วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 Other Scientific

การจัดการกับลูกสุนัขแรกเกิดที่ป่วย

เผยแพร่แล้ว 13/01/2023

เขียนโดย Sylvie Chastant-Maillard

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Español และ English

การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในลูกสุนัขหรือ fading puppy syndrome นั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทางสัตวแพทย์ โดยบทความนี้จะนำเสนอวิธีปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหานี้ (แปลโดย สพ.ญ.กรณิศ รักเกียรติ)

ลูกสุนัขที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ควรอยู่ในตู้อบ (incubator) ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างแม่นยำ

ประเด็นสำคัญ

ลูกสุนัขแรกเกิดที่มีแสดงอาการเจ็บป่วยควรจัดว่าเป็นภาวะกรณีฉุกเฉิน (emergency) เจ้าของสุนัขควรพาลูกสุนัขเข้ามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้


สิ่งสำคัญคือการเฝ้าติดตามและควบคุมสภาพแวดล้อมของลูกสัตว์แรกเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิ (temperature) ความชื้น (humidity) และสุขอนามัย (hygiene)


การพยาบาลลูกสัตว์ที่ดีซึ่งรวมถึง การให้อาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมและการกระตุ้นอุจจาระ/ปัสสาวะนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในลูกสุนัขได้


การติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicemia) นั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงระยะแรกเกิด แต่ทั้งนี้กลุ่มอาการ 4H (4H syndrome) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการป่วยและตายในลูกสัตว์แรกเกิดเช่นเดียวกัน


บทนำ

ลูกสุนัขแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 3 สัปดาห์นั้นมีความบอบบาง และด้วยสาเหตุบางประการลูกสัตว์แรกเกิดเหล่านี้เมื่อมีอาการป่วยจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 85 ของลูกสุนัขที่ตายภายในอายุ 1 เดือนจะมีอาการแสดงทางคลินิกก่อนเสียชีวิตน้อยกว่า 5 วัน ดังนั้นลูกสุนัขแรกเกิดที่ดูไม่สบายจึงถูกจัดเป็นภาวะฉุกเฉินทันทีที่เจ้าของสัตว์ติดต่อเข้ามาที่โรงพยาบาลสัตว์ นอกจากนี้การรักษามักทำก่อนการวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดที่แม่นยำ (precise etiology diagnosis) (หรือส่วนใหญ่อาจไม่ได้ทำการวินิจฉัยเลย) อาการแสดงทางคลินิกในลูกสัตว์นั้นมักไม่จำเพาะเจาะจง ได้แก่ การหายใจลำบาก (respiratory distress) ร้อง ท้องกาง (abdominal distension) และแสดงอาการเจ็บปวด ไม่มีความอยากอาหาร (anorexia) น้ำหนักลด อ่อนแรง และอุณหภูมิต่ำ (hypothermia) ทั้งนี้ไม่มีอาการใดที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นตัวบ่งชี้ทางพยาธิวิทยาของสาเหตุการตายที่แท้จริงได้

ปัจจัยเบื้องต้นที่ต้องพิจารณา (initial factors to consider)

สัตวแพทย์ควรแจ้งให้เจ้าของนำลูกสุนัขที่ป่วยรวมถึงลูกสุนัขร่วมครอก และแม่สุนัขเข้ามาที่โรงพยาบาลสัตว์ด้วยกันทั้งหมด การตรวจร่างกายสัตว์ทุกตัวในครอกจะช่วยให้สามารถระบุลูกสุนัขป่วยตัวอื่นได้อย่างรวดเร็ว การตรวจร่างกายแม่สุนัขอาจช่วยระบุภาวะต่างๆที่อาจมีผลต่อสุขภาพของลูกสุนัข เช่น มดลูกอักเสบ (metritis) เต้านมอักเสบ (mastitis) ผลิตน้ำนมไม่ได้/ผลิตน้ำนมได้น้อย (agalactia/hypogalactia) หัวนมบอด (invaginated teats) (ทำให้ลูกสุนัขดูดนมไม่ได้) หรือมีตุ่มน้ำใสที่ปากช่องคลอด (vulvar vesicles) ซึ่งบ่งชี้ถึงการติดเชื้อไวรัสเริมในแม่สุนัข (maternal herpesvirus infection) ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย หากเจ้าของสัตว์หมั่นสังเกตและชั่งน้ำหนักลูกสัตว์แรกเกิดแล้วนำกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโต (growth curves) มาด้วยก็จะเป็นประโยชน์กับลูกสัตว์มากขึ้น คำแนะนำที่เกี่ยวกับวิธีการขนส่งลูกสุนัขแรกเกิดที่ถูกต้องก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากลูกสัตว์แรกเกิดจะมีการผลิตความร้อนของร่างกายได้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นจึงควรรักษาอุณหภูมิแวดล้อมระหว่างการขนส่งไว้ที่ประมาณ 28 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงความร้อนที่มากเกินไปด้วย เพราะลูกสัตว์แรกเกิดนั้นไม่สามารถขยับหนีออกจากสิ่งที่ร้อนเกินไปได้ ฉะนั้นแผ่นให้ความร้อนที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ (microwavable heated pads) หรือขวดน้ำอุ่น (hot water bottles) จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง (hyperthermia) และป้องกันไม่ให้ผิวหนังไหม้(อีกทั้งขวดทรงกระบอกอาจจะกลิ้งและทับลูกสัตว์ได้ด้วย) ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง (hyperthermia) ไม่เพียงแต่จะรบกวนการประเมินอาการทางคลินิกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มกระบวนการเผาผลาญของลูกสุนัขและทำให้มีพลังงานดูกระฉับกระเฉงขึ้น (hyperactive) ทั้งนี้เพราะลูกสุนัขแรกเกิดที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงจะร้องและมีปฏิกิริยาต่างๆมากกว่าปกติ (energetic expenditure)

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลสัตว์แล้ว ผู้เขียนแนะนำให้ใช้มาตรการรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เนื่องจากลูกสัตว์แรกเกิดนั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่พัฒนายังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันลูกสัตว์จากการติดเชื้อในโรงพยาบาล (nosocomial infections) แนะนำว่าเวลาที่รอก่อนเข้าห้องตรวจควรสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยในขณะรอลูกสัตว์จะต้องไม่สัมผัสกับพื้นผิวใดหรือสัตว์ตัวอื่น การตรวจร่างกายควรทำบนพื้นที่ที่สะอาด แห้ง และมีการปรับอุณหภูมิจะดีกว่า (เช่น แผ่นให้ความร้อนที่ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28-35 องศาเซลเซียส) สวมถุงมือที่ปลอดเชื้อระหว่างตรวจ และตามหลักการแล้วสัตวแพทย์ควรสวมเสื้อผ้าใหม่ที่สะอาดด้วย

การตรวจร่างกายแม่สุนัข (clinical examination of the dam)

