วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 Other Scientific

วิธีป้องกันปัญหาพฤติกรรมในลูกสุนัข

เผยแพร่แล้ว 22/03/2023

เขียนโดย Jon Bowen

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Español และ English

เจ้าของสัตว์หลายคนเลือกสุนัขด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ Jon Bowen ได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่จะช่วยให้ลูกสุนัขอายุน้อยพัฒนากลายเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวได้

การนำลูกสุนัขเข้ามาในครอบครัวใหม่ควรเริ่มต้นหลังลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์

ประเด็นสำคัญ

ปัญหาพฤติกรรม (problem behaviors) ในสุนัขเป็นสาเหตุสำคัญที่ยังพบได้เสมอของการทำการุณยฆาต (euthanasia)


สัตวแพทย์ควรทำงานเชิงรุกร่วมกับนักเพาะพันธุ์สัตว์ (breeders) เพื่อให้ได้ตัวเลือกสุนัขและการเลี้ยงดูที่ดี รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้มีการทำวัคซีนตั้งแต่สุนัขยังอายุน้อยด้วย


อารมณ์และอุปนิสัยของสุนัขนั้นเป็นผลมาจากทั้งกรรมพันธุ์และเหตุการณ์ต่างๆที่สุนัขได้พบเจอในช่วงอายุน้อย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้สุนัขมีประสบการณ์เชิงบวกมากเท่าที่จะเป็นไปได้


สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำกับเจ้าของลูกสุนัขเพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ดีและถูกต้อง อีกทั้งยังควรช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงวิธีการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ให้มีพฤตติกรรมที่เหมาะสมเมื่อโตขึ้นด้วย.


บทนำ

แม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าของการดูแลทางสัตวแพทย์ (veterinary care) และโภชนาการสัตว์ (nutrition) จะสูงขึ้นมากซึ่งส่งผลให้สุขภาพของสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงนั้นดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาพฤติกรรมก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่และยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการตายในสุนัข จากผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เป็นสาเหตุการตายที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัขที่อายุต่ำกว่า 3 ปี 1 โดยเกือบร้อยละ 34 ของการตายในสุนัขกลุ่มอายุนี้เป็นผลมาจากปัญหาพฤติกรรม และอัตราการตายของสุนัขเพศผู้นั้นมากกว่าเพศเมียถึง 1.4 เท่า ข้อมูลที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ได้มาจากการรวมรวมข้อมูลจากสถานพยาบาลสัตว์ปฐมภูมิในสหราชอาณาจักร (primary-care UK veterinary practices) ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014 แต่ข้อมูลล่าสุดนั้นรวบรวมได้จากประเทศออสเตรเลียระหว่างปี 2013 ถึง 2018 จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการเดียวกัน พบว่าได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน ผลการวิเคราะห์ของข้อมูลที่รวบรวมได้ล่าสุดคืออัตราการตายของสุนัขที่มีอายุต่ำกว่า 3ปี อันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นคือร้อยละ 29.7 2 ทั้งนี้ยังพบว่าในข้อมูลจากประชากรทั้ง 2 กลุ่ม ความก้าวร้าว (aggression) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยที่สุด (รูปภาพที่ 1)

การศึกษาในประเทศออสเตรเลียช่วงระยะเวลา 5 ปี แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นเป็นสาเหตุของการทำการุณยฆาตในสุนัขอายุน้อยกว่า 3 ปี ถึงร้อยละ 30 และความก้าวร้าวจัดเป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดซึ่งสามารถนำไปสู่การทำการุณยฆาตได้

รูปภาพที่ 1 การศึกษาในประเทศออสเตรเลียช่วงระยะเวลา 5 ปี แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นเป็นสาเหตุของการทำการุณยฆาตในสุนัขอายุน้อยกว่า 3 ปี ถึงร้อยละ 30 และความก้าวร้าวจัดเป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดซึ่งสามารถนำไปสู่การทำการุณยฆาตได้
Credit: Shutterstock

ความชุกที่สูงของการทำการุณยฆาตนั้นเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาต่างๆที่มาจากปัญหาพฤติกรรมในสุนัขซึ่งยังมีอีกมากมาย สถิติต่างๆเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกแย่ให้เราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การการุณยฆาตก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาพฤติกรรมในสุนัขได้และมักจะใช้วิธีนี้กับกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าของสัตว์อาจเลือกที่จะหาบ้านใหม่ให้กับสุนัขหรือรักษาสุนัขให้หายจากพฤติกรรมเหล่านี้หรือแม้แต่ปรับรูปแบบของการใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อรองรับปัญหาด้านพฤติกรรม โดยตัวเลือกทั้งหมดเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดภาระทางอารมณ์ ภาระทางการเงิน หรือทำให้สูญเสียเวลาของครอบครัวเจ้าของสัตว์เลี้ยงไปก็ได้

