วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 31.1 Other Scientific

แนวทางการรักษาแมวที่มีอาการคัน

เผยแพร่แล้ว 29/04/2021

เขียนโดย Jay Korbelik

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Română , Español , English , 한국어 และ Українська

สัตวแพทย์ Jay Korbelik ได้ให้คำแนะนำที่มีหลักฐานจากงานวิจัยรับรองในการรักษาแมวที่มีอาการคันซึ่งในวงการสัตวแพทย์ถือว่ามีทางเลือกในการรักษาน้อยกว่าในสุนัข (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)

ภาพแสดงอัตราส่วนการกระจายตัวของรอยโรคในแมวที่มีอาการแพ้ของผิวหนังจากภาวะภูมิไวเกิน

ประเด็นสำคัญ

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีในแมว(feline atopic dermatitis)ทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติ อาการทางคลินิกที่พบและการวินิจฉัยตัดโรคผิวหนังอื่นที่เป็นไปได้ออก


แมวที่มีอาการคันมักมาด้วยรอยโรคที่หลากหลายตั้งแต่รอยถลอกบริเวณศีรษะและ/หรือคอ ขนร่วงแบบสมมาตรจากการทำร้ายตนเอง โรคผิวหนังอักเสบมิลิเอริ หรือ eosinophilic granulomatous complex


การรักษา atopic dermatitis ด้วยยาในแมวนั้นมีข้อจำกัดมากกว่าสุนัขและอาจต้องใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน


การควบคุมอาการของ atopic dermatitis ในแมวไม่สามารถใช้ยาเพียงชนิดเดียวได้ จำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน


บทนำ

อาการคันในแมวมักเกี่ยวข้องกับผิวหนังอักเสบที่มาจากภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity dermatides; HD) ซึ่งรวมถึงการแพ้น้ำลายหมัด (flea bite hypersensitivity; FBH) ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาหาร (food- induced hypersensitivity dermatitis; FIHD) และผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปี (atopic dermatitis; AD) 1 การใช้นิยามว่า atopic dermatitis ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเพราะอาการที่แสดงออก ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา และบทบาทของ IgE ในแมวนั้นแตกต่างจากใน atopy ในคนและสุนัขมาก 1 2 ความสำคัญของ IgE ในกระบวนการเกิดโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดและมีการศึกษาน้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของ IgE ใน AD ของแมว 3 นิยามโรคผิวหนังอักเสบจากภาวะภูมิไวเกินที่ไม่มีสาเหตุจากน้ำลายหมัดและอาหาร(non-flea, non-food induced hypersensitivity dermatides; NFNFIHD)บางครั้งถูกใช้เพื่อแสดงอาการนี้ มีรายงานว่า AD ในแมวเป็นสาเหตุที่พบมากเป็นอันดับสองของ HD 4 จากการศึกษาหนึ่งพบว่าความชุกของโรคผิวหนังในแมวคิดเป็นร้อยละ 12.5 2 และพบว่าแมวพันธุ์ Abyssinian Devon Rex และแมวพันธุ์ท้องถิ่นมีรายงานการเกิดโรคมากเกินความเป็นจริง อาการทางคลินิกมักเริ่มแสดงอาการที่แมวอายุน้อย(น้อยกว่า 3ปี) 5 แม้ว่าจะมีการศึกษาหนึ่งกล่าวว่าแมวที่เป็น AD ร้อยละ 22 มีอายุเกิน 7 ปี 2 และในการศึกษาเดียวกันยังพบว่าร้อยละ 93 ของแมวที่เป็น AD พบว่าเจ้าของว่าสังเกตเห็นอาการคันและจากการตรวจเส้นขนด้วยวิธี trichogram ในแมวที่เหลืออีกร้อยละ 7 พบว่ามีการหักของเส้นขนที่สัมพันธ์กับอาการคัน ร้อยละ 80 ของแมวในการศึกษานี้มีอาการคันที่ไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล

แมวที่เป็น HD จะมาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าต่อไปนี้ : รอยถลอกจากการเกา (excoriation) บริเวณศีรษะและ/หรือคอ (รูป 1) ขนร่วงแบบสมมาตรจากการทำร้ายตนเอง โรคผิวหนังอักเสบมิลิเอริ หรือ eosinophilic granulomatous complex 1 2 อาการอื่นที่อาจพบได้แก่ pododermatitis รอยแดงบริเวณใบหน้า รังแค รวมไปถึงหูอักเสบชนิดที่มีขี้หูมาก 3 5 การหาสาเหตุของ HD นั้นไม่สามารถทำได้จากการวิเคราะห์อาการทางคลินิกแต่จากการศึกษาหนึ่งพบว่าแมวที่ป่วยด้วยโรค FIHD มักพบรอยโรคบริเวณศีรษะและคอ ส่วนแมวที่ป่วยด้วยโรค FBH จะพบรอยโรคที่ด้าน dorsal ของลำตัวมากกว่าเช่นสะโพกและหาง 1 อย่างไรก็ตามตำแหน่งของรอยโรคที่พบไม่ได้มีนัยยะทางสถิติ รูปที่ 4 แสดงตำแหน่งรอยโรคที่พบได้บ่อยของผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุจากภาวะภูมิไวเกิน(HD) ที่มีสาเหตุแตกต่างกัน

โรค AD ในแมวปัจจุบันทำการวินิจฉัยโดยการพิจารณาจากประวัติและอาการที่แสดงออกร่วมกับการตัดความเป็นไปได้ของสาเหตุอื่น 5 สัตวแพทย์ยังจำเป็นต้องตัดความเป็นไปได้ของ FBH ด้วยการป้องกันปรสิตภายนอกอย่างเหมาะสมและสำหรับแมวที่แสดงอาการโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลควรทำการทดลองอาหารอย่างน้อย 8 สัปดาห์เพื่อตัดสาเหตุ FIHD ออก 5การวินิจฉัยและรักษา AD ในแมวอาจเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายแม้ในสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์จากสาเหตุดังนี้
ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัย AD ในแมวที่แน่นอนเมื่อเทียบกับสุนัข 6
ทางเลือกในการรักษา AD ในแมวนั้นมีจำกัด
การป้อนยาในแมวทำได้ยาก 5

บทความนี้จะกล่าวถึงทางเลือกในการใช้ยาบางชนิดเพื่อการควบคุมอาการคันที่เกิดจาก AD ในแมว

 

 

รอยถลอกจากการเกา(excoriation) ที่ศีรษะและคอของแมวที่ป่วยด้วย AD

รูป 1 รอยถลอกจากการเกา(excoriation) ที่ศีรษะและคอของแมวที่ป่วยด้วย AD © Dr. Vincent Defalque, North West Veterinary Dermatology Services Ltd.

 

 

รอยโรค indolent ulcer บริเวณริมฝีปากบนซึ่งพบได้มากในกลุ่มอาการ eosinophilic granuloma complex

รูป 2 รอยโรค indolent ulcer บริเวณริมฝีปากบนซึ่งพบได้มากในกลุ่มอาการ eosinophilic granuloma complex © Dr. Jay Korbelic

รอยโรค eosinophilic plaque ในแมวซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยของ eosinophilic granuloma complex

รูป 3 รอยโรค eosinophilic plaque ในแมวซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยของ eosinophilic granuloma complex © Dr. Tyler Udengerg, North West Veterinary Dermatology Services Ltd.

