การนำนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออกโดยรบกวนสัตว์ป่วยน้อยที่สุด
ทางเลือกในการนำนิ่วในทางเดินปัสสาวะออกโดยรบกวนผู้ป่วยน้อยที่สุดนั้นในปัจจุบันได้กลายเป็น...
หมายเลขหัวข้อ 29.2 Other Scientific
เผยแพร่แล้ว 01/07/2021
สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español และ English
ภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นอาการแสดงที่สัตวแพทย์สัตว์เล็กพบได้บ่อย ดร. Rafael จะมาแบ่งปันแนวคิดในการจัดการกรณีนี้ และอภิปรายถึงเทคนิคใหม่ๆ ที่สามารถใช้ในการรักษาได้ (แปลโดย น.สพ. พีระ มานิตยกุล)
การวินิจฉัยภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยเริ่มด้วยการซักประวัติอย่างละเอียด ตามด้วยการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) และการตรวจคลื่นเสียงวินิจฉัย (ultrasound)
การทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่คุมการปัสสาวะ (urethral sphincter mechanism incompetence; USMI) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอย รักษาได้ด้วยการให้ยาระยะยาว
หลอดไตอยู่ผิดตำแหน่ง (ectopic ureter) เป็นสาเหตุของปัสสาวะกะปริบกะปรอยที่พบได้มากในสุนัขเด็ก มักมีความเกี่ยวข้องกับ USMI การรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวอาจให้ผลที่ดีในบางราย
กระเพาะปัสสาวะที่ทำงานผิดปกติและการบาดเจ็บที่นำไปสู่ปัสสาวะกะปริบกะปรอยมักไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา การสอดท่อปัสสาวะผ่านหน้าท้องแบบถาวร (permanent suprapubic catheter) จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของสุนัขดีขึ้นได้
ปัสสาวะกะปริบกะปรอยคืออาการของสุนัขที่มีปัสสาวะหยดออกจากทางเดินร่วมปัสสาวะโดยปราศจากการเบ่ง ไม่มีรูปแบบพฤติกรรมขับปัสสาวะที่ชัดเจนและไม่มีรีเฟลกซ์ขับปัสสาวะ (micturition reflex) การระบุภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยที่แท้จริงจะทำให้ความเป็นไปได้ของสาเหตุการเกิดพยาธิสภาพแคบลง รวมถึงทำให้จัดการได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
โดยมากแล้วผู้เขียนบทความมักเริ่มด้วยการซักประวัติจากเจ้าของโดยละเอียดเพื่อที่จะช่วยในการหาขอบเขตของโรค เช่น
หลังจากรวบรวมข้อมูลประวัติสัตว์ป่วยได้แล้วจะสามารถวางแผนการวินิจฉัยแยกแยะได้ตรงจุดมากขึ้น รายชื่อโรคที่ใช้ในการวินิจฉัยแยกแยะอาจค่อนข้างยาวตามที่ระบุในตาราง 1 ทางผู้เขียนบทความแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัยแยกแยะโรคต่อไปนี้เพื่อที่จะหาสาเหตุของภาวะกะปริบกะปรอยได้สะดวก ง่าย และประหยัดมากที่สุด
การวินิจฉัย | สุนัขเด็ก |
สุนัขเต็มวัย |
รวม | ||
---|---|---|---|---|---|
เพศเมีย | เพศผู้ | เพศเมีย | เพศผู้ | ||
Sphincter deficiency (USMI) | 64 | 12 | 235 | 9 | 320 |
Ectopic ureter (EU) | 90 | 10 | 12 | 4 | 116 |
ไม่ได้รับการวินิจฉัย | 6 | 5 | 12 | 10 | 33 |
USMI + EU | 15 | 0 | 2 | 0 | 17 |
โรคต่อลูกหมาก | 0 | 0 | 0 | 12 | 12 |
USMI + กล้ามเนื้อ detrusor เสื่อม | 8 | 1 | 3 | 0 | 12 |
กล้ามเนื้อ detrusor เสื่อม (DI)** | 2 | 0 | 4 | 5 | 11 |
เนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะ | 0 | 0 | 5 | 5 | 10 |
ปัญหาจากระบบประสาท | 0 | 0 | 3 | 6 | 9 |
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ |
2 | 0 | 5 | 1 | 8 |
ภาวะ Pseudo-/Hermaphroditismus | 5 | 1 | 1 | 0 | 7 |
Fistula (ureterovaginal/vesicovaginal) | 0 | 0 | 4 | 0 | 4 |
เนื้องอกที่ vagina | 0 | 0 | 2 | 0 | 2 |
หนองบริเวณเชิงกราน | 0 | 0 | 1 | 0 | 1 |
ฝีเย็บ (perineum) ฉีกขาด | 0 | 0 | 0 | 1 | 1 |
รวม |
192 | 29 | 289 | 53 | 563 |
การเก็บตัวอย่างปัสสาวะโดยการเจาะดูด (cystocentesis) เพื่อการตรวจปัสสาวะและการหาเชื้อแบคทีเรียจะเหมาะสมที่สุด หากพบว่าค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะน้อยกว่า 1.020 ควรทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของ PU/PD พึงระลึกว่าสุนัขที่ปกติมีโอกาสพบความแปรปรวนของค่าความถ่วงจำเพาะปัสสาวะในแต่ละวันได้จึงควรเก็บตัวอย่างหลายครั้ง การติดเชื้อในระบบปัสสาวะมีโอกาสน้อยที่จะเป็นสาเหตุของภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอย แต่สามารถทำให้อาการของสุนัขแย่ลงและส่งผลให้ตอบสนองต่อการรักษาปัสสาวะกะปริบกะปรอยด้วยยาไม่ดีเท่าที่ควร
การตรวจอัลตราซาวด์เป็นวิธีที่ปลอดภัย ประหยัดและไม่สร้างความเจ็บปวด ใช้ในการตรวจรูปร่างลักษณะของไต การวางตัวของท่อไต (ureter) ขนาดและตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะรวมถึงสิ่งที่อยู่ภายใน รวมไปถึงความสามารถในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย การตรวจควรทำขณะที่สัตว์ป่วยยังไม่ได้ขับปัสสาวะออกและอีกครั้งหลังจากที่สัตว์ขับปัสสาวะออกมาแล้ว หากทำได้ควรตรวจขณะที่สัตว์กำลังเบ่งปัสสาวะด้วย
สัตวแพทย์สามารถตรวจปริมาณปัสสาวะที่เหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากขับถ่ายได้ ปัสสาวะที่หลงเหลืออยู่หลังขับถ่าย (residual urine volume) วัดได้จาก 3 ทิศทางคือแนว longitudinal transverse และ sagittal คูณด้วย correction factor ที่มีค่า 0.625 จากนั้นหารด้วยน้ำหนักตัวของสุนัขเพื่อให้ได้ปริมาตรที่แม่นยำมากขึ้น*** หากพบว่ามีปัสสาวะที่หลงเหลืออยู่หลังขับถ่ายมากกว่า 4 มล. ต่อน้ำหนักตัวเป็นกก. จะแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาทหรือมีปัญหาการอุดตัน 1
ตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะภายในช่องท้องสามารถตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ พบว่าสุนัขเพศเมียที่มี USMI มักมีกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ในตำแหน่งค่อนไปด้านหลัง กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะคล้ายลูกแพร์ หรือ bladder neck ทำมุมที่ผิดปกติกับ proximal urethra สุนัขเพศเมียร้อยละ 80-87 ที่ได้รับการยืนยันว่ามีปัญหาในการปัสสาวะมักพบความผิดปกติเหล่านี้ 2 การตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถหาระดับความรุนแรงภาวะ hypermotility ของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้ด้วย 3 (รูป 1)