ปัญหาพฤติกรรมนั้นเป็นสาเหตุหลักของการทอดทิ้งสุนัข (relinquishment) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังที่มีรายงานในการศึกษาหลายฉบับและสถิติประจำปีขององค์กรรับหาบ้านและสวัสดิภาพสัตว์ (rehoming and welfare organizations) นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องของกองทุนสาธารณะ (public funds) และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ การรักษาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี เพียงแต่การนำไปปฏิบัติตามและความสำเร็จจะขึ้นกับว่าเจ้าของนั้นมีแรงจูงใจหรือความกระตือรือร้นที่มากน้อยแค่ไหน มีความรู้ที่ดีพอหรือไม่ และได้รับคำแนะนำเพื่อเข้าถึงแหล่งขอความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ น่าเสียดายที่การศึกษาของชาวออสเตรเลีย 2 พบว่าร้อยละ 82.8 ของการตายของสุนัขทั้งหมดที่มีรายงานนั้นไม่มีการระบุสาเหตุและค่าเฉลี่ยอายุของสุนัขเมื่อเริ่มแสดงสัญญาณแรกของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาขึ้นคืออายุประมาณ 11 เดือน สิ่งนี้ช่วยบ่งชี้ว่าเรามักจะพลาดโอกาสที่จะช่วยแก้ไขปัญหาพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญไป เนื่องมาจากศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงที่มีภาระหน้าที่มากเกินไปตลอดเวลา รวมไปถึงการที่เจ้าของไม่ได้ให้การสนับสนุนตามที่ศูนย์พักพิงต้องการ หลายๆคนจึงต้องอยู่กับสุนัขที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อไป สิ่งนี้จะทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยง ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์และสุขภาพร่างกายรวมถึงจิตใจแย่ลง อีกทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งครอบครัวและสุนัขลดลงอีกด้วย

เมื่อเราทราบถึงผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมต่อผู้คนและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น แต่ทำไมเราถึงยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่พวกเราไม่ได้ใส่ใจในการป้องกันปัญหานี้มากพอ ในด้านของนักเพาะพันธุ์สัตว์ก็คือการคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขที่ถูกต้องและจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนแม่สุนัขให้เลี้ยงลูกสุนัขและช่วยให้เกิดการเข้าสังคมและสร้างพฤติกรรมความเคยชินตั้งแต่เด็ก ส่วนด้านของเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็คือการรู้ว่าควรเลือกสุนัขแบบไหน จากนั้นก็ให้ใช้เวลาและพลังงานไปกับการฝึกสุนัขให้เข้าสังคมเพื่อให้เกิดพฤติกรรมความเคยชินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความเข้าใจในสภาวะทางอารมณ์และแรงจูงใจของลูกสุนัข การให้ลูกสุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการฝึกฝนอย่างถูกต้อง

ในฐานะสัตวแพทย์นั้นก็หมายถึงการทำงานเชิงรุกร่วมกับนักเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อให้เกิดการคัดเลือกสัตว์ที่ดีและได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ตลอดจนการฉีดวัคซีนให้เมื่อลูกสัตว์มีอายุเหมาะสม การให้แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดแก่เจ้าของ และความเข้าใจทั้งในเรื่องการป้องกันโรคและการพัฒนาพฤติกรรมในลูกสุนัข ซึ่งโดยปกติสัตวแพทย์มักจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะฉะนั้นบทความนี้จะช่วยเน้นย้ำถึงสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างได้มากที่สุด ประการแรกคือการทบทวนขั้นตอนของพัฒนาการของลูกสุนัขและความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการกับการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงดูที่บ้าน

ขั้นตอนของพัฒนาการ

รูปภาพที่ 2 แสดงเส้นเวลา (timeline) ของขั้นตอน (stages) และจุดเวลา (timepoints) ที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติต่อพัฒนาการของลูกสุนัข ก่อนจะอายุ 3 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะยังขาดการเคลื่อนไหว (lack mobility) และประสาทสัมผัสหลักที่พวกมันสามารถตอบสนองได้คือการสัมผัส (touch) และการดมกลิ่น (olfaction) เท่านั้น หลังจากช่วงนี้ลูกสุนัขจะค่อยๆมีความกระตือรือร้นมากขึ้นเมื่อระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวพัฒนาดีขึ้น ซึ่งจะเรียกว่าช่วงมีความตื่นตัวสูง (sensitive period) และมักจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าช่วงปรับตัวเข้าสังคม (socialization period) ในช่วงเวลานี้ลูกสุนัขจะมีความเป็นอิสระจากสิ่งที่อยู่ด้วยเป็นเวลานานมากขึ้น (เช่น แม่สุนัขหรือคนที่พวกสัตว์รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย) และจะช่างสงสัยหรือช่างสำรวจมากขึ้น ช่วงมีความตื่นตัวสูงอาจจะขยายต่อไปจนถึงอายุ 12-14 สัปดาห์ แต่ถ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับตัวเข้าสังคมและพฤติกรรมความเคยชิน การสมมติว่าจุดสิ้นสุดคืออายุ 12 สัปดาห์จะดีที่สุด