ภาพแสดงอัตราส่วนการกระจายตัวของรอยโรคในแมวที่มีอาการแพ้ของผิวหนังจากภาวะภูมิไวเกิน

รูป 4 ภาพแสดงอัตราส่วนการกระจายตัวของรอยโรคในแมวที่มีอาการแพ้ของผิวหนังจากภาวะภูมิไวเกิน (ดัดแปลงจาก 1 ) © Veterinary Dermatology/Redrawn by Sandrine Fontègne

ยากลุ่ม corticosteroids

ยากลุ่ม corticosteroids ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการรักษา AD ในแมวจากสาเหตุที่พบผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ในแมวน้อยกว่าในสุนัข 5 ถึงแม้จะมีรายงานว่าแมวที่เป็น AD มีการตอบสนองได้ดีต่อยากลุ่มนี้ 5 แต่มีการศึกษาหนึ่งพบว่ามีแมวเพียงร้อยละ 55 ที่มีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยาทางระบบโดยที่ไม่ได้ทำการประเมินผลของชนิดของยา ขนาด และระยะเวลาในการรักษา 2 ยังไม่มีรายงานถึงวิธีที่ดีที่สุดในการลดขนาดของยากลุ่ม corticosteroids ในแมวแต่วิธีที่นิยมคือให้ขนาดเริ่มต้นการรักษาเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์จากนั้นทำการลดขนาดทุก 1-2 สัปดาห์จนกระทั่งสามารถให้ในขนาดที่ต่ำที่สุดทุกวันเว้นวันโดยที่ควบคุมอาการได้และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด 7 แนะนำให้ใช้ prednisolone ในแมวมากกว่า prednisone เพราะมี bioavailability สูงกว่ามาก (ร้อยละ 100 และร้อยละ 21 ตามลำดับ) 8 ในการทดลองหนึ่งพบว่าการใช้ methylprednisolone ขนาด 1.41 mg/kg q24 h หรือ triamcinolone ขนาด 0.18 mg/kg q24h ช่วยยับยั้งอาการคันในแมวที่มีอาการได้ร้อยละ 90.6 ภายใน 7-14 วัน ในขณะที่ prednisolone ขนาด 1 mg/kg q24h ช่วยยับยั้งอาการคันในแมวที่มีอาการได้เพียงร้อยละ 45.5 หลังจาก 28 วัน 7 นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ methylprednisolone ขนาด 0.54 mg/kg q48h หรือ triamcinolone ขนาด 0.08 mg/kg q48h ได้ผลดีในการควบคุมอาการคันระยะยาว

ผลข้างเคียงของยากลุ่ม corticosteroids อาจพบ cutaneous atrophy congestive heart failure iatrogenic hyperadrenocorticism รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน(diabetes mellitus) 9 การศึกษาในเบื้องต้นพบว่า dexamethasone มีผลเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเบาหวานสูงกว่า prednisolone ในขนาดที่เท่ากัน 10 

ในกรณีที่ต้องการใช้ยารักษาเป็นระยะเวลานานไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม corticosteroids ชนิดฉีดเช่น methylprednisolone acetate แต่ควรใช้ชนิดกินเพราะมีความแม่นยำในขนาดของยาและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า 9 นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีแต่ยังไม่เข้าใจแน่ชัดเรียกว่า steroid tachyphylaxis หรือการดื้อยาสเตียรอยด์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสัตว์ได้รับยาเป็นระยะเวลานาน สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนวิธีบริหารยา 9 ยากลุ่ม corticosteroids ชนิดทาเช่น mometasone furoate และ hydrocortisone aceponate มีรายงานว่าสามารถควบคุมอาการคันได้ดีในแมวบางตัวและสามารถลดการใช้สเตียรอยด์แบบกินได้ 2 9

ยา cyclosporine

Cyclosporine อยู่ในกลุ่ม calcineurin inhibitor ที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันโดยมีเป้าหมายที่ภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ 9 งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า cyclosporine มีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยในการรักษาแมวที่เป็น HD เมื่อใช้ขนาด 7 mg/kg q24h PO เป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ 2 11 12 13 การศึกษาหนึ่งพบว่าแมวที่ได้รับยา cyclosporine ร้อยละ 70 สามารถลดการให้ยาได้เป็นวันเว้นวันหลังจากได้รับขนาดเริ่มต้นไป 4 สัปดาห์ และอีก 4 สัปดาห์หลังจากนั้นมีแมวร้อยละ 57 สามารถลดการให้ยาได้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 13 มีการทดลองเพื่อประเมินผลของการให้ยา cyclosporine ความเข้มข้น 50 mg/mL เข้าใต้ผิวหนังโดยเริ่มที่ขนาด 2.5-5 mg/kg วันละครั้งจนเหลือวันเว้นวัน พบว่าให้ประสิทธิภาพในการรักษาแมวที่เป็น AD ได้น่าพอใจซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งหากไม่สามารถป้อนยาแมวได้ 14 