การตรวจร่างกายทั่วไป (general clinical examination) ควรรวมไปถึงการประเมินสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต (bacteremia) ยกตัวอย่างเช่น มีหลักฐานของการติดเชื้อที่ผิวหนัง หู หรือปาก (เช่น มีหินปูน) ในแม่สุนัขที่แสดงถึงแหล่งของแบคทีเรียหรือไม่ มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดที่มีกลิ่นเหม็นที่บ่งชี้ถึงการเกิดมดลูกอักเสบหรือไม่ ตรวจสอบเต้านมเพื่อดูว่ามีลักษณะของเต้านมอักเสบ (metritis) ดูการพัฒนาของเนื้อเยื่อเต้านมที่ไม่เพียงพอ และดูกายวิภาคของหัวนมเพื่อตรวจสอบว่าลูกสัตว์แรกเกิดสามารถดูดนมได้ง่ายหรือไม่ (รูปภาพที่ 1) ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรประเมินคะแนนความสมบูรณ์ร่างกาย (body condition score) ของแม่สุนัขเพื่อตรวจสอบความสามารถในการผลิตน้ำนมอย่างเพียงพอ รวมไปถึงควรประเมินพฤติกรรมความเป็นแม่ด้วย ได้แก่แม่สุนัขสนใจลูกสุนัขที่ร้องอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ควรระมัดระวังแม่สุนัขเมื่อจัดการกับลูกสุนัขเพราะแม่สุนัขที่มีพฤติกรรมความเป็นแม่ที่มากเกินไปอาจกัดได้

สัตวแพทย์ไม่ควรละเลยการตรวจสอบแม่สุนัขว่ามีการผลิตน้ำนมอย่างเพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกสุนัขอย่างเหมาะสม

รูปภาพที่ 1 สัตวแพทย์ไม่ควรละเลยการตรวจสอบแม่สุนัขว่ามีการผลิตน้ำนมอย่างเพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกสุนัขอย่างเหมาะสม มีหัวนมเพียงพอสำหรับลูกสุนัขและไม่มีลักษณะหัวนมบอด (invaginated teats)
Credit: Sylvie Chastant

การตรวจร่างกายลูกสุนัขแรกเกิด (the neonatal clinical examination)

อันดับแรกสัตวแพทย์ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงสำคัญบางประการที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการของลูกสุนัขในช่วงวันก่อนหน้า การจัดการและการให้อาหารในช่วง 8 ชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นอย่างไร (ช่วงเวลาที่ช่องว่างระหว่างผนังลำไส้ (intestinal barrier) เปิดรับภูมิคุ้มกันในน้ำนมเหลืองได้ทันที (passive transfer of colostral antibodies)) 1 และเจ้าของได้มีการป้อนนมลูกสุนัขด้วยขวดนมหรือไม่ (มีการสำลักนมที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจหรือไม่) ในกรณีที่ได้ชั่งน้ำหนักลุกสุนัข การคำนวณอัตราการเจริญเติบโต (growth rate) ระหว่างวันเกิดและอายุ 2 วันก็จะเป็นประโยชน์ เพราะร้อยละ 96 ของลูกสุนัขที่สูญเสียน้ำหนักไปในช่วงนั้นมักจะได้รับภูมิคุ้มกันจากน้ำนมเหลืองไม่เพียงพอ (inadequate passive immune transfer) 2 โดยตามทฤษฎีลูกสุนัขไม่ควรน้ำหนักลดในช่วง 2 วันแรกของชีวิต หลังจากนั้นน้ำหนักของลูกสุนัขควรเปรียบเทียบกับกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตของแต่ละสายพันธุ์ (รูปภาพที่ 2) 3 ซึ่งมีเป้าหมายคือน้ำหนักของลูกสุนัขเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 2-4 กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักสุนัขตัวเต็มวัยที่คาดหวัง แต่ทั้งนี้เป้าหมายขั้นต่ำคือ 1.5 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดที่อายุ 7 วัน และ 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดที่อายุ 21 วัน

การชั่งน้ำหนักเป็นส่วนสำคัญของการตรวจร่างกายและเฝ้าติดตามอาการของลูกสัตว์แรกเกิด

รูปภาพที่ 2 การชั่งน้ำหนักเป็นส่วนสำคัญของการตรวจร่างกายและเฝ้าติดตามอาการของลูกสัตว์แรกเกิด
Credit: Sylvie Chastant

อุณหภูมิของลูกสุนัขควรวัดด้วยเทอร์มอมิเตอร์สำหรับเด็กที่มีปลายเรียบเพราะเทอร์มอมิเตอร์แบบอินฟราเรด (infrared contactless thermometer) นั้นยังไม่ได้มีการยอมรับให้ใช้ในลูกสัตว์แรกเกิด อุณหภูมิปกติของลูกสุนัขแรกเกิดนั้นจะต่ำกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัย โดยส่วนมากลูกสัตว์จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 36.5±1 องศาเซลเซียสที่อายุ 1 วัน 37.0±1.3 องศาเซลเซียสที่อายุ 7 วัน และ 37.2±0.5 องศาเซลซียสที่อายุ 14-21 วัน 4 โดยมีจุดสำคัญ 2 จุดที่ต้องได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ หนึ่งคือลูกสุนัขที่มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำต้องได้รับความอบอุ่นแบบค่อยเป็นค่อยไป (คือเพิ่มได้สูงสุด 1 องศาเซลเซียสต่อชั่วโมง) การได้รับความอบอุ่นแบบทันทีทันใดอาจจะทำให้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายขยายตัว (peripheral vasodilation) หรือกระตุ้นกระบวนการเมแทบอลิซึมระดับเซลล์มากเกินไป (over-activation of cellular metabolism) ในทางทฤษฎีการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายควรใช้ตู้อบที่อุณหภูมิจะค่อยๆขึ้นทีละ 1 องศาเซลเซียสจนกว่าลูกสัตว์จะมีอุณหภูมิร่างกายถึง 37 องศาเซลเซียส ตู้อบนั้นควรตั้งค่าความชื้นไว้ที่ร้อยละ 55-65 สองคือการป้อนอาหารต้องทำเมื่อลูกสัตว์มีอุณหภูมิร่างกายถึง 35 องศาเซลเซียส เพราะหากอุณหภูมิต่ำกว่านี้จะโน้มนำให้เกิดภาวะลำไส้หยุดนิ่ง (intestinal stasis) และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารต่างๆ (inhibits digestive enzymatic activity) ผลที่ตามมานมจะค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและ/หรือไม่ย่อย ซึ่งจะทำให้ทางเดินอาหารมีสภาวะเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียแล้วนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสโลหิต (bacteremia) และเสียชีวิตได้ในที่สุด

ระดับการแห้งน้ำ (hydration status) ในลูกสุนัขแรกเกิดนั้นสามารถประเมินได้ยากเพราะการดูความยืดหยุ่นของผิวหนัง (tenting of the skin) ในสัตว์อายุน้อยยังไม่สามารถบอกอะไรได้ ระดับการแห้งน้ำสามารถทำได้โดยการประเมินความแห้งของเยื่อบุในช่องปากหรือการวัดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะโดยใช้ refractometer (รูปภาพที่ 3) สัตวแพทย์สามารถเก็บปัสสาวะโดยการนวดบริเวณระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศ (perineal region) ของลูกสัตว์ด้วยสำลีชุบน้ำอุ่นแล้วเก็บตัวอย่างปัสสาวะในหลอดพลาสติกขนาดเล็ก หากพบว่าค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะสูงกว่า 1.030 จะบ่งบอกว่าลูกสัตว์มีภาวะแห้งน้ำ (dehydration) แต่ในกรณีที่ไม่มี refractometer สีของปัสสาวะอาจช่วยบ่งบอกระดับการแห้งน้ำในเบื้องต้น เพราะปัสสาวะของลูกสัตว์นั้นมักใสไร้สี ดังนั้นหากพบปัสสาวะสีเหลืองเข้มแสดงว่ามีภาวะแห้งน้ำ (dehydration)