 เส้นเวลาของระยะพัฒนาการของลูกสุนัข

รูปภาพที่ 2 เส้นเวลาของระยะพัฒนาการของลูกสุนัข (stages of puppy development) โดยสีที่เข้มที่สุดบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการ สีที่อ่อนกว่าจะบ่งบอกถึงปัจจัยและกระบวนการต่างๆที่มีอิทธิพลมากที่สุด และสีที่อ่อนที่สุดจะบ่งบอกถึงการช่วยเหลือบางอย่างที่อาจจะสามารถนำมาปรับปรุงผลลัพธ์ของพัฒนาการได้
อ้างอิง: Jon Bowen

ช่วงระหว่างอายุแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 10 สัปดาห์ ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system; CNS) ของลูกสุนัขจะต้องผ่านกระบวนการสร้างปลอกไมอีลิน (myelination) และกระบวนการจัดระบบ (organization) 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของพัฒนาการทางสมองที่คาดหวังได้ในสิ่งมีชีวิต (experience-expectant development) โดยสมองของลูกสุนัขจะถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อรวบรวมข้อมูลเฉพาะที่คาดว่าจะปรากฏในสิ่งแวดล้อมระหว่างการพัฒนาและจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมองอย่างเหมาะสม 4 ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือการพัฒนาการมองเห็นในแมว หากการมองเห็นของลูกแมวถูกบดบังเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 3-4 วันในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต สิ่งนี้จะนำไปสู่การลดจำนวนของเซลล์ประสาทที่เปลือกสมองส่วนการมองเห็น (visual cortex neuron) ที่ตอบสนองต่อตาที่ถูกบดบังไปอย่างถาวรและส่วนใหญ่จะไม่มีทางกลับมาเป็นแบบเดิมอีก ระยะเวลาที่ตาถูกบดบังไม่ให้มองเห็นที่นานขึ้นอาจจะนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร แต่ถึงแม้ว่าจะมีการบดบังการมองเห็นในแมวโตเต็มวัยด้วยระยะเวลาเท่ากันก็จะไม่มีผลกระทบใดใดเกิดขึ้น 5 กระบวนการเดียวกันนี้ใช้ได้กับข้อมูลและประสบการณ์ทั้งหมดที่ลูกสุนัขหรือลูกแมวได้เจอ ซึ่งหมายความว่าหากมีสิ่งใดขาดหายไปในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียการทำงานอย่างถาวร เพราะเหตุนี้ช่วงมีความตื่นตัวสูงจึงมีความสำคัญในแง่ของการพัฒนาพฤติกรรมปกติในลูกสุนัข และเมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานี้ ระบบประสาทส่วนกลางจะเปลี่ยน (transforms) เป็นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประสบการณ์ของลูกสุนัขจนถึงช่วงเวลานั้น ซึ่งสามารถรวมเข้ากับข้อมูลใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตได้

หลังจากช่วงมีความตื่นตัวสูงสิ้นสุดลง โรคกลัวสิ่งใหม่หรือ neophobia ก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยลูกสุนัขจะแสดงความกลัวและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่มีความจำเพาะเจาะจงที่ไม่คุ้นเคย และอาจมีความวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนกว่าที่เคยอยู่หรือมีสิ่งเร้าที่ไม่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะเป็นลูกสุนัขที่เข้าสังคมได้ดีและเคยชินก็สามารถแสดงสัญญาณเหล่านี้ได้ในบางสถานการณ์แต่พวกมันจะมีความยืดหยุ่นและรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่า

Jon Bowen

เพื่อให้ลูกสุนัขเติบโตเป็นสุนัขโตเต็มวัยที่มีอารมณ์คงที่และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สิ่งเร้าและประสบการณ์ที่ลูกสุนัขได้รับในช่วงมีความตื่นตัวสูงนั้นควรจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกสุนัขจะต้องเจอเมื่อโตเต็มวัย

Jon Bowen

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์และการเลี้ยงดูลูกสุนัขก่อนจะได้บ้าน

ในปี 2018 ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ได้รับหน้าที่จากรัฐบาลของประเทศนิวซีแลนด์ให้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการป้องกันการถูกสุนัขกัดซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างฉันทามติเดลฟาย (Delphi consensus) ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาและจัดอันดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆที่มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกกัด รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของ สุนัข สถานการณ์และพฤติกรรมของเหยื่อที่ถูกกัด เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุนัขจะพบว่าอารมณ์และอุปนิสัยของสุนัขมีความสำคัญมากที่สุด ตามมาด้วยประสบการณ์การเข้าสังคมและพฤติกรรมความเคยชินต่อคนในช่วงที่ยังเป็นลูกสุนัข อารมณ์และอุปนิสัยของสุนัขนั้นเป็นผลมาจากทั้งพันธุกรรมและประสบการณ์ในช่วงอายุน้อย ดังนั้นการรวมกันของปัจจัยทั้ง 2 อย่างนี้จึงมีผลเป็นอย่างมาก