ไม่แนะนำให้ทำการตรวจหาระดับ cyclosporine ในกระแสเลือดเพราะระดับที่ตรวจได้ไม่มีความสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อยา 9 ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารซึ่งรวมถึงการอาเจียน ถ่ายเหลว น้ำลายไหลมากและเบื่ออาหาร  9 11 12 ที่อาจนำไปสู่ภาวะ hepatic lipidosis 9 ผลข้างเคียงที่พบมักไม่รุนแรงจนถึงขั้นที่ต้องหยุดการให้ยาจากในการศึกษา 11 12 การให้ยาร่วมกับอาหารเล็กน้อยหรือแช่แข็งยาก่อนให้อาจช่วยลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้ 15 สัตวแพทย์บางคนแนะนำให้ใช้ยารูปแบบน้ำที่แช่เย็นเพื่อลดผลข้างเคียงแต่ผู้เขียนบทความไม่พบว่ามีการศึกษาความอยู่ตัวของยารูปแบบน้ำที่อุณหภูมิต่ำ 

บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อในระบบอย่างรุนแรงจาก Toxoplasma gondii ซึ่งมีโอกาสเกิดได้ยาก 2 9 แนะนำให้ตรวจหาระดับ titer ต่อ T. gondii ก่อนเริ่มทำการรักษาด้วย cyclosporine 2 และขณะทำการรักษาด้วย cyclosporin แมวไม่ควรได้รับอาหารดิบหรืออนุญาตให้ออกไปจับสัตว์เล็กนอกบ้าน 2 นอกจากนี้ยังควรตรวจเชื้อไวรัสเอดส์แมว (feline immunodeficiency virus; FIV) และเชื้อไวรัสลิวคีเมียแมว (feline leukemia virus; FeLV)ด้วย 9 สัตวแพทย์หลายคนยังแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าชีวเคมี และตรวจปัสสาวะ (urinalysis) ก่อนเริ่มการรักษารวมถึงตรวจซ้ำอีกทุก 6-12 เดือนขณะทำการรักษา 9 

 

 

Jay Korbelik

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีในแมวนั้นไม่สามารถควบคุมอาการได้โดยการใช้ยาเพียงชนิดเดียวและจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน สัตวแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดอย่างรอบคอบเพราะเป็นโรคที่รักษาให้หายไม่ได้และต้องได้รับยาตลอดชีวิต

Jay Korbelik

ยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน

การใช้ยาแอนตี้ฮิสตามีนเพื่อควบคุมอาการคันในแมวที่เป็น AD ไม่ได้มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพมากนักรวมถึงขนาดยาที่แนะนำยังมีความหลากหลาย ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงต่อสัตว์ค่อนข้างน้อยแต่มีประสิทธิภาพที่ไม่สูง 2 16 17 ในยากลุ่มนี้มีเพียง cetirizine ที่ได้รับการประเมินประสิทธิภาพอย่างกว้างขวางโดยในการศึกษาหนึ่งพบว่าแมวร้อยละ 41 มีอาการคันลดลง 16 แต่ในอีกการศึกษาหนึ่งพบว่ามีแมวเพียงร้อยละ 6 ที่ตอบสนองดีต่อยาและร้อยละ 34 ตอบสนองบางส่วน 2 อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติในการลดลงของความคันระหว่างแมวที่ได้รับยา cetirizine และยาหลอก(placebo) 17 การศึกษาแบบย้อนหลังพบว่ามีแมวเพียงร้อยละ 5 ตอบสนองดีต่อยา loratadine และร้อยละ 42 มีการตอบสนองบางส่วน โดยในการศึกษานี้มีจำนวนแมวค่อนข้างน้อย 2 มีการประเมินประสิทธิภาพของ cyproheptadine hydrochloride ว่าลดอาการคันได้อย่างน่าพึงพอใจเพียงร้อยละ 45 ของแมวป่วยเท่านั้น 18 และพบผลข้างเคียงซึ่งได้แก่ กินอาหารมาก ซึม ร้อยโวยวาย พฤติกรรมแสดงความรัก และอาเจียน ในแมวป่วยร้อยละ 40 