การใช้เครื่อง refractometer เป็นวิธีเดียวที่สามารถตรวจสอบระดับการแห้งน้ำในลูกสุนัขได้อย่างแม่นยำโดยการวัดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ

รูปภาพที่ 3 การใช้เครื่อง refractometer เป็นวิธีเดียวที่สามารถตรวจสอบระดับการแห้งน้ำในลูกสุนัขได้อย่างแม่นยำโดยการวัดค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine specific gravity) หากมีค่ามากกว่า 1.030 จะบ่งชี้ถึงภาวะแห้งน้ำ (dehydration)
Credit: Sylvie Chastant 

สัตวแพทย์ควรใส่ใจกับเรื่องสะดือ (umbilicus) ด้วย โดยสะดือนั้นเป็นทางหลักที่แบคทีเรียสามารถผ่านเข้าได้ (bacteria penetration) เนื่องจากหลอดเลือดดำอัมบิลิคัล (umbilical vein) นั้นจะมีจุดเชื่อมกับตับโดยตรง ส่วนหลอดเลือดแดงอัมบิลิคัล (umbilical arteries) จะเชื่อมกับหลอดเลือดแดงอิลิแอค (iliac artery) หากสายสะดือไม่ถูกทำให้แห้งและไม่ถูกตัดออกภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอดอาจทำให้เกิดสายสะดืออักเสบ/หลอดเลือดดำที่สะดืออักเสบ (omphalitis/omphalophlebitis) และมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสโลหิตได้ (bacteremia)

แม้ลูกสุนัขจะมีอายุได้หลายวันแล้ว ยังคงเป็นเรื่องคัญที่สัตวแพทย์จะต้องประเมินความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital abnormalities) ซึ่งรวมไปถึงภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เพดานโหว่ (cleft palate) และทวารหนักไร้รูเปิด (atresia ani) เป็นต้น ควรสอบถามเจ้าของว่าสังเกตเห็นอุจจาระหรือขี้เทา (meconium) ออกมาบ้างหรือไม่ ถึงแม้ว่าอาจจะสังเกตเห็นได้ยากเพราะแม่สุนัขจะทำความสะอาดลูกสุนัขตลอดก็ตาม การประเมินการทำงานของหัวใจ สัตวแพทย์อาจพบว่าลูกสุนัขมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ (bradycardia) (100-150 ครั้งต่อนาที) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาป้องกันตนเองที่พบได้บ่อยและสัมพันธ์กับภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายยาที่เกี่ยวกับหัวใจ

การทดสอบวินิจฉัยอื่นๆ (further diagnostic tests)

การเก็บตัวอย่างเลือด (blood sampling)

สามารถเก็บตัวอย่างเลือดได้ในสุนัขทุกช่วงอายุโดยการเจาะหลอดเลือดคอ (jugular puncture) (ใช้เข็มขนาด 23-25G) ถึงแม้ว่าจะเป็นหัตถการในลูกสัตว์แรกเกิดแต่สิ่งสำคัญที่ควรหลีกเลี่ยงคือการใช้แอลกอฮอล์บนผิวหนัง (เพื่อยับยั้งการเกิดเลือดออกหลังเก็บตัวอย่างเลือดและจะทำให้ลูกสัตว์ตัวเย็นขึ้น) และบริเวณที่เจาะเก็บเลือดหลังเจาะเสร็จควรกดไว้ก่อนอย่างน้อย 1 นาที แต่อย่างไรก็ตามการเจาะหลอดเลือดคอนั้นง่ายกว่าที่คาดไว้อีกทั้งยังค่อนข้างปลอดภัยในลูกสัตว์แรกเกิด โดยค่าอ้างอิงต่างๆสำหรับลูกสัตว์แรกเกิดนั้นจะแตกต่างไปจากสัตว์ที่โตเต็มวัย (ตารางที่ 1) การตรวจระดับน้ำตาลในกระแสโลหิต (glycemia) นั้นเป็นการตรวจที่ง่ายที่สุด (และเป็นประโยชน์ที่สุด) โดยใช้เครื่องวัดน้ำตาล (glucometer) ที่ออกแบบสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยต้องการเลือดแค่เพียง 1 หยดจากใบหูหรืออุ้งเท้า (ear prick or paw) การเก็บเลือดอาจะใช้การทา petroleum jelly ที่ผิวหนังช่วยด้วยก็ได้

ตารางที่ 1 ค่าเลือดอ้างอิงสำหรับลูกสุนัขแรกเกิด (ประยุกต์จาก 5,6,7,8)

อายุ (สัปดาห์) 1 2 3
Urea (g/L)
0.35-1.01
0.12-0.6 0.19-0.49
Creatinine (mg/L)
<1-7
2-10 2-7
Alkaline phosphatase (IU/L)
3000-7000
600-1300 110-260
Total proteins (g/L)
32-45
25-42 33-43
Glucose (g/L)
0.7-1.5
0.7-1.4 0.5-1.6
Hematocrit (%)
21-46
18-33 21-37
Red blood cell count (x106/µL)
3.6-5.9
3.4-4.4 2.8-4.3
White blood cell count (x103/µL) 4-23
1.7-19
2.1-21

 

การวินิจฉัยด้วยภาพ (diagnosis imaging)

การตรวจร่างกายโดยใช้การถ่ายภาพรังสีและอัลตราซาวด์ (radiographic and ultrasonographic examination) นั้นอาจเกิดความสับสนได้ เพราะหลายสิ่งที่เห็นจากเทคนิคเหล่านี้อาจจะเป็นความผิดปกติเมื่อเจอในสัตว์ที่โตเต็มวัยแต่กลับไม่มีนัยสำคัญในลูกสัตว์แรกเกิด (รูปภาพที่ 4) ตัวอย่างเช่น ภาวะน้ำในช่องท้อง (peritoneal effusion) อาจจะพบได้ร้อยละ 60 ของลูกสุนัขในช่วงอายุ 2 สัปดาห์แรก (และร้อยละ 30 ที่อายุ 1 เดือน) โดยไม่มีอาการแสดงทางคลินิกอื่นๆตามมา ทั้งนี้น้ำในช่องท้องจะค่อยๆหายไปได้เอง หรือที่คล้ายคลึงกันคือการขยายของกรวยไต (dilatation of the renal pelvis) ก็อาจจะพบได้ร้อยละ 40 ของลูกสุนัขอายุ 2 วัน ร้อยละ 25 ที่อายุ 7 วัน และร้อยละ 5 ที่อายุ 2 เดือนโดยไม่มีอาการแสดงทางคลินิก นอกจากนี้พบว่าเนื้อไตชั้นนอก (renal cortex) ของลูกสุนัขแรกเกิดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชั้น (โดยชั้นนอกสุดจะมีสีเทา/ดำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อข้างเคียง (hypoechogenic) ในขณะที่ชั้นในจะมีสีขาวกว่า) ซึ่งจะพบได้จนถึงอายุ 14 วัน และยังพบว่าเมื่อลูกสุนัขอายุครบ 21 วันเนื้อม้าม (splenic parenchyma) จะแสดงลักษณะที่เรียกว่าลายจุดเสือดาว (leopard echotexture) ซึ่งสงสัยว่าอาจจะสัมพันธ์กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในลูกสัตว์แรกเกิด (เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ของผู้เขียนบทความ)

รายละเอียดเรื่องการตรวจร่างกายทางคลินิกของลูกสุนัขแรกเกิดนั้นสามารถค้นคว้าได้ทางออนไลน์ (มีทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน) สามารถอ่านได้ที่ https://neocare.pro/le-developpement-du-chiot/

ภาพถ่ายรังสีของสุนัขพันธุ์ผสมอายุ 7

รูปภาพที่ 4 ภาพถ่ายรังสีของสุนัขพันธุ์ผสมอายุ 7 วัน ในท่านอนคว่ำแสดงให้เห็นช่องอกที่กลีบปอดขวาด้านหลังดูมีความทึบรังสีผิดปกติ (abnormally radio-opaque) บ่งชี้ว่ามีลักษณะคล้ายตับ (hepatization) ลูกสุนัขมีภาวะหายใจลำบากรุนแรง (severely dyspnenic) แต่หายได้เองหลังจากกินยาปฏิชีวนะและดมยาลดอักเสบ (corticosteroid nebulization)
Credit: Sylvie Chastant

การนำสัตว์เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ – ทำไม ใคร และที่ไหน (hospitalization – why, who and where)

ทำไมถึงต้องนำสัตว์เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ (why hospitalize?)

