วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 Other Scientific

ความสำคัญของ DHA ในลูกสุนัข

เผยแพร่แล้ว 25/05/2023

เขียนโดย Russ Kelley

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Español และ English

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Russ Kelley ผ่านการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีสมมติฐานว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (DHA) นั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายอย่างไรบ้าง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับลูกสุนัข

การฝึกวินัยลูกสุนัขนั้นเป็นหนึ่งในหลักสำคัญของการเลี้ยงดู การเสริม DHA ลงไปในอาหารอาจมีประโยชน์ต่อการฝึกได้

ประเด็นสำคัญ

การเพิ่มปริมาณกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว docosahexaenoic หรือ DHA ลงในอาหารช่วงตั้งท้องหรือช่วงแรกคลอดอาจช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้และความจำของลูกสุนัขได้


ลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง รวมถึงได้กินอาหารที่มีคุณสมบัติเดียวกันหลังหย่านม มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทดสอบการทำงานขั้นสูงของสมอง(cognitive function) มากกว่าลูกสุนัขที่ได้รับ DHA ในปริมาณที่ต่ำกว่า


บทนำ

กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสายยาว(long-chain polyunsaturated fatty acids ; LCPUFAs) มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการและสรีระของสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีชื่อว่า docosahexaenoic acid หรือ DHA จะมีความเข้มข้นสูงในบริเวณเนื้อเยื่อเรตินาและสมอง กรดไขมันชนิดนี้จะมีอัตราการสะสมในเนื้อเยื่อดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการตั้งท้องและช่วงสองถึงสามเดือนแรกหลังคลอดซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีพัฒนาการของสมองสูงที่สุดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การสะสมของ DHA ในช่วงแรก มีความจำเป็นต่อการเจริญของระบบประสาทและการมองเห็นที่ปกติ 1 ) เนื่องจากการได้รับ DHA ในปริมาณที่ต่ำส่งผลให้ลูกสัตว์มีการทำงานขั้นสูงของสมอง การรับภาพที่แย่ลง รวมไปถึงความจำที่ไม่ดี ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง electroretinograms ผิดปกติ และสายตาไม่ดี 2 จากรายงานการศึกษาเสนอว่าการเสริม DHA แก่แม่สุนัขตั้งท้องช่วงก่อนคลอดและลูกสุนัขช่วงแรกเกิด อาจมีประโยชน์ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการจดจำบางประเภทได้ 3

Russ Kelley

การได้รับ DHA ในปริมาณที่ต่ำ ส่งผลให้ลูกสัตว์มีการทำงานขั้นสูงของสมอง การรับภาพที่แย่ลง รวมไปถึงความจำที่ไม่ดี ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง electroretinograms ผิดปกติ และสายตาไม่ดี

Russ Kelley

แหล่งที่มาและหน้าที่ของ DHA

กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสายยาวเข้าสู่ลูกสัตว์ในครรภ์ผ่านรกและผ่านน้ำนมแม่ในกรณีหลังคลอด กรดไขมัน alpha-linolenic หรือ ALA เป็นสารตั้งต้นของ DHA แต่ร่างกายเปลี่ยน ALA เป็น DHA ได้ไม่ดีนัก ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ DHA ในแม่เพื่อส่งผ่านไปยังลูกอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการสารอาหาร จากการศึกษาพบว่าสุนัขมีความสามารถในการสังเคราะห์ DHA จาก ALA สูงที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกๆหลังคลอด แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปริมาณที่ผลิตได้นั้นเพียงพอต่อการพัฒนาระบบประสาทหรือไม่ 4 การเสริมปริมาณ DHA ในอาหารที่แม่สุนัขกินอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการส่งผ่านสารอาหารดังกล่าวไปยังลูกสุนัข รวมไปถึงการเสริม DHA ในอาหารหลังหย่านมเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าการพัฒนาของระบบประสาทในลูกสุนัขมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