เพื่อให้ลูกสุนัขเติบโตเป็นสุนัขโตเต็มวัยที่มีอารมณ์คงที่และพฤติกรรมที่เหมาะสม ช่วงของสิ่งเร้าและประสบการณ์ที่ลูกสุนัขได้รับในช่วงมีความตื่นตัวสูง (sensitive period) นั้นก็ควรจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกสุนัขจะต้องเจอเมื่อโตเต็มวัย ลูกสุนัขส่วนใหญ่มักย้ายบ้านในช่วงอายุประมาณ 8-9 สัปดาห์ซึ่งเป็นครึ่งทางของช่วงมีความตื่นตัวสูง เวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมเพราะเป็นเวลาที่ลูกสุนัขเริ่มมีความเป็นอิสระมากขึ้นและมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงก่อนที่จะเริ่มมีอาการของโรคกลัวสิ่งใหม่ (neophobia) อย่างไรก็ตามลูกสุนัขในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในขณะที่ลูกสุนัขส่วนใหญ่พร้อมที่จะย้ายไปบ้านใหม่เมื่ออายุ 8 สัปดาห์ ลูกสุนัขบางตัวก็อาจจะยังได้รับประโยชน์จากการอยู่ร่วมกับแม่อีกสักพักหนึ่งเช่นกัน

ยิ่งลูกสุนัขได้ย้ายไปบ้านใหม่ช้าขึ้นเท่าไร ครอบครัวใหม่ของลูกสุนัขก็จะยิ่งเหลือช่วงมีความตื่นตัวสูงที่ต้องจัดการน้อยลงเท่านั้น และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกสุนัขจะมีโอกาสน้อยลงในการได้รับการแก้ไขหรือชดเชยข้อบกพร่องที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมที่นักเพาะพันธุ์สัตว์จัดเตรียมไว้ (รูปภาพที่ 3) นักเพาะพันธุ์สัตว์ควรให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ลูกสุนัขจะมีส่วนร่วมและมีสิ่งกระตุ้น รวมไปถึงการจัดการให้มีการติดต่อทางสังคมร่วมกับสุนัขตัวอื่นและผู้คน (รวมถึงเด็ก) และยังต้องเตรียมให้ลูกสุนัขสัมผัสกับสิ่งเร้าทั่วไปในบ้านที่หลากหลายเพื่อให้ลูกสุนัขได้เตรียมความพร้อมสำหรับการย้ายไปบ้านใหม่เมื่ออายุ 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ควรเพิ่มการสัมผัสกับเสียงในสภาพแวดล้อมทั่วไปที่แตกต่างกันด้วย การทำให้ลูกสุนัขรู้สึกปลอดภัย มีส่วนร่วมและมีสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าต่างๆจะกระตุ้นให้พวกมันใช้เวลาออกห่างจากแม่สุนัขและส่งเสริมให้เกิดการแยกจากกัน เพราะฉะนั้นจึงช่วยให้ลูกสุนัขสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระจากแม่สุนัขก่อนที่จะได้บ้านใหม่

การแนะนำลูกสุนัขให้รู้จักกับครอบครัวใหม่ควรทำเมื่ออายุประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ที่จะช่วยให้ลูกสุนัขพัฒนาลักษณะของพฤติกรรมเชิงบวกได้

รูปภาพที่ 3 การแนะนำลูกสุนัขให้รู้จักกับครอบครัวใหม่ควรทำเมื่ออายุประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ที่จะช่วยให้ลูกสุนัขพัฒนาลักษณะของพฤติกรรมเชิงบวกได้
อ้างอิง: Shutterstock

ตอนนี้อิทธิพลของพฤติกรรมของแม่สุนัขต่อพัฒนาการของลูกสุนัขกำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ โดยพบว่าไม่ใช่แม่สุนัขทุกตัวที่จะดูแลลูกสุนัขในระดับที่เท่ากัน แม่สุนัขท้องแรกมักจะเลีย เลี้ยงดู หรือมีปฏิสัมพันธ์กับลูกสุนัขน้อยกว่าแม่สุนัขที่มีประสบการณ์ 6 เมื่อพิจารณาถึงผลของการดูแลของแม่สุนัขที่ลูกสุนัขได้รับในช่วงอายุ 21 วันแรกต่อพฤติกรรมของลูกสุนัขในช่วงอายุ 8 สัปดาห์ เราจะพบว่ายิ่งลูกสุนัขได้รับการดูแลจากแม่สุนัขมากเท่าไร ลูกสุนัขก็จะยิ่งมีพฤติกรรมสำรวจ (exploratory environment) มากขึ้นโดยแสดงให้เห็นเมื่อถูกแยกตัวไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ ลูกสุนัขก็จะแสดงอาการคิดถึงแม่สุนัขที่เคยอยู่ด้วยน้อยลง (เช่น การมองหาแม่สุนัข) อีกทั้งลูกสุนัขจะใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะเริ่มร้อง (ซึ่งเป็นสัญญาณของความเครียด) 7 สรุปโดยภาพรวมคือลูกสุนัขที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้นจะมีความมั่นใจ ความเป็นอิสระ และความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น ลักษณะเหล่านี้จะเป็นลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับลูกสุนัขที่อยู่ในช่วงวัยนี้และสามารถป้องกันลูกสุนัขไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันต่างๆ (เช่น ความกังวลในการแยกจากกัน) ซึ่งนั่นหมายถึงว่านักเพาะพันธุ์สัตว์ควรเลือกผสมพันธุ์สัตว์จากสุนัขเพศเมียที่ไม่เพียงแต่จะมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงถึงพฤติกรรมความเป็นแม่ที่ดี (good maternal behavior) อีกด้วย นอกจากนี้พวกเขาควรจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและไม่ถูกรบกวนเพื่อช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่สุนัขกับลูกสุนัข

มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการถูกสัมผัสเลี้ยงดูโดยมนุษย์ในช่วงแรกของชีวิตจะมีผลต่อพฤติกรรมของสุนัขในภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่าลูกสุนัขที่ถูกสัมผัสเลี้ยงดูอย่างอ่อนโยนทุกวันก่อนอายุครบ 3 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะใช้เวลานานกว่าจะเริ่มร้องหงิง มีพฤติกรรมสำรวจมากกว่าและเมื่อถูกทดสอบแยกเลี้ยงตอนอายุ 8 สัปดาห์จะมีระยะเวลาส่งเสียงร้องเมื่ออยู่ตัวเดียวสั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับลูกสุนัขที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์เลย 8 ทั้งนี้ยังมีผลการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลของแม่สุนัขซึ่งให้ผลการศึกษาคล้ายคลึงกันจึงสามารถพอที่จะสรุปได้ว่าการสัมผัสทั้งจากมนุษย์และแม่สุนัขอาจจะเป็นกุญแจนำไปสู่กลไกบางอย่างที่เหมือนกันได้ นักเพาะพันธุ์สัตว์ควรจะที่ถูกส่งเสริมให้มีการสัมผัสลูกสุนัขอย่างอ่อนโยนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อแม่สุนัขนั้นไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกและกรณีที่แม่สุนัขมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ไม่มีประสิทธิภาพเพื่อเหลีกเลี่ยงไม่ให้แม่สุนัขเกิดความเครียด การสัมผัสเลี้ยงดูลูกสุนัขควรทำเมื่อแม่สุนัขไม่ได้อยู่ใกล้ลูก เช่น ตอนแม่สุนัขกินข้าว

Jon Bowen

นักเพาะพันธุ์สัตว์ควรที่จะถูกส่งเสริมให้มีการสัมผัสลูกสุนัขอย่างอ่อนโยนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อแม่สุนัขนั้นไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกและกรณีที่แม่สุนัขมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ไม่มีประสิทธิภาพ

Jon Bowen

การคัดเลือกลูกสุนัขและช่วงหลังจากย้ายไปบ้านใหม่

การซื้อลูกสุนัขควรใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นเดียวกับการตัดสินใจในเรื่องอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น โดยเฉลี่ยแล้วคนมักจะใช้รถเดิมเป็นเวลา 6-7 ปี (รูปภาพที่ 4) และ (อ้างอิงจากคนอเมริกัน) มักจะใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ และใช้เวลาอีกประมาณ 100 ชั่วโมงในการค้นหารถที่ต้องการก่อนจะตัดสินใจซื้อ 9 ส่วนใหญ่แล้วในช่วงแรกของกระบวนการคนมักจะยังตัดสินใจไม่ได้ และ 6 ใน 10 คนจะพิจารณาตัวเลือกรถหลายคัน อีกทั้งยังมักจะไปดูโชว์รูมประมาณ 2-3 แห่งก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถอีกด้วย ซึ่งจะตรงข้ามกับการซื้อสุนัข เพราะเมื่ออ้างอิงจากการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่ดูผลของโรคระบาดต่อการซื้อลูกสุนัข พบว่าร้อยละ 46.7 ของคนที่ซื้อสุนัขได้ทำการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ในขณะที่ร้อยละ 91.6 ของคนที่ซื้อสุนัขนั้นตัดสินใจซื้อลูกสุนัขจากพันธุ์ที่ต้องการเป็นอันดับแรก 10 โดยเมื่อถามเจ้าของที่ซื้อสุนัขตัวใหม่ว่าปัจจัยใดที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อสุนัข พบว่ามีเพียงร้อยละ 12 ที่คิดว่าการพิจารณาสุนัขหลายๆครอกก่อนตัดสินใจซื้อลูกสุนัขนั้นมีความสำคัญ มีร้อยละ 36 ที่คิดว่าควรจะซื้อลูกสุนัขที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่บ้าน ร้อยละ 21 ระบุว่ามีความสำคัญที่จะต้องรับสุนัขมาเลี้ยงเมื่ออายุ 8-9 สัปดาห์ และร้อยละ 40 ไม่คิดว่าการเจอแม่สุนัขเป็นสิ่งสำคัญ (กลุ่มตัวอย่างประชากร 320 คน) 11 โชคไม่ดีที่เจ้าของสัตว์ไม่ได้ตัดสินใจโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมหรืออารมณ์ การศึกษาในปี 2012 ที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดในประเทศสหรัฐอเมริกา (US rehoming shelters) พบว่าร้อยละ 27.3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าหน้าตาของสุนัขเป็นเหตุผลเดียวที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อสุนัข และมีเพียงร้อยละ 11.4 ของคนที่ตอบว่านิสัยและพฤติกรรมของสุนัขมีความสำคัญเป็นอันดับแรก 12 หรือกล่าวสรุปคร่าวๆได้ว่าผู้คนดูเหมือนจะให้ความสนใจกับการซื้อรถมากกว่าการซื้อสุนัข และนี่คือสิ่งที่พวกเราในฐานะสัตวแพทย์สามารถช่วยเหลือลูกค้าของเราได้

โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนใช้เวลา 16 สัปดาห์ในการเลือกรถที่จะใช้ต่ออีก 6 ปี

รูปภาพที่ 4 โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนใช้เวลา 16 สัปดาห์ในการเลือกรถที่จะใช้ต่ออีก 6 ปี แต่เมื่อเป็นเรื่องการเลือกสุนัขสักตัวที่เราจะต้องอยู่เคียงข้างพวกมันไปนานถึง 14 ปี เจ้าของหลายคนกลับตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน พวกเขาไม่ได้ตรวจสอบพฤติกรรมของพ่อแม่ของลูกสุนัขที่คาดหวัง และไม่ได้ไปหาลูกสุนัขหลายๆครอกก่อนจะเลือกลูกสุนัขตัวที่เหมาะสม
อ้างอิง: Shutterstock

เราควรพยายามกระตุ้นให้ผู้คนเลือกลูกสุนัขด้วยวิธีเดียวกับการตัดสินใจระยะยาวเรื่องอื่นๆ โดยเลือกจากปัจจัยที่ทราบกันดีว่ามีอิทธิพลเชิงบวกต่อการเป็นเจ้าของสัตว์ อย่างน้อยที่สุดเราควรให้รายการตรวจสอบ (checklist) ง่ายๆแก่เจ้าของลูกสุนัขเพื่อช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น (ตารางที่ 1) หากสามารถโน้มน้าวเจ้าของในอนาคตว่าอยากให้พิจารณาสุนัขหลายๆสายพันธุ์ สิ่งนี้ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เจ้าของวางแผนไปดูลูกสุนัขหลายๆครอกแทนที่จะเลือกลูกสุนัขจากครอกแรกที่เห็น การทำเช่นนี้เราจะสามารถช่วยกำจัดข้อจำกัดบางประการที่จะทำให้ตัวเลือกของลูกสุนัขมีจำกัดซึ่งจะส่งผลทำให้ได้ลูกสุนัขที่ไม่ดี

ตารางที่ 1 รายการตรวจสอบสำหรับเจ้าของลูกสุนัขในอนาคต

  1. อย่าเลือกสัตว์เพียงหนึ่งสายพันธุ์ ทำรายชื่อตัวเลือก (shortlist) แล้วนำมาหารือกับสัตวแพทย์
  2. วางแผนไปดูลูกสุนัขหลายๆครอกเพื่อเลือกลูกสุนัขที่ใช่ จากสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี
  3. เลือกลูกสุนัขจากครอกที่เกิดจากแม่ที่มีประสบการณ์
  4. เลือกสุนัขจากครอกที่เริ่มทำวัคซีนพื้นฐานก่อนจะย้ายบ้าน
  5. อย่าเลือกสุนัขจนกว่าคุณจะได้เห็นพ่อกับแม่สุนัข (หรืออย่างน้อยก็แม่สุนัข)
  6. เลือกลูกสุนัขที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่บ้าน มีพฤติกรรมเข้าสังคมที่ดี และมีพ่อแม่ที่พฤติกรรมดีเท่านั้น
  7. รับลูกสุนัขมาเลี้ยงที่บ้านเมื่ออายุได้ 8-9 สัปดาห์

เจ้าของลูกสุนัขคนใหม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการฝึกกระบวนการเข้าสังคมและกระบวนการสร้างพฤติกรรมความเคยชิน รวมถึงขั้นตอนการฝึกลูกสุนัขอื่นๆให้เสร็จสิ้น แต่น่าเสียดายที่เจ้าของใหม่หลายๆคนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคมหรือการฝึกสุนัขมากนัก เมื่อถูกถามว่าปัจจัยใดที่มีความสำคัญต่อการเป็นเจ้าของสุนัข มีเพียงร้อยละ 44 ของผู้ซื้อสุนัขเมื่อเร็วๆนี้ที่คิดว่าการส่งสุนัขเข้าเรียนทักษะการเข้าสังคมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และมีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่คิดว่าการส่งสุนัขเข้าเรียนหลักสูตรการฝึกสุนัขก่อนอายุ 6 เดือนเป็นสิ่งสำคัญ 11 มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะชักชวนเจ้าของลูกสุนัขทุกคนให้ส่งสุนัขเข้าเรียนทักษะการเข้าสังคมและหลักสูตรการฝึกสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีบริการเหล่านี้ในท้องถิ่น แต่ทั้งนี้มีแหล่งข้อมูลทางออนไลน์ที่ดีที่สามารถช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น Dogs Trust ที่มีเสียงที่บันทึกไว้และคำแนะนำในการพาสุนัขเข้าสังคมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโปรแกรม Sounds Sociable *เว็บไซต์นี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกเบื้องต้นและวิธีรับมือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในช่วงแรกและการฝึกลูกสุนัขในบ้านด้วยวิธีที่สงบและอ่อนโยนเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ

* https://www.dogstrust.org.uk/help-advice/dog-behaviour-health/sound-therapy-for-pets

อุปสรรคในการเข้าสังคมและการสร้างพฤติกรรมความเคยชิน

การให้สุนัขสัมผัสกับสิ่งเร้าและเหตุการณ์ต่างๆในบ้านเป็นประจำนั้นจะสามารถทำได้ง่ายหากเลี้ยงลูกสุนัขในสภาพแวดล้อมที่บ้าน (ดูรูปภาพที่ 5) โดยการสัมผัสสิ่งเร้าเชิงบวกนั้นจะมีคุณค่ามากกว่าการสัมผัสสิ่งเร้าเชิงลบเล็กๆน้อยๆต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป ทั้งนี้สิ่งเร้าในบ้าน (indoor stimuli) นั้นโดยธรรมชาติแล้วมักจะมีเสียงเบากว่าและมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่า นอกจากนี้ลูกสุนัขยังสัมผัสกับสิ่งเร้าเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมที่มีความคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมภายนอก (outdoor environment) ยังรวมไปถึงสิ่งเร้าที่มีขนาดใหญ่กว่า เคลื่อนไหวเร็วกว่า และเสียงดังกว่ามาก เช่น ยานพาหนะ ซึ่งยังรวมถึงพื้นที่โล่งและพลุกพล่าน เช่น แหล่งช้อปปิ้งและสวนสาธารณะ โดยลูกสุนัขจะสัมผัสกับสิ่งเร้าหรือประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้เมื่ออยู่ห่างจากบ้านที่มีความปลอดภัยและห่างจากแม่ที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัยต่อลูกสุนัข ลูกสุนัขจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสมาชิกของครอบครัวใหม่ ดังนั้นช่วงแรกที่พาลูกสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ลูกสุนัขอาจจะมีความรู้สึกวิตกกังวลและอ่อนแอมาก (รูปภาพที่ 6) หากการเดินทางครั้งแรกเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อลูกสุนัขยังอยู่ในช่วงมีความตื่นตัวสูง อย่างน้อยโรคกลัวสิ่งใหม่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะเข้ามาเสริม แต่ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน หากฉีดวัคซีนหลักให้กับลูกสุนัขล่าช้าและฉีดเสร็จหลังจากหมดช่วงมีความตื่นตัวสูงแล้ว ลูกสุนัขอาจจะไม่มีโอกาสได้รับประสบการณ์เชิงบวกจากโลกกลางแจ้ง (outdoor world) ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อความกลัว ความกังวล และความก้าวร้าวเมื่อโตเต็มวัย

การสัมผัสสิ่งเร้าและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านในช่วงมีความตื่นตัวสูงนั้นเป็นผลตามธรรมชาติของการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่บ้าน

รูปภาพที่ 5 การสัมผัสสิ่งเร้าและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านในช่วงมีความตื่นตัวสูงนั้นเป็นผลตามธรรมชาติของการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่บ้าน แต่การสัมผัสสิ่งเร้าและเหตุการณ์ต่างๆนอกบ้านในช่วงมีความตื่นตัวสูงนั้นจะขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน ยิ่งฉีดวัคซีนครบเร็วเท่าไร สัดส่วนของช่วงมีความตื่นตัวสูงที่ลูกสุนัขสามารถสัมผัสกับสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ต่างๆนอกบ้านก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ลูกศรสีเขียวจะแสดงถึงประสบการณ์เชิงบวก ลูกศรสีส้มและสีแดงจะแสดงถึงประสบการณ์เชิงลบที่มากขึ้น
อ้างอิง: Jon Bowen

ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นส่วนสำคัญของการเข้าสังคมและการสร้างพฤติกรรมความเคยชิน เพราะหากไม่ได้ฉีดวัคซีน ความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการด้านพฤติกรรม ตามหลักการแล้วสัตวแพทย์ควรเริ่มฉีดวัคซีนหลักให้ลูกสุนัขเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การให้วัคซีนครั้งแรกเมื่อตอนที่ลูกสุนัขยังอยู่กับนักเพาะพันธุ์สัตว์จะช่วยให้สุนัขสามารถออกไปนอกบ้านได้เร็วที่สุดหลังจากย้ายไปบ้านใหม่ นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังควรให้คำแนะนำที่ดีที่สุดเกี่ยวกับความชุกของโรคในท้องถิ่น ซึ่งจะสร้างความสมดุลระหว่างความเสี่ยงต่อสุขภาพ (health risks) กับอันตรายที่เกิดจากการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการเข้าสังคมและการสร้างพฤติกรรมความเคยชินได้