การนำสัตว์เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ไม่เพียงแต่จะทำให้สัตวแพทย์สามารถทำหัตถการในการรักษาที่จำเพาะเจาะจงได้เท่านั้น (เช่น การสอดท่อให้อาหาร (orogastric intubation) การให้สารน้ำ (fluid administration) และการรักษาทางยา (drug therapy)) อีกทั้งยังช่วยให้แน่ใจว่าจะมีการเฝ้าติดตามและพยาบาลสัตว์อย่างใกล้ชิด ลูกสัตว์แรกเกิดที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรืออ่อนแอนั้นอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็วและมักจะไม่มีสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้า ความผิดปกติที่พบได้ในลูกสุนัขอายุน้อยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีแบคทีเรียเข้ามาเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ก็จะมีอีก 3 ปัจจัยที่จะเข้ามามีบทบาทเสริมให้ลูกสัตว์ป่วยมีอาการแย่ลง คือ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (hypothermia), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) และการแห้งน้ำ (dehydration) การรักษาในโรงพยาบาลสัตว์จะช่วยควบคุมปัจจัยทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาได้ และหากไม่มีการพยาบาลสัตว์ที่เหมาะสม การรักษาทางการแพทย์ต่างๆก็จะไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้การนำสัตว์เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ยังช่วยลดความกังวลของเจ้าของ และในกรณีที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นก็ยังสามารถที่จะผ่าชันสูตรหาสาเหตุได้อย่างรวดเร็ว

สัตว์ตัวไหนที่ควรเข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ (who to hospitalize?)

การนำแม่สุนัขเข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์มีประโยชน์ช่วยลดภาระในการดูแลลูกสุนัขป่วย แต่นั่นย่อมหมายถึงการนำลูกสัตว์ทั้งครอกไปอยู่กับแม่ด้วยซึ่งรวมไปถึงลูกสุนัขที่มีอาการดีที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ (nosocomial disease) นอกจากนี้ยังเป็นการยากที่จะดูแลลูกสุนัขเด็กอย่างใกล้ชิดเวลาที่มีแม่สุนัขอยู่ใกล้ๆ เช่น การให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือดดำ (fluid infusion) เพราะแม่สุนัขอาจเลียลูกและอาจทำให้สายน้ำเกลือหรืออุปกรณ์ต่างๆเกิดความเสียหาย โดยทั่วไปแล้วลูกสัตว์แรกเกิดที่ป่วยเท่านั้นถึงควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์ แต่ถ้ามีลูกสุนัขตัวอื่นๆจากครอกเดียวกันเข้ารักษาตัวพร้อมกัน ควรที่จะแยกความแตกต่างโดยการใช้ปลอกคอคนละสี และในกรณีที่ลูกสุนัขบางตัวหรือทุกตัวในครอกเข้ามารักษาตัวพร้อมกัน สำคัญมากที่จะต้องระวังการเกิดเต้านมอักเสบ (mastitis) ในแม่สุนัขอันเนื่องมาจากขาดการดูดนมจากลูก (lack of suckling activity)

ควรนำสัตว์เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ที่บริเวณไหน (where to hospitalize?)

ในทางทฤษฎีลูกสุนัขแรกเกิดควรอยู่ในห้องที่แยกออกจากสัตว์ป่วยอื่นๆ โดยมีออกซิเจนเตรียมไว้และต้องอยู่ในคอกที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ (thermostatically controlled pen) ทั้งนี้สามารถใช้ตู้อบสำหรับลูกสัตว์โดยตรง (puppy incubator) เครื่องอบทารกมือ 2 (รูปภาพที่ 5) ตู้ฟักไข่ของสัตว์ปีก (avian incubator) หรือแม้แต่ทำเองโดยใช้กล่องพลาสติกขนาดใหญ่ หรือตู้เลี้ยงปลาที่มีฝาปิดพอดี (แต่ต้องมีที่ให้อากาศหมุนเวียน) ข้อดีของตู้อบขนาดเล็กคือสามารถพกพาได้สะดวก (portable) ในกรณีที่โรงพยาบาลสัตว์ขาดแคลนบุคลากรในช่วงดึก สัตวแพทย์สามารถพาลูกสัตว์กลับบ้านไปรักษาได้แม้จะไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีก็ตาม ตู้อบนั้นโดยปกติจะอนุญาตให้ตั้งค่าความชื้นคงที่สูงสุดที่ร้อยละ 60 จากการศึกษาพบว่าลูกสัตว์แรกเกิดนั้นมีภาวะแห้งน้ำได้ง่ายอย่างมีนัยสำคัญโดยจะสูญเสียความชุ่มชื้นผ่านทางผิวหนังและการหายใจโดยเฉพาะเวลาหายใจแบบอ้าปาก (breath open-mouthed) ในช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรก อุณหภูมิภายในตู้อบควรอยู่ที่ประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส สัปดาห์ต่อมาค่อยปรับลดเหลือ 26-28 องศาเซลเซียส ทั้งนี้สามารถปรับได้ตามอุณหภูมิของลูกสัตว์แรกเกิดโดยเป้าหมายคือการให้ลูกสัตว์มีอุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 36-38 องศาเซลเซียส สัตวแพทย์ต้องจำไว้เสมอว่าตู้อบจะให้ได้แต่ความอบอุ่น ไม่สามารถลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิห้องโดยรอบได้ และในกรณีที่ไม่มีตู้อบที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ให้ใช้เสื่อทำความร้อน (heating mats) หรือแผ่นทำความร้อนที่เข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย (microwave-safe pads) ทดแทนได้ (หลังจากตรวจสอบอุณหภูมิตำแหน่งที่สัมผัสกับลูกสัตว์แล้ว) ไม่แนะนำให้ใช้โคมไฟอินฟราเรด (infra-red lamps)

ลูกสุนัขที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ควรอยู่ในตู้อบ (incubator) ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างแม่นยำ

รูปภาพที่ 5 ลูกสุนัขที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ควรอยู่ในตู้อบ (incubator) ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างแม่นยำ
Credit: Sylvie Chastant

ตู้อบและพื้นผิวสัมผัสของห้องโดยรอบควรได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าลูกสัตว์แรกเกิดจะไม่ปนเปื้อนแบคทีเรียจากสัตว์โตเต็มวัยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเช่นกัน อย่างไรก็ตามการเลือกใช้สารฆ่าเชื้อก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะสารบางอย่างสามารถก่ออันตรายกับผิวหนังของลูกสัตว์ได้ การฆ่าเชื้อนั้นยังต้องทำกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้อนอาหารลูกสุนัขด้วย ได้แก่ ขวดนม (bottles) จุกนม (teats) และไซริงก์ (syringe) อีกทั้งหากมีการใช้สารทดแทนน้ำนมแม่ (milk replacer) เราจำเป็นที่จะต้องเก็บรักษาตามข้อแนะนำของผลิตภัณฑ์ (รวมไปถึงตลอดการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลสัตว์)