สาเหตุหลักของปัสสาวะกะปริบกะปรอยในสุนัขเด็กมักเกิดจากหลอดไตเจริญผิดที่(ectopic ureter)ที่สามารถวินิจฉัยโดยการอัลตราซาวด์ได้ง่าย 4 ลักษณะที่พบได้จากากรตรวจอัลตราซาวด์คือ ureter มีการวางตัวเข้าไปที่ intramural ขอผนังกระเพาะปัสสาวะ (รูป 2) กรวยไตและหลอดไตขยาย การที่ jet phenomenon มีแนวทางที่เบี่ยงไปหรือไม่มีเลย
ปรากฏการณ์ Jet Phenomenon เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้เมื่อปัสสาวะไหลเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านหลอดไตจากการอัลตราซาวด์ ปรากฏการณ์นี้จำเป็นต้องมีการบีบตัวของหลอดไตที่ปกติร่วมกับการผลิตปัสสาวะที่มากเพียงพอ บางครั้งอาจต้องให้สุนัขเด็กหรือสุนัขที่โตเต็มไวกินน้ำก่อนทำการตรวจอัลตราซาวด์ อีกวิธีหนึ่งคือการให้ยา furosdemide ขนาด 1-2 mg/kg เข้าใต้ผิวหนังหรือหลอดเลือดดำ ภาพอัลตราซาวด์แนวยาวตามลำตัว (longitudinal) จะพบการพุ่งของปัสสาวะ (jet phenomenon) ไปยังส่วนท้ายด้านล่าง(caudoventral)ของกระเพาะปัสสาวะหลังจากฉีด furosemide ภายใน 1 นาทีหากฉีดเข้าเส้นเลือดดำและ10 นาทีหากฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ภาพอัลตราซาวด์แนวตัดขวาง (transverse) จะเห็นการพุ่งของปัสสาวะเป็นเส้นโค้งคล้ายกับดาบ (รูป 3a และ3b)
สุนัขที่มีภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยอาจไม่พบภาพอัลตราซาวด์ดังที่ปรากฏด้านบน สาเหตุอื่นที่อาจพบได้เมื่อทำการอัลตราซาวด์ได้แก่นิ่ว เนื้องอก กระเปาะ (diverticular) หรืออาจพบความผิดปกติที่หายากเช่นการเจริญที่ผิดปกติของทางเดินร่วมระบบปัสสาวะจากภาวะกะเทยแบบเทียม (psueudohermaphroditism)
ภาวะ USMI ไม่สามารถวินิจฉัยยืนยันได้โดยขั้นตอนการตรวจภาพวินิจฉัยต่างๆไม่ว่าจะเป็น computer tomography (CT), magnetic resonance imaging (MRI) การส่องกล้อง(endoscopy) หรือการวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิค (urodynamic) 2 หากซักประวัติแล้วพบว่าสุนัขมีความน่าจะเป็นที่จะเกิด USMI สัตวแพทย์อาจลองทำการรักษาเพื่อเป็นการวินิจฉัยโดยการให้ยากลุ่ม sympathomimetics หรือฮอร์โมน (ในรายที่ทำหมันแล้ว) สัตว์ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาหากว่าสาเหตุของปัสสาวะกะปริบกะปรอยมาจากอย่างอื่น แต่การที่สุนัขตอบสนองการรักษาด้วยยาหรือฮอร์โมนไม่ดียังไม่สามารถตัด USMI ออกจาสาเหตุได้
การตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันหรือตัดความน่าจะเป็นโรคหลอดไตเจริญผิดที่ (ectopic ureter; EU) แนะนำให้ใช้ CT scan 5 แต่มีรายงานว่าวิธี cystourethroscopy ได้ผลดีพอกัน 6 โดยส่วนตัวของผู้เขียนบทความนิยมใช้วิธีที่สองหากการตรวจอัลตราซาวด์ให้ผลที่คลุมเครือหรือหากสงสัยว่าสุนัขมี USMI ร่วมกับ EU 7 เพื่อที่จะหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ผู้เขียนบทความแนะนำให้ใช้การฉีดสีย้อนเข้าไปในทางเดินปัสสสาวะร่วมกับรังสีวินิจฉัยหากไม่สามารถทำ endoscopy ได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นสุนัขเด็ก การทำ urethrography ในสุนัขเพศผู้และ vaginourethrography ในสุนัขเพศเมีย (รูป 4a และ 4b) มีประโยชน์อย่างมากในการตรวจหาความผิดปกติทางกายวิภาคของท่อปัสสาวะ การตรวจยูโรไดนามิคสามารถทำได้ในโรงพยาบาลสัตว์เพื่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้นจึงไม่เป็นที่นิมยม