งแม้ว่ากลไกการทำงานของ DHA ที่ส่งผลต่อการทำงานขั้นสูงของสมองนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า DHA นั้นมีบทบาทในกระบวนการพัฒนาของระบบประสาทหลายขั้นตอนในช่วงที่ยังอยู่ในครรภ์และแรกเกิด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า DHA นั้นมีผลต่อความลื่นไหล(fluidity) ของ synaptic membrane ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ และเพิ่มการผลิตหรือการแสดงออกของตัวรับโดปามีน(dopaminergic receptor) และสารประกอบอื่น จากสาเหตุที่กล่าวมาอาจนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และความจำที่ดีขึ้นเพราะระบบ dopaminergic system นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมพฤติกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหว(motor activity) การตอบสนองทางอารมณ์ และการรับรู้สภาพโดยรอบตัว(spatial orientation) 5

การศึกษาที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้

Lewinsburg PHNC ได้ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมเพื่อประเมินผลของการเสริม DHA ในแม่สุนัขที่ตั้งท้องและในอาหารลูกสุนัขหลังหย่านมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำของลูกสุนัข การศึกษามีทั้งหมด 3 ชุดการทดลองดังนี้

  1. การศึกษาโดยให้แม่สุนัขได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูงหรือต่ำในช่วงตั้งท้องจนถึงช่วงให้นม และให้อาหารแบบเดียวกันแก่ลูกสุนัขที่หย่านมจากแม่ตัวเดียวกัน จากนั้นทดสอบความสามารถในการรับรู้สภาพแวดล้อมและการแยกแยะด้วยภาพของลูกสุนัขที่ช่วงอายุ 7-9 สัปดาห์
  2. การศึกษาโดยให้แม่สุนัขและลูกได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง กลาง หรือต่ำ จากนั้นทดสอบความสามารถในการรับรู้สภาพแวดล้อมและการแยกแยะด้วยภาพของลูกสุนัขที่ช่วงอายุ 9-14 สัปดาห์ด้วยเขาวงกตรูปตัว T (T-maze)
  3. การศึกษาโดยให้อาหารที่มีปริมาณ DHA สูง หรือต่ำ แก่ลูกสุนัขตั้งแต่หย่านมจนถึงอายุ 25 สัปดาห์ จากนั้นทำการทดสอบความสามารถในการรับรู้สภาพแวดล้อมและความทรงจำระยะต่างๆ ด้วยเขาวงกตรูปรัศมี(radial maze)

การศึกษาทุกชุดใช้อาหารที่ได้รับการกำหนดสูตรให้มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลสำหรับทุกช่วงชีวิตของสุนัขตามหลักของ AAFCO* โดยมีความแตกต่างเพียงแค่องค์ประกอบของน้ำมันที่ใช้ดังที่ปรากฏในตารางที่ 1

*Association of American Feed Control Officials

ตารางที่ 1 แสดงองค์ประกอบอาหารที่ใช้ในการศึกษา

สารอาหาร ปริมาณในอาหาร(as fed)
โปรตีน คิดเป็นร้อยละ 31-32
ไขมัน คิดเป็นร้อยละ 20.1-20.8
ความชื้น คิดเป็นร้อยละ 7-8
แคลเซียม คิดเป็นร้อยละ 1.2-1.3
ฟอสฟอรัส คิดเป็นร้อยละ 1.0-1.1
สังกะสี (ppm) 230-245
วิตามินเอ (KIU) 27-28
วิตามินอี(IU) 375-425
กรดไขมันไลโนเลอิก คิดเป็นร้อยละ 4.0-4.5
อัตราส่วน n6 : n3 5:1-10:1
กลุ่มที่ทำการศึกษา ปริมาณ DHA คิดเป็นร้อยละของมวลอาหารแห้ง
การศึกษาที่ 1
ปริมาณ DHA ต่ำ 0.01
ปริมาณ DHA สูง 0.18
การศึกษาที่ 2
ปริมาณ DHA ต่ำ 0.015
ปริมาณ DHA ปานกลาง 0.077
ปริมาณ DHA สูง 0.135
การศึกษาที่ 3
ปริมาณ DHA ต่ำ 0.015
ปริมาณ DHA สูง 0.135