การรักษาทางการแพทย์และการพยาบาลสัตว์ป่วยอย่างใกล้ชิด (medical treatment and intensive care)

การแก้ไขภาวะแห้งน้ำของลูกสัตว์แรกเกิด (rehydration of neonates) สามารถทำได้โดยการให้สารน้ำเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous) เข้าทางหลอดเลือดดำ (intravenous; IV) หรือเข้าทางกระดูก (intraosseous; IO) ผ่านกระดูก femur สำหรับวิธีการให้สารน้ำ 2 วิธีสุดท้ายที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นสำคัญมากที่จะต้องไล่อากาศออกจากสายให้น้ำเกลือ (administration set) ก่อนจะต่อเข้ากับตัวสัตว์ อีกทั้งต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำเกิน (fluid overload) ที่ค่อนข้างพบบ่อยในลูกสัตว์แรกเกิด (ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอดตามมา (pulmonary edema) ได้) เพราะฉะนั้นเมื่อเจอกับภาวะแห้งน้ำที่รุนแรงปานกลางถึงมาก (moderate to severe dehydration) อาจให้สารละลายไอโซโทนิก lactated Ringer’s solution (30-45 มล./กก.) เข้าทางหลอดเลือดดำในระยะเวลาสั้นๆ (bolus) ตามด้วยการให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราเร็วคงที่ (continuous rate infusion; CRI) 3-4 มล./กก./ชม. (อาจเติม dextrose เข้าไปด้วยถ้าจำเป็น) 9 โดยทั่วไปแล้วสัตวแพทย์นิยมให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV) มากกว่า 10 ส่วน catheter ที่ใช้ให้สารน้ำเข้าทางกระดูก (IO) ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 วันเพราะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อ (osteomyelitis) และการอุ่นสารน้ำนั้นไม่มีความจำเป็นเนื่องจากอัตราไหลของสารน้ำค่อนข้างช้า ดังนั้นสารน้ำที่ร้อนเมื่อผ่านสายให้น้ำเกลือก็จะค่อยๆเย็นขึ้นอยู่ดี

การรักษาภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (hypoglycemia) ลูกสุนัขควรจะได้รับ 12.5% dextrose เข้าทางหลอดเลือดดำในระยะเวลาสั้นๆ (50% dextrose ละลายให้เจือจางในอัตราส่วน 1:4 ) ที่ขนาด 1 มล./กก. ตามด้วยการให้สารน้ำไอโซโทนิก (Ringers) ที่เติม dextrose (1.25-5%) เข้าทางหลอดเลือดดำด้วยอัตราคงที่ (CRI) ลูกสัตว์แรกเกิดที่อยู่ในภาวะวิกฤตน้อยและมีอุณหภูมิร่างกายปกติสามารถให้สารละลาย 5-10% glucose ได้ที่ขนาด 0.25 มล./30 ก. 9 10 สารละลายน้ำตาล (30% glucose หรือน้ำผึ้ง) สามารถให้ทางการกินเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำได้ โดยให้ทีละหยดบนลิ้นหรือเข้าไปในช่องปาก

การรักษาทางยาในลูกสัตว์แรกเกิดนั้นยังเป็นปัญหาสำคัญ ก่อนที่จะให้ยาใดกับลูกสัตว์ควรศึกษาความปลอดภัยของการใช้ยาในลูกสัตว์ก่อนเสมอ ทั้งนี้แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือตำรา textbook (เช่น 11) ซึ่งจะดีกว่าการใช้ข้อมูลจากคำแนะนำของผู้ผลิตเพราะว่ายาส่วนใหญ่นั้นมักไม่ได้มีการทดสอบประเมินในลูกสัตว์ก่อนได้รับการอนุมัติ อีกทั้งการเจ็บป่วยของลูกสัตว์แรกเกิดนั้นหลักๆมักจะเกี่ยวข้องกับเชื้อแบคทีเรีย การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะนั้นจึงปฏิบัติกันเป็นเรื่องปกติ โดยควรให้ยาเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous) หรือเข้าทางหลอดเลือดดำ (intravenous) ก็ได้ แต่ถ้าให้ยาทางการกินในสัตว์ขนาดเล็กก็ควรใช้เป็นยาน้ำเพื่อลดความเสี่ยงในการคุมขนาดยาไม่ได้ (uncontrolled dosage) หรือให้ยาผิดขนาด (mis-dosing) อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะบางอย่างที่ให้ทางการกิน (โดยเฉพาะ ampicillin metronidazole และ amoxicillin) อาจส่งผลต่อจุลชีพที่ดีในทางเดินอาหาร (digestive flora) (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะท้องเสียได้ ยาปฏิชีวนะที่เป็นตัวเลือกแรก (first choice antibiotics) ของผู้เขียนคือ ampicillin/amoxicillin และ amoxicillin-clavulanic acid ตามด้วยยาบางตัวในกลุ่ม macrolides (erythromycin tylosin) และ cephalexin หรือ ceftiofur ส่วนยาปฏิชีวนะอื่นที่มีผลข้างเคียงที่ทราบกันดี (เช่น ยากลุ่ม aminoglycosides ที่เป็นพิษต่อไต และยากลุ่ม tetracyclines ที่จะเปลี่ยนสีของชั้นเคลือบฟัน (discolor tooth enamel) อาจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนใช้ โดยสามารถใช้ได้เพียงแค่ระยะสั้นๆ และใช้เมื่อตอนที่ยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นๆไม่ได้ผล (เช่น อาการแสดงทางคลินิกไม่ดีขึ้นหลังจากรักษามาแล้ว 3 วัน) หรือมีข้อบ่งชี้จากผลเพาะเชื้อ (antibiogram results)

Sylvie Chastant

ในทางทฤษฎี ลูกสุนัขที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์ควรอยู่ในตู้อบที่คงไว้ซึ่งอุณหภูมิสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและความชื้นที่เหมาะสมกับลูกสัตว์แรกเกิด

Sylvie Chastant

การพยาบาลลูกสัตว์ (puppy nursing)

การประสบความสำเร็จในการรักษาทั้งทางยาและการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับคุณภาพในการพยาบาลสัตว์ป่วย โดยนอกเหนือจากการให้ยาฉีดเข้าสู่ร่างกายและการให้สารน้ำ ลูกสุนัขยังต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่าสัตว์อายุมาก ได้แก่ การชั่งน้ำหนักทุกวัน (daily weighing) การป้อนอาหารถี่ (frequent feeding) และการกระตุ้นการขับถ่าย (induction of defecation/micturition) ยังไม่รวมถึงการถ่ายพยาธิตามโปรแกรม (scheduled worm treatments) ซึ่งทีมพยาบาลจะได้ประโยชน์อย่างมากหากมีการฝึกฝนที่จำเพาะเกี่ยวกับการประเมินและดูแลลูกสัตว์แรกเกิด สารอาหารที่เหมาะสมนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน การให้อาหารสามารถทำได้ทั้งการใช้ขวดนมหรือสอดสายยาง (ตารางที่ 2) แต่ต้องตรวจวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก (rectal temperature) เสียก่อน (จะเริ่มให้อาหารก็ต่อเมื่อลูกสัตว์มีอุณหภูมิ >35 องศาเซลเซียส) และต้องประเมินกระเพาะอาหาร (stomach assessed) (โดยจะให้อาหารก็ต่อเมื่อกระเพาะอาหารว่างลงแล้ว) ในกรณีที่กระเพาะอาหารไม่ว่างแม้จะผ่านไปแล้ว 4 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ให้อาหารมื้อสุดท้าย ให้ตรวจสอบว่าลูกสัตว์มีปัญหาอุณหภูมิต่ำ (hypothermia) หรือไม่ หรือลูกสัตว์ขับถ่ายแล้วหรือยัง ถ้ามีอุจจาระอยู่เต็มในทวารหนัก การกระตุ้นอุจจาระ (defecation) สามารถทำได้โดยการใช้ปลายปรอท (thermometer)