ยา oclacitinib

Oclacitinib เป็นยากลุ่ม Janus kinase inhibitor ที่นิยมใช้เพื่อควบคุมอาการคันในสุนัขและสามารถใช้เป็นยานอกข้อบ่งใช้(off label)ในแมวได้โดยที่ยังมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในแมวไม่มากนัก การศึกษาเภสัชน์จลนศาสตร์ของยาพบว่าต้องให้ยาในแมวในขนาดที่สูงกว่าและมีระยะเวลาระหว่างมื้อยาสั้นกว่าสุนัข 19 การศึกษาหนึ่งพบว่า oclacitinib ลดอาการคันได้ในแมวร้อยละ 51 และรอยโรคตามตัวของแมวที่เป็น AD ลดลงร้อยละ 61 เมื่อให้ขนาด 1mg/kg q12h 20 สรุปได้ว่ายานี้ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ methylprednisolone โดยที่ methylprednisolone มีประสิทธิภาพสูงกว่าเล็กน้อย 

แมวสามารถทนต่อยา oclacitinib ได้ดี แต่ในการทดลองหนึ่งพบว่าแมว 4 จาก 14 ตัว มีค่าการทำงานของไตสูงขึ้นเล็กน้อยหลังใช้ยาไป 4 สัปดาห์ 20 ในอีกการทดลองหนึ่งเพื่อประเมินความปลอดภัยของยาพบผลข้องเคียงต่อระบบทางเดินอาหารในแมวจำนวนไม่นากนัก เมื่อให้ในขนาด 2 mg/kg q12h 21 สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องคือการตรวจพบค่า fructosamine สูงขึ้นมื่อแมวได้รับ oclacitinib แต่ยังอยู่ในช่วงปกติ ยังต้องมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยในระยะยาวในแมวเพิ่มเติม

ยา maropinant

Maropitant เป็นยา neurokinin-1 receptor antagonist ที่ใช้ระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนในแมว การออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและการคันของยานี้เชื่อว่าเกิดจากความสามารถในการยับยั้งการทำงานของ substance P โดยจับกับตัวรับ 22 ในการทดลองหนึ่งพบว่าแมวที่ได้รับ maropitant ในขนาด 2.22 mg/kg q24h เป็นเวลา 4 สัปดาห์มีอาการทางคลินิกดีขึ้นรวมถึง pruritus score เกือบทุกตัวยกเว้นแมวเพียง 1 ตัว 22 ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้ในแมวจัดอยู่ในระดับดีถึงดีเยี่ยมในแมวร้อยละ 83.3 โดยบางตัวอาจพบผลข้างเคียงคือภาวะ sialorrhea ที่สามารถหายเองได้ 

Palmitoylethanolamide(PEA)

PEA เป็นสารตามธรรมชาติที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและการแพ้ 23 24 โดยจับกับ cannabinoid receptor ที่ส่วนปลายและลดการเกิด degranulation ของ mast cell 23 การศึกษานำร่องในแมวที่เป็น eosinophilic granuloma/plaque พบว่าหลังการรักษาด้วย co-micronized PEA เป็นเวลา 30 วันช่วยลดความรุนแรงของรอยโรคและอาการคันในแมวได้มากกว่าร้อยละ 60 23 ในอีกการศึกษาหนึ่งทำการให้ ultramicronized PEA(PEA-um) ขนาด 15 mg/kg q24h ร่วมและหลังการรักษาด้วย methylprednisolone ระยะสั้นพบว่าช่วยเสริมฤทธิ์ในการลดอาการคันและทำให้แมวกลับมามีอาการของ HD ช้าลง 24 มีรายงานว่า PEA สามารถทำให้แมวปลอดอาการโดยไม่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 6 สัปดาห์และไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงแต่อาจพบความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหารอย่างไม่รุนแรงบ้างในบางราย 

