สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในลูกสัตว์แรกเกิด (main causes of neonatal mortality)
ในกรณีที่ลูกสุนัขเสียชีวิต การผ่าชันสูตรพลิกศพซาก (necropsy) ตามด้วยการศึกษาทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriological) จุลพยาธิวิทยา (histological) และ/หรือตรวจ PCR จะสามารถช่วยให้เราทราบถึงสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ซึ่งบ่อยครั้งมักเกิดจากหลายปัจจัย (multi-factorial) (กล่องข้อความที่ 2) มีจุลินทรีย์ก่อโรคจำเพาะ (specific pathogens) หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเสียชีวิต (ตารางที่ 3) แต่การติดเชื้อแบคทีเรียฉวยโอกาสที่ไม่จำเพาะ (non-specific opportunistic bacterial infections) ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicemia) และถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุของการตายในลูกสัตว์แรกเกิดร้อยละ 40-65 12 13 ลูกสัตว์แรกเกิดมักติดเชื้อหลักผ่านทางการกิน (oral route) และ/หรือรูเปิดเส้นเลือดสายสะดือ (open umbilical vessels) การติดเชื้อในกระแสโลหิตนั้นจะพัฒนาขึ้นกับการได้รับแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย (ทั้งจากสภาพแวดล้อมหรือจากแม่สุนัข) และ/หรือความอ่อนแอของตัวลูกสัตว์แรกเกิดเองหรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการ 4H (4H syndrome) ได้แก่ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (hypothermia)-ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)-ภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxia)-ภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง (hypovolemia) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การติดพยาธิ (โดยเฉพาะพยาธิตัวกลม (roundworms) พยาธิปากขอ (hookworms) และคอกซิเดีย (coccidia)) ซึ่งพยาธิก็เป็นปัจจัยหลักที่สามารถส่งผลโดยตรงทำให้เกิดการแย่งชิงสารอาหาร (direct competition for nutrient) และ/หรือก่อให้เกิดการท้องเสีย การติดเชื้อพยาธิ (parasitism) สามารถส่งผลทางอ้อมให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต (bacteremia) ได้ด้วย เช่น ตัวอ่อนพยาธิ Toxocara ที่สามารถเคลื่อนที่ผ่านออกจากทางเดินอาหารไปสู่ปอดผ่านทางตับได้ มีโอกาสจะทำให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย สุดท้ายนี้การได้รับการบาดเจ็บก็อาจเป็นสาเหตุได้ด้วยเช่นกัน อีกกรณีนึงที่อาจเป็นสาเหตุได้โดยไม่ได้ตั้งใจคือการที่เจ้าของสัตว์ป้อนนมอย่างรุนแรงหรือไม่อดทนพอ โดยเฉพาะว่ากรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นกับลูกสัตว์แรกคลอดที่ร่างกายอ่อนแอทำให้ปฏิกิริยาการกลืน (swallowing reflex) ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุทำให้สำลักนมได้ (inhalation of milk injuries) อุบัติเหตุที่เกิดจากแม่สุนัขก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน โดยลูกสัตว์แรกเกิดอาจโดนทับหรือกัดโดยแม่สุนัขซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมความเป็นแม่ที่ไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ความอ่อนแอของลูกสัตว์แรกเกิดเอง (จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) และภาวะอุณหภูมิต่ำ (hypothermia)) ก็มักเป็นปัจจัยกระตุ้นเบื้องต้น
กล่องข้อความที่ 2 ปัจจัยโน้มนำให้เกิดการตายในลูกสัตว์แรกเกิด (factors predisposing to death in newborn puppies)
ตารางที่ 3 การติดเชื้อจำเพาะเจาะจงที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลูกสัตว์แรกเกิด (อายุ 0-21 วัน) (specific infectious causes of neonatal death; 0-21 days of life)
การผ่าชันสูตรพลิกศพซากและการทดสอบเพิ่มเติม (necropsy and complementary tests)