ผู้เขียนบทความเลือกใช้ยากลุ่ม sympathomimetics และฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการที่ผลการรักษามีอัตราความสำเร็จสูงและผลข้างเคียงน้อย ในการรักษา USMI ยาจะออกฤทธิ์โดยการปรับค่าแรงดันเปิดท่อปัสสาวะ (passive urethral resistance) ในช่วง bladder filling phase ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ประสิทธิภาพของการรักษาถูกประเมินโดยวิธียูโรไดนามิค 8 9 10
ยา Phenylpropanolamine และ ephedrine hydrochloride อยู่ในกลุ่ม sympathomimetics ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้กับสุนัขในหลายประเทศของทวีปยุโรป การศึกษาแบบย้อนหลังหลายฉบับพบว่า phenylpropanolamine ให้ผลการรักษาภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยร้อยละ 75-97 ของจำนวนสัตว์ป่วย และ ephedrine ให้ผลการรักษาร้อยละ 74-93 1112การศึกษาผลของ phenylpropanolamine และ pseudoephredine ซึ่งเป็น diasteromer ของ ephedrine ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียพบว่าได้ผลไม่ดีเท่าและมีผลข้างเคียงมากกว่า 8 ผลข้างเคียงของยากลุ่ม sympathomimetics ที่มีรายงานได้แก่ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) 8 9 10 11 12 การเฝ้าติดตามผลข้างเคียงของยาในสัตว์ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มหาวิทยาลัย Utrecht ช่วงปี 1990-1996 พบผลข้างเคียงร้อยละ 24 ในการใช้ยา ephedrine และร้อยละ 9 ในการใช้ยา phenylpropanolamine (ข้อมูลไม่ได้ตีพิมพ์)
ขนาดของ Phenylpropanolamine คือ 1-1.5 mg/kg q 8-24 h PO และ ephedrine คือ 1-4 mg/kg q8-12h PO ในการศึกษาหนึ่งพบว่าแม้จะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการให้ phenylpropanolamine แบบให้เพียงครั้งเดียวโดยตัวยาค่อยๆถูกปล่อยออกมากับ (single dose slow-release) กับแบบที่ให้เป็นประจำทุกวัน 12 แต่พบว่าความต้านทานแรงดันเปิดของท่อปัสสาวะลดลงหลังจากที่ให้ยาเป็นประจำทุกวันนาน 1สัปดาห์ 9 คาดว่าความไวของตัวรับจะลดลงเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน แต่จากการวิเคราะห์แบบย้อนหลังโดยผู้เขียนบทความไม่พบว่ายาให้ผลน้อยลงตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีของการรักษาโดย phenylpropanolamine ขนาด 1.5 mg/kg q12h ยาทั้งสองชนิดให้ผลในสุนัขเพศผู้ไม่ดีเท่าในสุนัขเพศเมีย
Estriol ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยในสุนัขเพศเมียเกือบทั่วยุโรป ต่างกับกับเอสโตรเจนตัวอื่นเช่น estradiol และ diethylstilbestrol ที่เข้าจับกับตัวรับเป็นเวลานานกว่า หากใช้ estriol ในขนาดที่แนะนำไม่พบว่าเหนี่ยวนำให้เกิดการกดไขกระดูก 13 estriol ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสุนัขเพศเมียที่ทำหมันแล้วเท่านั้นที่ขนาด 1 mg/ตัว q24 h อย่างไรก็ตามขนาดที่เหมาะสมสำหรับสุนัขแต่ละตัวอาจแตกต่างกันไป การใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้นจะเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงเหมือนกับสุนัขเป็นสัด (สุนัขเพศผู้เข้าหา อวัยวะเพศบวมแดงรวมถึงมีสารคัดหลั่ง) 14 การตรวจโดยวิธียูโรไดนามิค 10 15 พบว่า estriol ใช้ระยะเวลานานกว่า sympathomimetics ที่จะเห็นผลการรักษา ความสำเร็จในการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 61 หลังจากใช้ยาไปหลายสัปดาห์ 14