สรุป

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีในแมวไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาเพียงชนิดเดียวและต้องใช้ยารวมถึงวิธีการรักษาหลายชนิดร่วมกัน ในบทความนี้เจาะจงเฉพาะทางเลือกในการใช้ยารักษา AD ในแมวโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้(allergen-specific immunotherapy) ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาโรคนี้ โรค AD ในแมวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต สัตวแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการรักษา นอกจากนี้เกณฑ์การวินิจฉัย พยาธิกำเนิดและแนวทางเพิ่มเติมในการรักษาโรคนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป 

 

 

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ต.ค. - 15 ธ.ค. 2022


ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1.  Hobi S, Linek M, Marignac G, et al. Clinical characteristics and causes of pruritus in cats: a multicentre study on feline hypersensitivity associated dermatoses. Vet Dermatol 2011;22:4006-4013.

  2. Ravens PA, Xu BJ, Vogelnest LJ. Feline atopic dermatitis: a retrospective study of 45 cases (2001–2012). Vet Dermatol 2014;25:95-e28.

  3. Foster AP, Roosje PJ. Update on feline immunoglobulin E (IgE) and diagnostic recommendations for atopy. In: August JR (ed.) Consultations in Feline Internal Medicine, 4th ed. Philadelphia: WB Saunders 2004;229-238.

  4. O’Dair HA, Markwell PJ, Maskell I. An open prospective investigation into aetiology in a group of cats with suspected allergic skin disease. Vet Dermatol 1996;7:193-201.

  5. Marsella R. Hypersensitivity disorders. In: Miller WH, Griffin CE, Campbell KL, eds. Muller and Kirk’s Small Animal dermatología. 7th ed. St Louis, MO: Elsevier. 2013;363-431.

  6. DeBoer DJ, Hillier A. The ACVD task force on canine atopic dermatitis (XV): fundamental concepts in clinical diagnosis. Vet Immunol Immunopathol 2001;81:271-276.9.

  7. Ganz EC, Griffin CE, Keys DA, et al. Evaluation of methylprednisolone and triamcinolone for the induction and maintenance treatment of pruritus in allergic cats: a double-blinded, randomized, prospective study. Vet Dermatol 2012;23:387-e72.

  8. Graham-Mize CA, Rosser EJ. Bioavailability and activity of prednisone and prednisolone in the feline patient. Vet Dermatol 2004;15(s1):7-10.

  9. Scott DW, Miller WH, Griffin CE. Dermatologic therapy. In: Miller WH, Griffin CE, Campbell KL (eds). Muller and Kirk’s Small Animal Dermatology. 7th ed. St Louis, MO: Elsevier. 2013;108-183.

  10. Lowe AD, Graves TK, Campbell KL, et al. A pilot study comparing the diabetogenic effects of dexamethasone and prednisolone in cats. J Am Anim Hosp Assoc 2009;45(5):215-224.

  11. King S, Favrot C, Messinger L, et al. A randomized double-blinded placebo-controlled study to evaluate an effective ciclosporin dose for the treatment of feline hypersensitivity dermatitis. Vet Dermatol 2012;23(5):440-e84. 

  12. Roberts ES, Speranza C, Friberg C, et al. Confirmatory field study for the evaluation of ciclosporin at a target dose of 7.0 mg/kg (3.2 mg/lb) in the control of feline hypersensitivity dermatitis. J Feline Med Surg 2016;18(11):889-897. 

  13. Steffan J, Roberts E, Cannon A, et al. Dose tapering for ciclosporin in cats with non-flea-induced hypersensitivity dermatitis. Vet Dermatol 2013;24(3):315-e70. 

