของแมวมักจะใช้ค่านิยมเดียวกับคนในการเลี้ยงแมวโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการให้อาหารและการกิน สัตวแพทย์ต้องสามารถให้ข้อมูลเจ้าของเกี่ยวกับเรื่องที่ควรและไม่ควรปฏิบัติ ดังที่ปรากฏใน (กล่อง 2) การสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของแมวและเจ้าของไม่ยากนักหากเจ้าของเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคนและสัตว์ ความเข้าใจในพฤติกรรมพื้นฐานของแมวจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงและเจ้าของเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และนำไปสู่สายสัมพันธ์ที่สมบูรณ์และน่าพึงพอใจ

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำแบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE Credit ได้ที่นี่

ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Levine GN, Allen K, Braun LT, et al. Pet Ownership and Cardiovascular Risk; a scientific statement from the American Heart Association. Circulation 2013;127(23):2353-2363.
  2. Chan V, Fatjo J, Bowen J. The impact of the dog’s behavior profile on owner satisfaction and lifestyle. In Proceedings, IRSEA congress 2014.
  3. Hamburg ME, Finkenauer C, Schuengel C. Food for love: the role of food offering in empathic emotion regulation. Front Psychol 2014;5;32.
  4. Bradshaw JWS. The evolutionary basis for the feeding behavior of domestic dogs (Canis familiaris) and cats (Felis catus). J Nutr 2006;136(7 Suppl):1927S-1931S.
  5. Houpt KA. Ingestive behavior: food and water intake. In Domestic Animal Behavior, Ames, Iowa; Blackwell Publishing 2005;329-334.
  6. Horwitz D, Soulard Y, Junien-Castagna A. The feeding behavior of the cat. In: Encyclopedia of Feline Nutrition. Aimargues, Royal Canin; 2008;439-474.
  7. Fitzgerald BM. Diet of domestic cats and their impact on prey populations. In: Turner DC, Bateson P (eds.) The domestic cat: the biology of its behavior. Cambridge: Cambridge University Press 1988;123-144.
  8. Jiang P, Josue J, Li X, et al. Major taste loss in carnivorous mammals. Proc Natl Acad Sci 2012;109(13);4956-4961.
  9. Xia L, Weihua L, Hong W, et al. Cats lack a sweet taste receptor. J Nutr 2006;136:1932S-1934S.
  10. Watson T. Palatability: feline food preferences. Vet Times 2011;41(21): 6-10.
  11. Church SC, Allen JA, Bradshaw JWS. Frequency-dependent food selection by domestic cats: a comparative study. Ethology 1996;102:495-509.
  12. Carlstead K, Brown J, Strawn W. Behavioral and physical correlates of stress in laboratory cats. App Anim Behav Sci 1993;38;143-158.
  13. Stella JL, Lord LK, Buffington CA. Sickness behaviors in response to unusual external events in healthy cats and cats with feline interstitial cystitis. J Am Vet Med Assoc 2011;238;67-73.
Jon Bowen

Jon Bowen

Dr. Bowen จบการศึกษาจาก Royal Veterinary College ในปี 1992 และใช้เวลาหลายปีในการเป็นสัตวแพทย์ในคลินิกสัตว์เลี้ยง อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 28.3 เผยแพร่แล้ว 20/11/2021

เมื่อใดที่เราควรพิจารณาให้อาหารเปียก

อาหารกึ่งแห้งและอาหารเม็ดสำหรับสัตว์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันแต่...

โดย Jess L. P. Benson และ Megan L. Shepherd

หมายเลขหัวข้อ 28.3 เผยแพร่แล้ว 31/03/2021

โรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและอาหาร   ในสุนัข

เมื่อสัตวแพทย์พบสุนัขที่แสดงอาการป่วยอย่างรุนแรง อาจมองข้าม...

โดย Giacomo Biagi