ตารางที่ 2 ตัวเลือกในการให้อาหารในลูกสุนัขแรกเกิด (feeding options for neonatal puppies)

  ข้อดี ข้อเสีย
การให้อาหารด้วยขวดนม (bottle feeding)
• ลูกสัตว์แรกเกิดสามารถกินอาหารได้เต็มที่ (ad libitum)
• เป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายไม่ต้องจับบังคับมากสำหรับลูกสัตว์
• กระตุ้นให้เกิดการย่อยอาหาร
• ใช้เวลานาน
• มีโอกาสสำลัก
• ไม่มีทางเป็นไปได้หากไม่มีปฏิกิริยาการดูด (suckling reflex is absent)
• ไม่แนะนำในกรณีที่มีปัญหาเพดานโหว่ (cleft palate)
การให้อาหารทางสายยาง (tube feeding)
• รวดเร็ว
• สามารถทำได้แม้ในกรณีที่ไม่มีปฏิกิริยาการดูด (suckling reflex)
• ปลอดภัยในลูกสุนัขที่มีปัญหาเพดานโหว่ (cleft palate)
• มีความเสี่ยงที่อาหารจะเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ (เกิดได้น้อย)
• ต้องอาศัยความชำนาญ (แต่ง่าย)
• มีความเสี่ยงที่จะให้อาหารมากเกินไปและอาจเกิดการอาเจียน/ขย้อน (vomit/regurgitation)

 

อาการแสดงทางคลินิกที่ดีขึ้นของลูกสุนัขป่วยนั้นมักแสดงให้เห็นในขั้นต้นด้วยการที่ลูกสุนัขหยุดร้องต่อเนื่อง ดูมีชีวิตชีวาขึ้น (improve vitality) และอุณหภูมิที่วัดได้ทางทวารหนักนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ (normalization of rectal temperature) ทั้งนี้สัตวแพทย์จะมั่นใจได้มากขึ้นหากลูกสุนัขที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสัตว์เริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นภายใน 1 วันหรือทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ละเลยเจ้าของผู้ซึ่งเป็นห่วงลูกสัตว์เหล่านี้มาก โดยต้องแน่ใจว่าเจ้าของจะได้รับการแจ้งข้อมูลสถานะของลูกสัตว์ป่วยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งต่อวัน การส่งแผนภูมิน้ำหนัก (weight charts) รูปถ่ายหรือคลิปวิดีโอสั้นๆของลูกสุนัขจะช่วยให้เจ้าของได้รับข้อมูลล่าสุดโดยไม่ต้องเสียเวลามาก และทีมพยาบาลสามารถมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารนี้ได้

การรักษาต่อเนื่อง – การดูแลพยาบาลสัตว์ป่วยที่บ้าน? (continuing treatment – home hospitalization?)

ถึงแม้ว่าลูกสุนัขแรกเกิดจะมีพันธุ์ประวัติที่ดี (valuable pedigree) และมีราคาแพง แต่บ่อยครั้งนั้นก็ยากที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์ (โดยเฉพาะถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ผสมหรือสุนัขจรจัด) เพราะฉะนั้นการดูแลพยาบาลสัตว์ต่อที่บ้านอาจจะเป็นทางเลือกหลังจากการรักษาตัวเบื้องต้นในโรงพยาบาลสัตว์ ทั้งนี้สามารถทำได้โดยการให้ความรู้กับเจ้าของ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักผสมพันธุ์สัตว์ (breeders) เนื่องจากพวกเขามักจะมีเวลา มีแรงจูงใจที่สูง และมักจะมีตู้อบ (incubator) เป็นของตัวเอง ค่าใช้จ่ายต่างๆก็จะลดลงและยังลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในโรงพยาบาลด้วย (nosocomial infection reduced) การฝึกเจ้าของให้มีทักษะพื้นฐาน (เช่น การให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injections), การวัดความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine SG measurement) และการให้อาหารผ่านสายยาง (tube feeding)) (กล่องข้อความที่ 1) นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และคุ้มค่า เมื่อลูกสุนัขกลับบ้านแล้ว สัตวแพทย์สามารถติดตามอาการได้ผ่านทางโทรศัพท์ทุกวันโดยใช้ทีมพยาบาลเข้ามาช่วยได้

กล่องข้อความที่ 1 การให้อาหารทางสายยางอย่างปลอดภัย (safe tube feeding)

  • เลือกสายยางที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 มม. สำหรับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 300 กรัม และเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6-3.3 มม. ถ้าน้ำหนักมากกว่า 300 กรัม .
  • ประเมินความยาวที่ถูกต้องที่จะสอดสายยางเข้าไปโดยวัดระยะห่างระหว่างคางของลูกสุนัขจนถึงปุ่มกระดูกข้อศอก (point of elbow) ใช้ปากกาสักลาดทำสัญลักษณ์ไว้
  • ใช้ไซริงก์ดูดน้ำนมอุ่น 37 องศาเซลเซียส ปริมาณสูงสุด 4-5 มล./น้ำหนักตัว 100 กรัม
  • ต่อสายยางเข้ากับไซริงก์แล้วเติมนมเข้าไปสายยาง ให้แน่ใจว่าไล่อากาศออกจากสายยางได้หมด
  • จับลูกสัตว์ในท่านอนหงาย (ventral recumbency) ให้ศีรษะกับลำตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ค่อยๆเปิดปากโดยการกดที่มุมปาก จับหัวให้ตรงและค่อยๆสอดสายยางเข้าไปในช่องปาก (รูปภาพที่ 6)
  • เมื่อสายยางผ่านเข้าทางคอหอย (pharynx) ได้แล้ว ลูกสัตว์แรกเกิดจะถูกกระตุ้นให้เกิดการกลืน (ซึ่งควรจะมีแม้แต่ในลูกสุนัขที่อ่อนแอมากๆก็ตาม) ทั้งนี้จะต้องไม่มีปฏิกิริยาการไอ (cough reflex) โดยเด็ดขาดถึงแม้ว่าสายยางจะเข้าหลอดลม (trachea) จนกว่าลูกสุนัขจะอายุได้ 6-10 วัน
  • เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขย้อน (regurgitation) ปริมาณของน้ำนมจะต้องถูกจำกัดไม่ให้เกิน 4-5 มล./น้ำหนักตัว 100 กรัม และต้องให้มากกว่า 1-2 นาที เพื่อให้กระเพาะอาหารค่อยๆถูกเติมให้เต็ม
  • หลังจากให้อาหารเสร็จแล้ว ให้พับสายยางครึ่งนึงเพื่อให้น้ำนมหยุดไหลก่อนจะถอนสายยางออก
  • สายยางให้อาหารควรทำความสะอาดทันทีด้วยน้ำอุ่นและสารทำความสะอาด (detergent) จากนั้นล้างให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนจะเก็บในสถานที่ที่สะอาดจนกว่าจะถึงมื้อถัดไป
  • น้ำนมทดแทนสำหรับลูกสุนัข (artificial milk replacer) ควรจะทำการเตรียมใหม่ทุกครั้งที่จะให้อาหาร
ท่าที่ถูกต้องในการจับลูกสุนัขแรกเกิดตอนสอดสายยางให้อาหาร

