บทนำ
การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal microbiota transplantation; FMT) เป็นเทคนิคที่นำจุลชีพในลำไส้ของผู้บริจาค (donor) ปลูกถ่ายไปยังผู้รับที่มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เพื่อปรับปรุงจุลชีพในลำไส้ของผู้รับ และช่วยลดความรุนแรงของโรค การรักษาด้วยแนวทางนี้มีการบันทึกไว้ในตำราการแพทย์ฉุกเฉินของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ.320 แต่ไม่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งมีการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุลชีพ (intestinal microbiome) และปัญหาความไม่สมดุลของจุลชีพ (dysbiosis) ภายในลำไส้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในศตวรรษนี้ การใช้ FMT ในการรักษาปัญหาสุขภาพของมนุษย์ มักใช้ในรายที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหารมากที่สุด แต่ปัจจุบันมีการนำเทคนิคการรักษานี้ไปใช้ในการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่ตับ (hepatic disorders) กลุ่มอาการความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญพลังงาน (metabolic syndrome) การรักษาการติดเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะ (treatment of antibiotic-resistant microbes) ปัญหาทางจิตเวช (psychiatric disorders) และปัญหาโรคอ้วน (obesity) 1,2 ส่วนในสัตว์ได้มีการพิสูจน์การใช้ประโยชน์ในลูกสุนัขที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบจากพาร์โวไวรัส (parvovirus enteritis) 3 และมีการนำไปใช้กับสุนัขที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง (chronic diarrhea) อีกด้วย 4,5 แต่ในแมวมีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ 6 ในขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำการใช้ที่อ้างอิงจากหลักฐาน หรือฉันทามติใดๆ เกี่ยวกับการคัดกรองผู้บริจาค ปริมาณการ FMT ที่เหมาะสม หรือแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน แต่เร็วๆนี้ เพิ่งมีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศขึ้นมา โดยมี Companion Animal Fecal Bank Consortium เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวโดยจะออกข้อกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันเร็วๆนี้ แม้จะไม่มีข้อตกลงร่วมกัน แต่ FMT ก็ถือเป็นแนวทางการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสุนัขที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง และมีศักยภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้ ในบทความนี้จะนำเสนอรายงานต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ FMT ในสุนัขที่มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร พร้อมกับอธิบายขั้นตอน และถกปัญหาเกี่ยวกับกรณีตัวอย่าง (clinical cases)
การปลูกถ่ายจุลชีพ (FMT) สำหรับความผิดปกติระบบทางเดินอาหาร
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น มีหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ FMT ในการรักษามีประโยชน์มากมาย หนึ่งในการศึกษาในลูกสุนัขที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบจากไวรัสพาร์โว (parvovirus enteritis) 3 โดยมีตัวอย่างลูกสุนัขจำนวน 66 ตัว จากโรงพยาบาลสัตว์จำนวน 2 แห่งที่มีการติดเชื้อพาร์โวไวรัส โดยแบ่งสุนัขออกเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม แล้วดำเนินการรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีมาตรฐานเพียงอย่างเดียว และรักษาด้วยวิธีมาตรฐานร่วมกับการใช้ FMT จากผลการทดสอบพบว่าการรักษาร่วมกับการใช้ FMT สามารถลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล และระยะเวลาการฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ (ระยะเวลาเฉลี่ย 3 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ต้องใช้เวลา 6 วัน) และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นในสุนัขกลุ่มที่ได้รับ FMT คิดจากสุนัขจำนวน 26 ตัวจากทั้งหมด 33 ตัว คิดเป็นร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นซึ่งรอดชีวิตจำนวน 