เอสโตรเจนส่งผลต่อการจับตัวกับตัวรับของยา sympathomimetics และส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน 16 จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนบทความพบว่าการใช้ยาสองชนิดร่วมกันให้ผลการรักษาในสุนัขที่ไม่ตอบสนองด้วยการใช้ยา sympathomimetics เพียงอย่างเดียว แต่การตรวจโดยวิธียูโรไดนามิคพบว่า urethral occlusion pressure สูงสุดลดลงภายใน 1 สัปดาห์หลังจากให้ยาสองชนิดร่วมกันเทียบกับการให้ estriol เพียงอย่างเดียว 15
Rafael Nickel
Gonadotropin Releasing Hormone (GnRH) และสารคล้ายคลึงเช่น buserelin มีการทดลองใช้รักษาสุนัขที่มีภาวะ USMI 17 จากการศึกษาหนึ่งพบว่าสุนัขเพศเมีย 7 จาก 11 ตัวกลับมาปัสสาวะได้เป็นปกติหลังจากได้รับการรักษาด้วยสารคล้ายคลึงของ GnRH 17 แต่การตรวจโดยวิธียูโรไดนามิคไม่พบการเปลี่ยนแปลงของ urethral occlusion pressure และยาได้ผลน้อยกว่า phenylpropanolamine สิ่งที่น่าสนใจคือสุนัขเพศเมียบางตัวในกลุ่ม placebo กลับมาปัสสาวะเป็นปกติเช่นเดียวกัน มีรายงานบอกเล่า (anectodal report) ผลของการฝัง deslorelin ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ในการฝังเพื่อทำหมันสุนัขเพศผู้ในบางประเทศ ว่าให้ผลดีในการรักษาสุนัขที่มีภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยเช่นกัน 18
สุนัขเพศเมียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ให้ผลการรักษาทางยาที่ลดลงเรื่อยๆ หรือเกิดภาวะดื้อยา อาจมีความจำเป็นในการพิจารณาวิธีรักษาทางกายภาพเพื่อเพิ่มความดันเปิดท่อปัสสาวะ (urethral resistance)
เจ้าของสุนัขหลายคนอาจเลือกการส่องกล้องเพื่อฝังสารชีวภาพ (bioimplant) เข้าไปที่ชั้น mucosa ของ urethra (รูป 5a และ 5b) ทำการวางยาสลบสุนัขแบบทั้งตัวจากนั้นฝังวัสดุ implant แบบฉีดได้เช่นคอลลาเจนหรือโพลีเมอร์ 3-4 ตำแหน่งลักษณะเป็นวงโดยรอบ จุดที่ทำจะอยู่ที่ห่าง1.5 เซนติเมตรจาก trigone ผ่านการส่องกล้อง (cystoscopy) รายงานความสำเร็จในการรักษามีความแตกต่างกันไป การศึกษาระยะยาวพบว่าสุนัขเพศเมีย 27 ตัวจาก 40 ตัวคิดเป็นร้อยละ 68 มีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาเป็นระยะเวลา 1-64 เดือน (เฉลี่ยที่ 17เดือน) ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยและมีอาการปานกลางคือปัสสาวะเป็นเลือด (hematuria) ร่วมกับการปวดเบ่ง (stranguria) ที่หายได้เอง 19 ปัจจุบันสาร bioimplant อย่างคอลลาเจนไม่สามารถหาได้แล้ว ผู้เขียนจึงเลือกใช้ dextranomer copolymer ร่วมกับกรดไฮยาลูรอนิกมาตั้งแต่ปี 2012 การศึกษาย้อนหลังในสุนัขเพศเมียจำนวน 50 ตัวไม่พบความแตกต่างของการดำเนินไปของโรคระหว่างวัสดุทั้งสองชนิด แต่ตัวเลขทางสถิติบ่งชี้ว่าการแก้ไขซ้ำมีอัตราความสำเร็จต่ำที่ร้อยละ 58 20