ในกรณีที่ลูกสุนัขเสียชีวิต มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำการผ่าชันสูตรซาก แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่อาจส่งผลสำคัญต่อการลดคุณภาพของการผ่าชันสูตรพลิกศพซาก เช่น ในกรณีที่ไม่สามารถชันสูตรพลิกศพซากได้ทันทีหลังจากการเสียชีวิต ซากลูกสุนัขควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ส่วนการแช่แข็งนั้นไม่เหมาะสมเนื่องจากจะไปรบกวนการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) และอาจทำให้ผลการตรวจซากด้วยตาเปล่า (gross examination) หลังจากละลายน้ำแข็งเกิดความสับสนได้ การสังเกตซากด้วยตาเปล่า (gross observation) นั้นจะแสดงให้เห็นหลักฐานที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาจจะแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการย่อยนม (failure to ingest milk) (โดยจะพบกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ว่างเปล่า ถุงน้ำดีเต่ง มีขี้เทาคงค้าง (meconium retention)) เจอความผิดปกติแต่กำเนิดที่สำคัญ (congenital abnormality) (เช่น ลำไส้เล็กส่วนเจจูนัมไร้รูเปิดแต่กำเนิด (atresia jejuni)) หรือการเจอก้อนพยาธิขนาดใหญ่ (โดยอาจเห็นพยาธิในลำไส้หรือเจอแผลนูนที่ตับ (hepatic scars) ซึ่งบ่งบอกถึงการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิ Toxocara ) ภาพถ่ายของอวัยวะต่างๆหลังการเสียชีวิตจะช่วยให้สามารถทำการวิเคราะห์ย้อนหลังได้ (retrospective analysis) บ่อยครั้งพบว่าไม่มีรอยโรคจำเพาะเมื่อทำการชันสูตรพลิกศพแต่ควรเก็บตัวอย่างไปทำการทดสอบอื่นๆเพิ่มเติม ได้แก่ การศึกษาทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriology) จุลพยาธิวิทยา (histology) PCR และปรสิตวิทยา (parasitology) ซึ่งจะช่วยให้เราหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้
การเพาะเชื้อทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriological culture) สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการผ่าชันสูตรพลิกศพซากหลังการตายไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพราะไม่เช่นนั้นแบคทีเรียจะออกจากทางเดินอาหารและปนเปื้อนกับอวัยวะอื่นๆ วิธีคือให้ใช้ไม้ป้ายที่ปราศจากเชื้อ (sterile swab) ป้ายเข้าไปลึกๆในเนื้อเยื่อม้าม (splenic parenchyma) แล้วเก็บใน vial ที่ปราศจากเชื้อเช่นกัน ระมัดระวังการปนเปื้อนขณะเปิดผ่าเข้าช่องท้อง หรือจะเก็บเนื้อเยื่อม้ามทั้งชิ้นด้วยวิธีปราศจากเชื้อก็ได้เช่นกัน ในกรณี่จำเป็นอาจเก็บตัวอย่างในตู้เย็นก่อนส่งไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ภายใน 24 ชั่วโมง
เนื้อเยื่อที่จะใช้ศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา (histology) ควรเก็บใน 10% formalin (3.4% formaldehyde) โดยตัวอย่างไม่ควรหนามากกว่า 5 มม. และต้องผ่านกระบวนการ (ใช้เทคนิค paraffin-embedded) ภายใน 7 วันหลังจากเก็บตัวอย่างเพื่อให้การแปลผลของห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา (pathology laboratory) มีความแม่นยำที่สุด
การศึกษาทางปรสิตวิทยา (parasitology assessment) สามารถทำได้โดยการตรวจของที่อยู่ภายในลำไส้และทวารหนักด้วยตาเปล่า (gross examination of intestinal and rectal contents) แต่ก็สามารถใช้ตัวอย่างทางจุลพยาธิวิทยาช่วยได้เช่นกัน (เช่น พยาธิ Neospora และ Toxoplasma)
สุดท้ายนี้ ในกรณีที่ซากถูกแช่แข็งก่อนจะทำการผ่าชันสูตรพลิกศพและ/หรือมีสัญญาณแสดงถึงการเน่าเปื่อยของร่างกาย การใช้วิธี PCR จะเป็นทางเลือกในการตรวจสอบซากวิธีเดียวที่สามารถเชื่อถือได้ วิธี quantitative (real time) PCR จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเชื้อที่ก่อโรค (infectious agents) ดีที่สุด
สรุป (conclusion)
การดูแลลูกสุนัขแรกเกิดที่ป่วยนั้นจะขึ้นอยู่กับการพยาบาลที่เหมาะสม การให้สารน้ำเข้าสู่ร่างกายและการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าการรักษาทางการแพทย์ที่เจาะจงอื่นๆ การรักษาที่รวดเร็วนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จร่วมด้วยกับการป้องกันโรคที่เหมาะสมสำหรับลูกสัตว์ร่วมครอก (littermates) ทั้งหมด ในหลายๆกรณีอาการแสดงทางคลินิกก่อนการเสียชีวิตจะเกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และจะมีอาการคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะมีสาเหตุเกิดจากอะไรก็ตามและการรักษามักจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงควรใช้แนวทางเชิงรุกเพื่อควบคุมการเสียชีวิตของลูกสัตว์แรกเกิด และการไปเยี่ยมชมสถานที่เพาะพันธุ์สุนัขนั้นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการระเมินระบบการจัดการระหว่างคลอด ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการตั้งท้องและการจัดการตอนคลอด (pregnancy and whelping management) การฟื้นฟู (revival) และสารอาหารสำหรับลูกสัตว์แรกเกิด การรักษาสุขอนามัย และสภาวะแวดล้อมต่างๆ