21 ตัวจากทั้งหมด 33 ตัว คิดเป็นร้อยละ 64 แต่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ ในอีกการศึกษาหนึ่งทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระจากสุนัขที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลัน (acute diarrhea) จำนวน 18 ตัว ให้การรักษาด้วยการใช้ FMT เพียงอย่างเดียวพบว่าในการประเมินวันที่ 7 สามารถช่วยเพิ่มคะแนนอุจจาระ (fecal scores) ให้ดีขึ้นได้เทียบเท่ากับการใช้ยา metronidazole ในการรักษา และจนถึงการประเมินวันที่ 28 พบว่าสุนัขที่ได้รับการรักษาด้วย FMT ลักษณะของอุจจาระมีความสม่ำเสมอมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา metronidazole อย่างมีนัยยะสำคัญ 7 นอกจากนี้ FMT ยังช่วยในเรื่องการฟื้นฟูจุลชีพภายในลำไส้ให้กลับมาสู่ระดับที่ดีและเหมาะสมได้ ณ วันที่ 28 ในขณะที่สุนัขกลุ่มที่ได้รับยา metronidazole พบว่ายังมีการขาดสมดุลจุลชีพในลำไส้อยู่ (dysbiosis) เมื่อเทียบกับสุนัขสุขภาพดี และสุนัขกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย FMT เพียงอย่างเดียว แต่ทั้งนี้การศึกษาการรักษาด้วยการใช้ยาหลอกในสุนัขที่มีปัญหาท้องเสียเป็นเลือดแบบเฉียบพลันจำนวน 8 ตัว ไม่พบประโยชน์ในทางคลินิกจากการใช้ FMT เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก 8
ในส่วนที่เกี่ยวกับสุนัขที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง และ/หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้เรื้อรัง มีการเผยแพร่รายงานผู้ป่วย (case report) และรายงานกลุ่มผู้ป่วย (case series) ประเภทละ 1 รายงาน แสดงผลความสำเร็จเกี่ยวกับการรักษาด้วย FMT รวมถึงเผยแพร่บทคัดย่อทางวิทยาศาสตร์อีก 2 บท 4,5,9,10 ในรายงานกลุ่มผู้ป่วย สุนัขจำนวน 9 ตัวเป็นโรคลําไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease; IBD) ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการทดสอบด้วยอาหาร(to food trials) ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) หรือยาไซโคลสปอรีน (cyclosporine) 4.พบว่าภายหลังจากรักษาด้วยการใช้ FMT สุนัขมีอาการของ IBD (canine inflammatory bowel disease activity index; CIBDAI 11) ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ (แสดงในกล่องข้อความที่ 1) โดยพบว่าสุนัขจำนวน 7 ตัว จากทั้งหมด 9 ตัวที่เคยมี Fusobacterium spp. ในอุจจาระลดลงเมื่อเทียบกับอุจจาระของสุนัขที่เป็นผู้บริจาค FMT พบว่าภายหลังมีการเพิ่มขึ้นของ Fusobacterium spp. ในอุจจาระอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่ง Fusobacterium spp. เป็นจุลชีพที่เป็นตัวหลักในสร้างกรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acids; SCFA) และสำคัญเป็นอย่างมากในลำไส้ของสุนัขที่มีสุขภาพดี หากสุนัขมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้แบบเรื้อรัง (chronic canine enteropathies) (แสดงในกล่องข้อความที่ 2) มักเกิดความผิดปกติของสมดุลจุลชีพ และมีการสร้าง SCFA ลดลง 12 ในการศึกษาสุนัขที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง จำนวน 16 ตัว พบว่าการเสียสมดุลของจุลชีพในลำไส้ จึงให้การรักษาด้วย FMT ภายหลังจากการรักษา 1 สัปดาห์ สุนัขมี fecal dysbiosis index* ในระดับที่ดีขึ้น 10 ส่วนการศึกษาย้อนหลังจากบทคัดย่ออื่นๆ 5,9 จะกล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนถัดไป
กล่องข้อความที่ 1 ระบบคะแนน canine inflammatory bowel disease activity index หรือ CIBDAI ประกอบด้วย 6 พารามิเตอร์ ให้คะแนนตั้งแต่ 0-3 จากนั้นจึงนำคะแนนมารวมกัน
โดยกำหนดให้
0 หมายถึง มีความปกติ
1 หมายถึง มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
2 หมายถึง มีความเปลี่ยนแปลงเล็กปานกลาง
3 หมายถึง มีความเปลี่ยนแปลงมากอย่างรุนแรง
กล่องข้อความที่ 2 กรดไขมันสายสั้น (SCFA) คืออะไร?
การใช้ FMT ในแมวมีข้อมูลอย่างจำกัดในปัจจุบัน (แสดงในรูปภาพที่ 1) ปัจจุบันมีเพียงหนึ่งการรายงานการใช้ และตอบสนองต่อ FMT ในแมวที่มีปัญหาลำไส้ใหญ่อักเสบและเป็นแผล ชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา (non-responsive ulcerative colitis) 6