 

การศึกษาที่ 1

ผู้ศึกษาเลือกลูกสุนัขจำนวน 8 ตัวที่เกิดจากแม่ซึ่งได้รับอาหารที่มีการเสริมปริมาณ DHA และลูกสุนัขอีก 8 ตัวที่เกิดจากแม่ซึ่งได้รับอาหารที่ไม่ได้มีการเสริม DHA(ตารางที่ 1) ลูกสุนัขได้ถูกนำมาทดสอบและประเมินความสามารถในการเรียนรู้ทิศทางสภาพรอบตัวและการแยกแยะด้วยภาพ ทดสอบโดยการทำสัญลักษณ์สีดำที่แตกต่างกัน 3 ชนิด(วงกลม สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยม) บนประตูทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสามบานที่ติดตั้งบนกำแพงสีขาว จากนั้นทำการเลือกประตูและสัญลักษณ์โดยวิธีสุ่มให้แก่ลูกสุนัขแต่ละตัวเพื่อทำการฝึกให้ลูกสุนัขจดจำและเข้าหาประตูที่ได้ทำการเลือกไว้โดยมีรางวัลตอบแทนเป็นอาหาร จากนทำการประเมินความสามารถในการจดจำทิศทางสภาพรอบตัว(สังเกตจากการที่ลูกสุนัขไปยังประตูที่กำหนดไว้)และการแยกแยะด้วยภาพ(สังเกตจากการที่ลูกสุนัขแยกแยะภาพสัญลักษณ์บนประตูที่กำหนดไว้)

หลังทำการฝึกแล้วลูกสุนัขทั้ง 16 ตัวสามารถเลือกประตูที่มีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละตัวได้อย่างถูกต้อง ในช่วงเวลาของการประเมินความสามารถในการจดจำทิศทางและสภาพรอบตัวพบว่าลูกสุนัขทั้งสองกลุ่มร้อยละ 90 ประสบความสำเร็จในการไปยังประตูที่กำหนดไว้ภายใน 120 วินาที อย่างไรก็ตามเมื่อทำการประเมินความสามารถในการแยกแยะด้วยภาพพบว่าลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง สามารถทำได้ดีกว่าลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA ต่ำ รวมถึงลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูงยังทำคะแนนโดยรวมได้ดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

การศึกษาที่ 2

สุนัขพันธุ์ beagle เพศเมียจำนวน 28 ตัว ได้ถูกเลือกอย่างสุ่มให้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง กลาง และต่ำ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ตารางที่ 1) โดยให้สุนัขกินอาหารอย่าง ad libitum ตลอดช่วงการตั้งท้องและการให้นม หลังจากที่หย่านมแล้วให้ลูกสุนัขกินอาหารชนิดเดียวกับที่แม่สุนัขได้รับต่อเนื่องตลอดช่วงการศึกษา(รูปที่ 1) ลูกสุนัขทั้งหมด 60 ตัวได้ถูกคัดเลือกเพื่อทำการทดสอบการทำงานของสมอง( ความสามารถในการจดจำทิศทางและสภาพรอบตัว ความสามารถในการแยกแยะด้วยภาพ) ผ่านเขาวงกตรูปตัว T ตั้งแต่ช่วงอายุ 9-15 สัปดาห์ (รูปที่ 2) ลูกสุนัขได้ถูกฝึกให้เชื่อมโยงสัญลักษณ์(วงกลม และ สี่เหลี่ยม) กับการได้รับอาหารเป็นรางวัลที่ปลายด้านหนึ่งของเขาวงกต และการมีกลิ่นอาหาร(แต่ไม่มีอาหารอยู่จริง) ที่อีกด้านหนึ่ง จากนั้นทำการ “สลับความหมาย” โดยเปลี่ยนการเชื่องโยงของตำแหน่งที่มีอาหารกับสัญลักษณ์ (เช่น หากเดิมสัญลักษณ์วงกลมหมายความว่าอาหารจะอยู่ที่ปลายเขาวงกตด้านขวามือ จะกลายเป็นว่าอาหารอยู่ที่ปลายด้านซ้ายมือ)