การผ่าตัดแก้ไข USMI ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันคือการใส่หูรูดท่อปัสสาวะเทียม (artificial urethral sphincter; AUS) ลักษณะเป็นห่วงซิลิโคนใส่เข้าไปคล้องรอบ urethra เพื่อทำให้เกิดการอุดตันบางส่วน 21 ห่วงจะต่อกับ catheter ซึ่งนำไปสู่จุดเปิดบริเวณชั้นใต้ผิวหนังทำให้สามารถปรับแรงดันปัสสาวะให้เหมาะสมกับสัตว์ป่วยแต่ละตัวได้โดยการฉีดน้ำเกลือปริมาณเล็กน้อยเข้าไป (รูป 6) อัตราความสำเร็จแตกต่างกันไปในสุนัขแต่ละตัวโดยบางตัวสามารถปัสสาวะได้เป็นปกติในขณะที่บางตัวยังคงมีปัสสาวะกะปริบกะปรอยแต่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากการใส่ AUS คือปัสสาวะขัด (dysuria) ปัสสาวะเป็นเลือด (hematuria) และการติดเชื้อ ความร่วมมือของเจ้าของในการปรับแรงดันผ่านจุดเปิดส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาเช่นเดียวกัน การศึกษาในสุนัขเพศเมียจำนวน 27 ตัวพบว่ามี 2ตัวที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจนต้องทำการผ่าตัดเอา AUS ออก ในขณะที่อีก 22 ตัวมีรายงานความพึงพอใจผลของการผ่าตัดจากเจ้าของสุนัข 21 ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนบทความในระยะเวลากว่า 4 ปี การใส่ AUS ในสุนัขเพศเมียจำนวน 40 ตัวและเพศผู้จำนวน 25 ตัว พบว่าได้ผลการรักษาและผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับที่กล่าวมาข้างต้น ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สุดที่พบได้จากการใส่ AUS คือเกิดการอุดตันของ urethra บริเวณที่คล้องห่วงไว้ซึ่งจำเป้นต้องเอาออก ทางเลือกการรักษาสำหรับภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมาคือการฉีด bioimplant ผ่าน endoscope หรือการทำ colposuspension และ/หรือ urethropexy หรือ vasopexy ซึ่งได้รับความนิยมน้อยกว่า 22 23
ภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยในบางครั้งอาจเกิดจาก hyperreflexia ของกล้ามเนื้อ detrusor ซึ่งการทำงานที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อ detrusor ในช่วงที่กระเพาะปัสสาวะอยู่ใน filling phase โดยที่ไม่มีการตอบสนองที่เหมาะสมจาก urethra ส่งผลให้มีการรั่วของปัสสาวะออกมา การวินิจฉัยยืนยันจำเป็นต้องใช้วิธี urethrocystometry อย่างต่อเนื่อง 10 สุนัขบางตัวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา USMI ด้วยยาที่กล่าวไว้ด้านบนอาจตอบสนองต่อ oxybutynin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะ detrusor instability ในคน ขนาดยาที่ใช้ในสุนัขคือ 0.3 mg/kg q8h การใช้ยาเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะท้องผูกและมีการผลิตน้ำตาที่ลดลง
การตรวจพบ ectopic ureter ผ่านการตรวจภาพวินิจฉัยหรือการส่องกล้องอาจไม่ได้แปลว่าการผ่าตัดรักษาจะแก้ไขภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยได้เสมอไป สาเหตุอาจมาจากการที่สุนัขเพศเมียหลายตัวมี USMI ร่วมด้วย 7 24 ความสำเร็จในการแก้ไขโดยการผ่าตัดจะเพิ่มมากขึ้นหากตรวจพบลักษณะดังนี้ 7
หากว่าตรวจไม่พบลักษณะที่กล่าวมาด้านบนครบ มีโอกาสที่ความผิดปกติจะเกิดจาก USMI มากกว่า สัตวแพทย์สามารถทดลองรักษาโดยการให้ phenylpropanolamine แม้แต่ในลูกสุนัข ผู้เขียนบทความแนะนำให้รักษาทางยาจนกว่าสุนัขจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จึงเปลี่ยนวิธีการรักษา หากผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจผู้เขียนจะเลือกใช้การจี้ด้วยเลเซอร์ผ่าน endoscope (เนื้อหาอยู่ด้านล่าง) และหากจำเป็นจะทำร่วมกับการฉีดด้วย bioimplant เข้าที่ชั้น submucosa