รูปภาพที่ 6 ท่าที่ถูกต้องในการจับลูกสุนัขแรกเกิดตอนสอดสายยางให้อาหาร
Credit: Karine Reynaud 

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในลูกสัตว์แรกเกิด (main causes of neonatal mortality)

ในกรณีที่ลูกสุนัขเสียชีวิต การผ่าชันสูตรพลิกศพซาก (necropsy) ตามด้วยการศึกษาทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriological) จุลพยาธิวิทยา (histological) และ/หรือตรวจ PCR จะสามารถช่วยให้เราทราบถึงสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ซึ่งบ่อยครั้งมักเกิดจากหลายปัจจัย (multi-factorial) (กล่องข้อความที่ 2) มีจุลินทรีย์ก่อโรคจำเพาะ (specific pathogens) หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเสียชีวิต (ตารางที่ 3) แต่การติดเชื้อแบคทีเรียฉวยโอกาสที่ไม่จำเพาะ (non-specific opportunistic bacterial infections) ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicemia) และถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุของการตายในลูกสัตว์แรกเกิดร้อยละ 40-65 12 13 ลูกสัตว์แรกเกิดมักติดเชื้อหลักผ่านทางการกิน (oral route) และ/หรือรูเปิดเส้นเลือดสายสะดือ (open umbilical vessels) การติดเชื้อในกระแสโลหิตนั้นจะพัฒนาขึ้นกับการได้รับแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย (ทั้งจากสภาพแวดล้อมหรือจากแม่สุนัข) และ/หรือความอ่อนแอของตัวลูกสัตว์แรกเกิดเองหรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการ 4H (4H syndrome) ได้แก่ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (hypothermia)-ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)-ภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxia)-ภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง (hypovolemia) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การติดพยาธิ (โดยเฉพาะพยาธิตัวกลม (roundworms) พยาธิปากขอ (hookworms) และคอกซิเดีย (coccidia)) ซึ่งพยาธิก็เป็นปัจจัยหลักที่สามารถส่งผลโดยตรงทำให้เกิดการแย่งชิงสารอาหาร (direct competition for nutrient) และ/หรือก่อให้เกิดการท้องเสีย การติดเชื้อพยาธิ (parasitism) สามารถส่งผลทางอ้อมให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต (bacteremia) ได้ด้วย เช่น ตัวอ่อนพยาธิ Toxocara ที่สามารถเคลื่อนที่ผ่านออกจากทางเดินอาหารไปสู่ปอดผ่านทางตับได้ มีโอกาสจะทำให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย สุดท้ายนี้การได้รับการบาดเจ็บก็อาจเป็นสาเหตุได้ด้วยเช่นกัน อีกกรณีนึงที่อาจเป็นสาเหตุได้โดยไม่ได้ตั้งใจคือการที่เจ้าของสัตว์ป้อนนมอย่างรุนแรงหรือไม่อดทนพอ โดยเฉพาะว่ากรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นกับลูกสัตว์แรกคลอดที่ร่างกายอ่อนแอทำให้ปฏิกิริยาการกลืน (swallowing reflex) ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุทำให้สำลักนมได้ (inhalation of milk injuries) อุบัติเหตุที่เกิดจากแม่สุนัขก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน โดยลูกสัตว์แรกเกิดอาจโดนทับหรือกัดโดยแม่สุนัขซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมความเป็นแม่ที่ไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ความอ่อนแอของลูกสัตว์แรกเกิดเอง (จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) และภาวะอุณหภูมิต่ำ (hypothermia)) ก็มักเป็นปัจจัยกระตุ้นเบื้องต้น

กล่องข้อความที่ 2 ปัจจัยโน้มนำให้เกิดการตายในลูกสัตว์แรกเกิด (factors predisposing to death in newborn puppies)

ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (opportunistic bacteria) -> ติดเชื้อในกระโลหิต (septicemia)
กลุ่มอาการ 4H (4H syndrome): ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (hypothermia)-ภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง (hypovolemia)-ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)-ภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxia)
จุลินทรีย์ก่อโรคที่มีความจำเพาะ (specific pathogens)
การบาดเจ็บ (trauma)
ความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital abnormalities)
การติดเชื้อพยาธิ (parasite burden)

 

ตารางที่ 3 การติดเชื้อจำเพาะเจาะจงที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลูกสัตว์แรกเกิด (อายุ 0-21 วัน) (specific infectious causes of neonatal death; 0-21 days of life)

ไวรัส (viruses) แบคทีเรีย (bacteria) ปรสิต (parasites)
• CHV1(Canine Herpesvirus)
• CPV1 (Canine Parvovirus type 1)
• CDV (Canine Distemper Virus)
• CCoV (Canine Coronavirus)
• CAV2 (Canine Adenovirus type 2)
Brucella spp.
• Salmonella spp.
• Campylobacter jejuni
• Bordetella bronchiseptica 
Neospora caninum
• Toxocara canis
• Ancylostoma spp

 

การผ่าชันสูตรพลิกศพซากและการทดสอบเพิ่มเติม (necropsy and complementary tests)

ในกรณีที่ลูกสุนัขเสียชีวิต มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำการผ่าชันสูตรซาก แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่อาจส่งผลสำคัญต่อการลดคุณภาพของการผ่าชันสูตรพลิกศพซาก เช่น ในกรณีที่ไม่สามารถชันสูตรพลิกศพซากได้ทันทีหลังจากการเสียชีวิต ซากลูกสุนัขควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ส่วนการแช่แข็งนั้นไม่เหมาะสมเนื่องจากจะไปรบกวนการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) และอาจทำให้ผลการตรวจซากด้วยตาเปล่า (gross examination) หลังจากละลายน้ำแข็งเกิดความสับสนได้ การสังเกตซากด้วยตาเปล่า (gross observation) นั้นจะแสดงให้เห็นหลักฐานที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาจจะแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการย่อยนม (failure to ingest milk) (โดยจะพบกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ว่างเปล่า ถุงน้ำดีเต่ง มีขี้เทาคงค้าง (meconium retention)) เจอความผิดปกติแต่กำเนิดที่สำคัญ (congenital abnormality) (เช่น ลำไส้เล็กส่วนเจจูนัมไร้รูเปิดแต่กำเนิด (atresia jejuni)) หรือการเจอก้อนพยาธิขนาดใหญ่ (โดยอาจเห็นพยาธิในลำไส้หรือเจอแผลนูนที่ตับ (hepatic scars) ซึ่งบ่งบอกถึงการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิ Toxocara ) ภาพถ่ายของอวัยวะต่างๆหลังการเสียชีวิตจะช่วยให้สามารถทำการวิเคราะห์ย้อนหลังได้ (retrospective analysis) บ่อยครั้งพบว่าไม่มีรอยโรคจำเพาะเมื่อทำการชันสูตรพลิกศพแต่ควรเก็บตัวอย่างไปทำการทดสอบอื่นๆเพิ่มเติม ได้แก่ การศึกษาทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriology) จุลพยาธิวิทยา (histology) PCR และปรสิตวิทยา (parasitology) ซึ่งจะช่วยให้เราหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้