ลูกสุนัขที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าในการทดสอบเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA ต่ำ อย่างเห็นได้ชัด ลูกสุนัขกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA ปานกลางนั้นสามารถทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA ต่ำ แต่แย่กว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง ถึงแม้ผลทั้งหมดนั้นไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่อาจเป็นที่สังเกตได้ว่าปริมาณของ DHA ที่เสริมลงในอาหารอาจมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้(dose-dependent)

ลูกสุนัขพันธุ์ beagle ได้ถูกคัดเลือกเพื่อทำการทดสอบการทำงานของสมอง

รูปภาพที่ 1 ลูกสุนัขพันธุ์ beagle ได้ถูกคัดเลือกเพื่อทำการทดสอบการทำงานของสมอง( ความสามารถในการจดจำทิศทางและสภาพรอบตัว ความสามารถในการแยกแยะด้วยภาพ) ผ่านเขาวงกตรูปตัว T ตั้งแต่ช่วงอายุ 9-15 สัปดาห์
Credit: Russ Kelley/Royal Canin

เขาวงกตรูปตัว T ในการศึกษาชิ้นที่ 2

รูปภาพที่ 2 เขาวงกตรูปตัว T ในการศึกษาชิ้นที่ 2 ลูกสุนัขได้ถูกฝึกให้เชื่อมโยงสัญลักษณ์(วงกลม และ สี่เหลี่ยม) กับการได้รับอาหารเป็นรางวัลที่ปลายด้านหนึ่งของเขาวงกต และการมีกลิ่นอาหาร(แต่ไม่มีอาหารอยู่จริง) ที่อีกด้านหนึ่ง
Credit: Redrawn by Sandrine Fontègne

การศึกษาที่ 3

การศึกษานี้สุ่มเลือกลูกสุนัขจากแม่ที่ไม่ได้รับอาหารที่มีการเสริมปริมาณ DHA ในช่วงตั้งท้องและการให้นม จากนั้นทำการให้อาหารที่มีปริมาณ DHA สูงหรือต่ำอย่างใดอย่างหนึ่ง(ตารางที่ 1) ทดสอบการทำงานของสมองโดยการใช้เขาวงกตทรงรัศมีที่มี 8 แขน ที่ปลายของแต่ละแขนจะมีประตูที่มีตัวเลขซึ่งสามารถเปิดหรือปิดได้อย่างอิสระ(รูปที่ 3) การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อทำการประเมินความสามารถในการรับรู้สภาพรอบตัว(spatial orientation) ความทรงจำระยะสั้น กลาง และยาว หรือเรียกว่า recency effect(ความจำระยะสั้น) และ primary effect(ความจำระยะยาว) การทดสอบในเขาวงกตเริ่มทำที่ลูกสุนัขอายุ 15 สัปดาห์ ลูกสุนัขต้องเข้าไปที่ปลายแขนของเขาวงกตเพื่อรับอาหารแต่จะมีอุปสรรค ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 4 ระดับในการศึกษานี้ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาถูกนำมาวิเคราะห์โดยคำนึงถึง การทำซ้ำ เพศ อาหารที่ได้รับ และการปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน ปัจจัยสองอย่างแรก(การทำซ้ำและเพศ)พบว่าไม่ส่งผลที่เห็นได้ชัดจึงถูกนำออกจากข้อพิจารณา โดยเหลือปัจจัยเพียงอาหารที่ได้รับในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย

ลูกสุนัขทุกตัวประสบความสำเร็จในการทดสอบสองขั้นตอนแรก แต่มีข้อสังเกตว่าลูกสุนัขที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูงอาศัยการฝึกฝนน้อยครั้งกว่าเทียบกับลูกสุนัขอีกกลุ่มเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในขั้นตอนที่สอง (ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนั้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)

ลูกสุนัขในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูง หลายตัวประสบความเร็จในการทดสอบความจำระยะยาวมากกว่า เมื่อเทียบกับลูกสุนัขที่มาจากกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA ต่ำ รวมไปถึงการทดสอบความจำระยะกลางและสั้นเช่นกัน ถึงแม้ว่าความแตกต่างทั้งสองกลุ่มจะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อนำอัตราความสำเร็จและความผิดพลาดมาวิเคราะห์จะพบว่าลูกสุนัขในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณ DHA สูงกว่าจะทำการเลือกผิดน้อยกว่าเมื่อถูกท้าทายด้วยตัวเลือกที่ผิดพลาดต่อเนื่องกันสามครั้ง

 เขาวงกตทรงรัศมี 8 แฉก ที่ใช้ในการศึกษาที่ 3

รูปภาพที่ 3 เขาวงกตทรงรัศมี 8 แฉก ที่ใช้ในการศึกษาที่ 3 ประตูได้ถูกติดตั้งไว้ที่แต่ละปลายของเขาวงกตซึ่งสามารถเปิดและปิดอย่างอิสระเพื่อให้ลูกสุนัขได้เลือก
Credit: Redrawn by Sandrine Fontègne

การอภิปราย

ลูกสุนัขมักถูกย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่หลังจากหย่านมได้ไม่นานโดยที่เจ้าของใหม่มักส่งผลน้อยมากหรือไม่มีผลต่อระดับ DHA ของแม่สุนัขและลูกสุนัขก่อนที่จะรับมาเลี้ยง เหตุการณ์รูปแบบเดียวกันพบได้ในกรณีลูกสุนัขที่ถูกทิ้งหรือเกิดจากแม่ที่มีภาวะทุพโภชนาการ(สุนัขอยู่ในแหล่งพักพิงชั่วคราวหรือถูกช่วยเหลือมา) ดังนั้นคำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดคือการเสริม DHA ลงในอาหารหลังจากระยะที่ได้รับอิทธิพลทางโภชนาการจากแม่นั้นจะเกิดประโยชน์ต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้ของลูกสุนัขหรือไม่ จากการศึกษาทั้ง 3 ชิ้นพบหลักฐานที่อาจบ่งชี้ได้ว่าลูกสุนัขที่ได้รับ DHA ในปริมาณที่สูงกว่าให้ผลการทดสอบการทำงานของสมองดีกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมแต่การเสริมปริมาณ DHA ให้แม่สุนัขช่วงตั้งท้องและให้นมอาจไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มระดับ DHA ในลูกสุนัขเกิดใหม่ อย่างไรก็ตามการให้ลูกสุนัขที่กำลังเจริญเติบโตได้รับอาหารที่มีการเสริม DHA หลังหย่านมจะยังคงมีประโยชน์ต่อการทำงานของสมองถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการเสริม DHA ให้กับแม่สุนัข ดังที่ปรากฏในการศึกษาที่ 3 ลูกสุนัขแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำที่เพิ่มมากขึ้นที่ช่วงอายุ 15-25 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าของใหม่ส่วนใหญ่รับสุนัขมาเลี้ยง(รูปภาพที่ 4)

โดยรวมแล้วการศึกษาทั้งหมดในบทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการเสริม DHA ลงในอาหารนั้นเหนี่ยวนำให้กระบวนการเรียนรู้จากความทรงจำมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะไม่มีการเสริมลงในอาหารสำหรับแม่สุนัข ผลที่ตามมาของการที่ความทรงจำดีขึ้นนั้นอาจทำให้สามารถฝึกสุนัขได้ง่ายขึ้น

การฝึกวินัยลูกสุนัขนั้นเป็นหนึ่งในหลักสำคัญของการเลี้ยงดู การเสริม DHA ลงไปในอาหารอาจมีประโยชน์ต่อการฝึกได้