การจี้ด้วยเลเซอร์ผ่าน endoscope (รูป 7) เป็นทางเลือกการรักษา ectopic ureter ที่น่าสนใจแต่ให้ผลการรักษาที่ดีเฉพาะในสุนัขเพศผู้ 25 ทำโดยการตัดขวางผนังของ ectopic ureter ด้าน medial ด้วยเลเซอร์เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ สุนัขเพศเมียมักจะมี intramural ureter ที่ยาวอาจทำให้กลไกกล้ามเนื้อหูรูดเสียไปขณะทำการจี้ ส่งผลให้อัตราความสำเร็จต่ำกว่าการรักษาโดยการผ่าตัด 26 extramural ectopic ureter ซึ่งพบได้ยากไม่สามารถแก้ไขโดยการจี้ได้
การรักษาโดยการผ่าตัดแบบดั้งเดิมในการรักษา ectopic ureter คือการทำ ureteroneocystotomy ทำโดยการมัด (ligate) หรือตัดบางส่วนของ ureter ที่เจริญผิดที่และนำส่วน ureter ที่ปกติสอดเข้าไปยังชั้น mucosa ของกระเพาะปัสสาวะและเย็บตรึงไว้ 26 ตำแหน่งในการยึด ureter ไม่ได้ส่งผลสำคัญในการรักษาแต่ทักษะในการทำให้เรียบเนียนและการเย็บจะลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นการตีบตันบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้มาก (รูป 8) การสอดท่อปัสสาวะแบบ antegrade หลังผ่าตัดคาไว้ 24 ชั่วโมงจะช่วยลดปัญหาแผลแตก และปัสสาวะในช่องท้อง (uroabdomen) ได้ การศึกษาหนึ่งพบว่าสุนัขร้อยละ 72 กลับมาปัสสาวะเป็นปกติ และผู้เขียนบทความทำการศึกษาย้อนหลังพบว่าสุนัขเพศเมียจำนวน 20 ตัวให้ผลสำเร็จในการรักษาร้อยละ 80 27
กระเพาะปัสสาวะที่ไม่สามารถบีบเอาปัสสาวะออกมักนำไปสู่ภาวะกะปริบกะปรอยโดยมีรูปแบบที่เรียกว่าปัสสาวะเล็ดราด (overflow incontinence) บางครั้งสุนัขอาจแสดงว่าสามารถปัสสาวะได้ถึงแม้กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวได้ไม่ดีเป็นเพราะความดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น สาเหตุของโรคที่ซ่อนอยู่อาจเกิดจากปัญหาของ intervertebral disc หรือการบาดเจ็บของไขสันหลังซึ่งสามารถแก้ไขได้ แต่การที่กระเพาะปัสสาวะขยายตัวเป็นเวลานานซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันทั้งทางกายวิภาคหรือความสามารถในการทำงานจะส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ย้อนกลับไม่ได้ของกล้ามเนื้อ detrusor ภาวะกระเพาะปัสสาวะเป็นอัมพาตแบบไม่มีสาเหตุอาจเกิดได้เช่นกัน
การจัดการภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดหรือมีการพยากรณ์โรคแบบไหนจะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือการนำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง การบีบกระเพาะปัสสาวะอาจได้ผลในแมวแต่ในสุนัขส่วนใหญ่มักตอบสนองได้ไม่ดีนัก อาจต้องมีการสวนท่อปัสสาวะเป็นครั้งคราวหรือแบบถาวร การสวนแบบครั้งคราวอาจสร้างความลำบากในการปฏิบัติและการเดินทาง เจ้าของสุนัขอาจสวนเองได้หากเป็นสุนัขเพศผู้ แต่ในสุนัขเพศเมียที่ตัวเล็กจะยากกว่ามาก การสวนปัสสาวะแบบครั้งคราวเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการติดเขื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตหรือการุณยฆาตได้ 28
การสวนท่อปัสสาวะบริเวณ suprapubic มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยและเจ้าของสุนัขยอมรับได้ง่าย ทำได้โดยการผ่าเปิดช่องท้องขนาดเล็กมากเพื่อสอด foley catheter เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นทำการฝังท่อส่วนที่เหลือไว้ที่ชั้น subcutaneous ผู้เขียนบทความชอบใช้ foley catheter ความยาว 30 เซนติเมตรโดยให้อยู่ในตัวสุนัข 20 เซนติเมตร ตำแหน่งที่ catheter ออกมานอกร่างกายสุนัขควรอยู่ด้านหน้าสะดือไม่ว่าสุนัขจะมีขนาดเท่าใด (รูป 9) การฝังท่อไว้ในชั้น subcutaneous ระยะทางยาวจะช่วยลดการติดเชื้อย้อนกลับเข้าไปข้างในร่างกายได้ และทำให้การปิดของแผลดี ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมาคลุมท่อไว้จนลักษณะเป็นอุโมงค์ในเวลาต่อมาซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเปลี่ยน foley catheter ครั้งถัดไป แนะนำให้เปลี่ยนท่อทุก 3 เดือนเพื่อความสะอาดและง่ายต่อการปฏิบัติ หากใช้ท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ > 12 Charr./Fr. จะทำให้การถอดและใส่ท่อง่ายขึ้น กระเปาะที่อยู่ปลายท่อซึ่งยึดให้อยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะจะถูกทำให้พองด้วย normal saline ปริมาณ 3-15 mL การดูแลประจำวันประกอบไปด้วยการดูแลท่อและการดูดระบายปัสสาวะออกวันละหลายครั้ง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือท่อหลุดหรือเสียหาย ร้อยละ 15 และการติดเชื้อร้อยละ 20 29 ผู้เขียนบทความได้ทำการผ่าตัดสำเร็จแก่สัตว์ป่วย 35 ตัว ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยสัตว์ป่วย 14 ตัวมีสาเหตุมาจากระบบประสาทและอีก 21 ตัวมีสาเหตุมาจากเนื้องอกอุดตันบริเวณ urethra
* Holt PE. Urinary incontinence in dogs and cats. Vet Rec 1990;127:347-350.
** Suspected diagnosis or as a result of cystometry investigations.
*** Lisciandro GR, Fosgate GT. Use of AFAST Cysto-Colic View urinary bladder measurements to estimate urinary bladder volume in dogs and cats. J Vet Emerg Crit Care 2017;27(6):713-717.
ภาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอยในสุนัขเป็นปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขและเจ้าของ ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรงและไม่แปลกที่จะพบว่าสุนัขต้องหาเจ้าของใหม่หรือถูกการุณยฆาต การตรวจอัลตราซาวด์ในครั้งแรกจะทำให้พบสาเหตุการเกิดโรคหลายประการและทำการรักษาตามลำดับอย่างเหมาะสม สาเหตุที่มักพบได้บ่อยมีวิธีการรักษาที่หลากหลายซึ่งให้ผลการรักษาที่ยอมรับได้และมีผลข้างเคียงต่ำ
Rafael Nickel
Professor Nickel qualified from Hannover Veterinary School in 1983 and his career has spanned research, small animal practice and academia. อ่านเพิ่มเติม
ทางเลือกในการนำนิ่วในทางเดินปัสสาวะออกโดยรบกวนผู้ป่วยน้อยที่สุดนั้นในปัจจุบันได้กลายเป็น...
การป้องกันและการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะในแมวนั้นต้องอาศัยการจัดการในหลายปัจจัย
การตรวจคัดกรองภาวะปัสสาวะมีเลือดปน (hematuria) ในแมวสามารถทำได้โดยการเติม...
แม้ว่าการตรวจปัสสสาวะเกป็นการตรวจตามกิจวัตรทุกวันในสถานพยาบาลสัตว์เล็กก็ตาม...