  14. Koch SN, Torres SMF, Diaz S, et al. Subcutaneous administration of ciclosporin in 11 allergic cats – a pilot open-label uncontrolled clinical trial. Vet Dermatol 2018;29(2):107-e43.

  15. Bachtel JC, Pendergraft JS, Rosychuk RA, et al. Comparison of the stability and pharmacokinetic in dogs on modified ciclosporin capsules stored at -20 degrees C and room temperature. Vet Dermatol 2015;26(4):228-e250.

  16. Griffin JS, Scott DW, Miller WH Jr, et al. An open clinical trial on the efficacy of cetirizine hydrochloride in the management of allergic pruritus in cats. Can Vet J 2012;53(1):47-50.

  17. Wildermuth K, Zabel S, Rosychuk RA. The efficacy of cetirizine hydrochloride on the pruritus of cats with atopic dermatitis: a randomized, double-blind, placebo-controlled, crossover study. Vet Dermatol 2013;24(6):576-581, e137-138. 

  18. Scott DW, Rothstein E, Beningo KE, et al. Observations on the use of cyproheptadine hydrochloride as an antipruritic agent in allergic cats. Can Vet J 1998;39(10):634-637.

  19. Ferrer L, Carrasco I, Cristòfol C, et al. Pharmacokinetic study of oclacitinib maleate in six cats. Vet Dermatol 2020;31(2):134-137. 

  20. Noli C, Matricoti I, Schievano C. A double-blinded, randomized, methylprednisolone-controlled study on the efficacy of oclacitinib in the management of pruritus in cats with non-flea nonfood-induced hypersensitivity dermatitis. Vet Dermatol 2019;30(2):110-e30.

  21. Lopes NL, Campos DR, Machado MA, et al. A blinded, randomized, placebo-controlled trial of the safety of oclacitinib in cats. BMC Vet Res 2019;15(1):137.

  22. Maina E, Fontaine J. Use of maropitant for the control of pruritus in non-flea, non-food-induced feline hypersensitivity dermatitis: an open-label, uncontrolled pilot study. J Feline Med Surg 2019;21(10):967-972.

  23. Scarampella F, Abramo F, Noli C. Clinical and histological evaluation of an analogue of palmitoylethanolamide, PLR 120 (co-micronized Palmidrol INN) in cats with eosinophilic granuloma and eosinophilic plaque: a pilot study. Vet Dermatol 2001;12(1):29-39. 

  24. Noli C, Della Valle MF, Miolo A, et al. Effect of dietary supplementation with ultramicronized palmitoylethanolamide in maintaining remission in cats with non-flea hypersensitivity dermatitis: a double-blind, multicentre, randomized, placebo-controlled study. Vet Dermatol 2019;30(5):387-e117. 

Jay Korbelik

Jay Korbelik

ร.Korbelik เป็นสัตวแพทย์ชาวแคนาดา สำเร็จการศึกษาจาก University of Queenland ในปี 2005 และเข้าฝึกปฏิบัติเป็นสัตวแพทย์หมุนวนตามแผนกที่ Sakatoon's Western College อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 31.1 เผยแพร่แล้ว 13/01/2023

โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหารในแมว

การที่เจ้าของแมวหลายคนกล่าวโทษว่าอาหารคือตัวการที่ทำให้แมวมีอาการทางผิวหนังนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่

โดย Sarah E. Hoff และ Darren J. Berger

หมายเลขหัวข้อ 31.1 เผยแพร่แล้ว 07/09/2022

Cutaneous lymphoma ในแมว

Cutaneous lymphoma ในแมวพบได้ยากแต่ถือเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตซึ่งจำเป็นต้องบรรจุไว้ใน้ข้อวินิจฉัยแยกแยะในโรคผิวหนังหลายกรณี

โดย Hannah Lipscomb และ Filippo De Bellis

หมายเลขหัวข้อ 31.1 เผยแพร่แล้ว 23/08/2022

การใช้ Elizabethan collar ในแมว

การใช้ Elizabethan collar ในแมวมักทำเพื่อป้องกันการเกาจากอาการคัน แต่การสวมใส่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแมว

โดย Anne Quain