รูปภาพที่ 4 การฝึกวินัยลูกสุนัขนั้นเป็นหนึ่งในหลักสำคัญของการเลี้ยงดู การเสริม DHA ลงไปในอาหารอาจมีประโยชน์ต่อการฝึกได้
Credit: Shutterstock

คำแถลงการณ์

 

กระบวนการวิจัยต่างๆที่อ้างอิงในบทความนี้ได้ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจาก Institutional Animal Care and Use Committee of The Iams Company (Lewisburg, OH, USA)

 

สรุป

ผลการศึกษาทั้งหมดสนับสนุนแนวคิดเบื้องต้นว่า DHA นั้นมีความสัมพันธ์กับการทำงานขั้นสูงของสมองในสุนัขและสัตว์ชนิดอื่น ถึงแม้ว่าการเสริม DHA ให้กับแม่ในช่วงตั้งท้องนั้นจะเป็นสิ่งที่พึงประสงค์สำหรับพัฒนาการของลูกสุนัขในท้องและหลังคลอด แต่การเสริม DHA ลงในอาหารหลังหย่านมสำหรับลูกสุนัขที่ช่วงอายุ 6 – 25 สัปดาห์ โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการเสริม DHA ให้แก่แม่สุนัขยังสามารถส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาของระบบประสาทในลูกสุนัขที่กำลังเติบโตได้โดยเฉพาะในด้านเกี่ยวกับความจำและสมาธิ ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริม DHA ลงในอาหารเพื่อเสริมสร้างการทำงานขั้นสูงของสมองในสุนัขโตและสุนัขสูงวัย

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 10 มิ.ย. - 10 ส.ค. 2566

ทำเเบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Bazan NG, Musto AE, Knott EJ. Endogenous signaling by omega-3 docosahexaenoic acid-derived mediators sustains homeostatic synaptic and circuitry integrity. Mol. Neurobiol. 2011;44:216-222.

  2. Moriguchi T, Greiner RS, Salem N Jr. Behavioral deficits associated with dietary induction of decreased brain docosahexaenoic acid concentration. J. Neurochem. 2000;75:2563-2573.

  3. Stonehouse W, Conlon CA, Podd J, et al. DHA supplementation improved both memory and reaction time in healthy young adults: A randomized, controlled trial. Am. J. Clin. Nutr. 2013;97:1134-1143.

  4. Bauer JE, Heinemann KM, Bigley KE, et al. Maternal diet alpha-linolenic acid during gestation and lactation does not increase docosahexaenoic acid in canine milk. J. Nutr. 2004;134:2035S-2038S.

  5. Simon H, Scatton B, LeMoal M. Dopaminergic A 10 neurons are involved in cognitive functions. Nature 1980;286:150-151.

Russ Kelley

Russ Kelley

หลังจบการศึกษาจาก Auburn University ในปี 1997 Russ Kelly ได้ร่วมงานกับบริษัทอาหาร Iams อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 จากทั้งหมด 2 ตอน โดยผู้เขียนได้พิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ และสาเหตุว่าทำไมระเบียบปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการดำเนินกิจการคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทีมงานและการประสบความสำเร็จในการออกแบบและใช้ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 28/05/2023

การใช้ยาต้านจุลชีพในลูกสุนัขและแมว

เราควรเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นปัญหาในลูกสุนัขและแมวอย่างไร บทความนี้ J. Scott Weese ได้เสนอคำแนะนำเชิงปฏิบัติสำหรับสถานการณ์ทั่วไปในสถานพยาบาลสัตว์เล็ก

โดย J. Scott Weese

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 22/03/2023

วิธีป้องกันปัญหาพฤติกรรมในลูกสุนัข

เจ้าของสัตว์หลายคนเลือกสุนัขด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ Jon Bowen ได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่จะช่วยให้ลูกสุนัขอายุน้อยพัฒนากลายเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวได้

โดย Jon Bowen