การเพาะเชื้อทางแบคทีเรียวิทยา (bacteriological culture) สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการผ่าชันสูตรพลิกศพซากหลังการตายไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพราะไม่เช่นนั้นแบคทีเรียจะออกจากทางเดินอาหารและปนเปื้อนกับอวัยวะอื่นๆ วิธีคือให้ใช้ไม้ป้ายที่ปราศจากเชื้อ (sterile swab) ป้ายเข้าไปลึกๆในเนื้อเยื่อม้าม (splenic parenchyma) แล้วเก็บใน vial ที่ปราศจากเชื้อเช่นกัน ระมัดระวังการปนเปื้อนขณะเปิดผ่าเข้าช่องท้อง หรือจะเก็บเนื้อเยื่อม้ามทั้งชิ้นด้วยวิธีปราศจากเชื้อก็ได้เช่นกัน ในกรณี่จำเป็นอาจเก็บตัวอย่างในตู้เย็นก่อนส่งไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ภายใน 24 ชั่วโมง

เนื้อเยื่อที่จะใช้ศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา (histology) ควรเก็บใน 10% formalin (3.4% formaldehyde) โดยตัวอย่างไม่ควรหนามากกว่า 5 มม. และต้องผ่านกระบวนการ (ใช้เทคนิค paraffin-embedded) ภายใน 7 วันหลังจากเก็บตัวอย่างเพื่อให้การแปลผลของห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา (pathology laboratory) มีความแม่นยำที่สุด

การศึกษาทางปรสิตวิทยา (parasitology assessment) สามารถทำได้โดยการตรวจของที่อยู่ภายในลำไส้และทวารหนักด้วยตาเปล่า (gross examination of intestinal and rectal contents) แต่ก็สามารถใช้ตัวอย่างทางจุลพยาธิวิทยาช่วยได้เช่นกัน (เช่น พยาธิ Neospora และ Toxoplasma)

สุดท้ายนี้ ในกรณีที่ซากถูกแช่แข็งก่อนจะทำการผ่าชันสูตรพลิกศพและ/หรือมีสัญญาณแสดงถึงการเน่าเปื่อยของร่างกาย การใช้วิธี PCR จะเป็นทางเลือกในการตรวจสอบซากวิธีเดียวที่สามารถเชื่อถือได้ วิธี quantitative (real time) PCR จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเชื้อที่ก่อโรค (infectious agents) ดีที่สุด

สรุป (conclusion)

การดูแลลูกสุนัขแรกเกิดที่ป่วยนั้นจะขึ้นอยู่กับการพยาบาลที่เหมาะสม การให้สารน้ำเข้าสู่ร่างกายและการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าการรักษาทางการแพทย์ที่เจาะจงอื่นๆ การรักษาที่รวดเร็วนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จร่วมด้วยกับการป้องกันโรคที่เหมาะสมสำหรับลูกสัตว์ร่วมครอก (littermates) ทั้งหมด ในหลายๆกรณีอาการแสดงทางคลินิกก่อนการเสียชีวิตจะเกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และจะมีอาการคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะมีสาเหตุเกิดจากอะไรก็ตามและการรักษามักจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงควรใช้แนวทางเชิงรุกเพื่อควบคุมการเสียชีวิตของลูกสัตว์แรกเกิด และการไปเยี่ยมชมสถานที่เพาะพันธุ์สุนัขนั้นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการระเมินระบบการจัดการระหว่างคลอด ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการตั้งท้องและการจัดการตอนคลอด (pregnancy and whelping management) การฟื้นฟู (revival) และสารอาหารสำหรับลูกสัตว์แรกเกิด การรักษาสุขอนามัย และสภาวะแวดล้อมต่างๆ

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 ม.ค. - 15 ก.พ. 2023


ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Chastant-Maillard S, Freyburger L, Marcheteau E, et al. Timing of the intestinal barrier closure in puppies. Reprod. Dom. Anim. 2012;47(6);190-193. 

  2. Chastant-Maillard S, Mila H. Passive immune transfer in puppies. Anim. Reprod. Sci. 2019;207;162-170.

  3. Lecarpentier M, Martinez C. La croissance du chiot entre 0 et 2 mois: établissement de courbes de croissance de référence par race. Thesis, École Nationale Vétérinaire De Toulouse, 2017

  4. Mila H, Grellet A, Delebarre M, et al. Monitoring of the newborn dog and prediction of neonatal mortality. Prev. Vet. Med. 2017;143:11-20.

  5. Levy JK, Crawford PC, Werner LL. Effect of age on reference intervals of serum biochemical values in kittens. J. Am. Vet. Med. Assoc. 2006;228(7);1033-1037.

  6. Rørtveit R, Saevik BK, Eggertsdóttir AV, et al. Age-related changes in hematologic and serum biochemical variables in dogs aged 16-60 days. Vet. Clin. Pathol. 2015;44(1):47-57.

  7. Rosset E, Rannou B, Casseleux G, et al. Age-related changes in biochemical and hematologic variables in Borzoi and Beagle puppies from birth to 8 weeks. Vet. Clin. Pathol. 2012;41(2):272-282.

  8. Von Dehn B. Pediatric clinical pathology. Vet. Clin. North Am. Small Anim. Pract. 2014;44(2):205-219.

  9. Bowles D. Care Of The Canine And Feline Neonate: Part 2. 2010. https://www.Dvm360.Com/View/Care-Canine-And-Feline-Neonate-Part-2-Proceedings 

  10. Wilborn RR. Small animal neonatal health. Vet. Clin. North Am. Small Anim. Pract. 2018;48(4):683-699.

  11. Petersen ME, Kutzler MA. Small Animal Pediatrics; The First 12 Months Of Life. 2011. St. Louis, MI, WB Saunders. 

  12. Meloni T, Martino P, Grieco V, et al. A survey on bacterial involvement in neonatal mortality in dogs. Vet. Ital. 2014;50(4):293-299.

  13. Munnich A, Kuchenmeister U. Causes, diagnosis and therapy of common diseases in neonatal puppies in the first days of life: cornerstones of practical approach. Reprod. Dom. Anim. 2014;49 (Suppl. 2);64-74; DOI: 10.1111/Rda.12329

Sylvie Chastant-Maillard

Sylvie Chastant-Maillard

Dr. Chastant obtained her veterinary diploma in 1990 from the National Veterinary School of Alfort (France), and was awarded her doctorate for research into pre-implantation of mammalian embryos in 1995 อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 จากทั้งหมด 2 ตอน โดยผู้เขียนได้พิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ และสาเหตุว่าทำไมระเบียบปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการดำเนินกิจการคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทีมงานและการประสบความสำเร็จในการออกแบบและใช้ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 25/05/2023

ความสำคัญของ DHA ในลูกสุนัข

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Russ Kelley ผ่านการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีสมมติฐานว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (DHA) นั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายอย่างไรบ้าง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับลูกสุนัข

โดย Russ Kelley

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 22/03/2023

วิธีป้องกันปัญหาพฤติกรรมในลูกสุนัข

เจ้าของสัตว์หลายคนเลือกสุนัขด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ Jon Bowen ได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่จะช่วยให้ลูกสุนัขอายุน้อยพัฒนากลายเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวได้

โดย Jon Bowen