 การเดินเล่นกลางแจ้ง 2-3 ครั้งแรกสำหรับลูกสุนัขอายุน้อยอาจเป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดหวั่นสำหรับพวกมัน

รูปภาพที่ 6 การเดินเล่นกลางแจ้ง 2-3 ครั้งแรกสำหรับลูกสุนัขอายุน้อยอาจเป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดหวั่นสำหรับพวกมัน เจ้าของควรพาลูกสุนัขเดินเล่นอย่างระมัดระวังเนื่องจากพวกมันอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยและอ่อนแอเมื่ออยู่ห่างจากสภาพแวดล้อมเดิมที่คุ้นเคย
อ้างอิง: Shutterstock

การจัดการกับประสบการณ์ในช่วงเริ่มแรก

แม้ว่าความสำคัญของการเข้าสังคมและการสร้างพฤติกรรมความเคยชินในการพัฒนาลูกสุนัขให้โตเป็นสุนัขที่ดีนั้นจะเป็นที่ยอมรับกันดีอยู่แล้ว แต่แนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายการเข้าสังคมและการสร้างพฤติกรรมความเคยชินนั้นยังไม่ชัดเจน 13 อย่างไรก็ตามงานเลี้ยงสำหรับสุนัข (puppy parties) จะเป็นประโยชน์หากดำเนินไปได้ด้วยดี โดยประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทั้งนี้งานเลี้ยงอาจจะมากเกินไปสำหรับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีลูกสุนัขหลายช่วงอายุอยู่ด้วยกันและหากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างลูกสุนัขได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ในทำนองเดียวกันลูกสุนัขสามารถถูกข่มได้ง่ายเมื่อพวกมันเริ่มพบกับสุนัขและคนอื่นๆที่ไม่คุ้นเคยระหว่างการเดินเล่นนอกบ้านครั้งแรก กุญแจสำคัญในการจัดการกับประสบการณ์เหล่านี้คือการให้เจ้าของรับรู้และตอบสนองต่อสัญญาณความเครียดในลูกสุนัขอย่างเหมาะสม ตัวบ่งชี้ทั่วไปของความเครียด (indicators of stress) นั้นได้แก่ การเลียริมฝีปาก หาว หอบ กระสับกระส่าย หลีกหนี ส่งเสียงครางและร้องไห้ มีพฤติกรรมการป้องกันตัว (เช่น คำราม) ไม่อยากอาการ และไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราในฐานะสัตวแพทย์จะต้องให้ความรู้กับเจ้าของ กรณีที่เจ้าของเห็นสัญญาณต่างๆเหล่านี้ในลูกสุนัข พวกเขาควรนำสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณนั้นและปล่อยให้สุนัขสงบสติอารมณ์ หากพบอาการเดียวกันนี้หลังจากนำสุนัขไปอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกันอย่างระมัดระวังมากขึ้นแล้ว สัตวแพทย์ควรแนะนำเจ้าของให้ไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์

สรุป

พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอาจเป็นสาเหตุการตายที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในสุนัขที่อายุยังน้อย ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้นสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยและเมื่อถึงเวลาที่สุนัขแสดงอาการเหล่านี้ต่อสัตวแพทย์ ก็อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำการรักษา เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แม้สัตวแพทย์จะไม่อยากให้เจ้าของตื่นตระหนกแต่มันก็เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์เช่นกันที่จะต้องแจ้งให้เจ้าของรับทราบถึงโอกาสในการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมในสุนัขอายุน้อย บทสนทนาที่ยากลำบากนี้อาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับความจริงจังในการคัดเลือกและเลี้ยงดูลูกสุนัขและการตัดสินใจต่างๆที่ถูกต้อง สัตวแพทย์ยังมีบทบาทดีที่สุดในการโน้มน้าวนักเพาะพันธุ์สัตว์โดยการส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงดูที่ดีและการฉีดวัคซีนเมื่อถึงอายุตามเกณฑ์เพื่อให้ลูกสุนัขได้รับการเตรียมพร้อมอย่างเหมาะสมสำหรับบ้านใหม่ ด้วยการกระทำที่ถูกต้องเหล่านี้พวกเราจะสามารถแก้ไขปัญหาพฤติกรรมสำหรับลูกสุนัขอายุน้อยและเจ้าของได้

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2023 ทำเเบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Boyd C, Jarvis S, McGreevy PD, et al. Mortality resulting from undesirable behaviours in dogs aged under three years attending primary-care veterinary practices in England. Anim. Welf. 2018;27:251-262. 

  2. Yu Y, Wilson B, Masters S, et al. Mortality resulting from undesirable behaviours in dogs aged three years and under attending primary-care veterinary practices in Australia. Animals (Basel) 2021;11(2):493.

  3. Fox M. Overview and critique of stages and periods in canine development. Develop. Psychobiol. 1971;4(1):37-54.

  4. Greenough W, Black J, Wallace C. Experience and brain development. Child. Dev. 1987;58(3):539-559.

  5. Voss P. Sensitive and critical periods in visual sensory deprivation. Front Psychol. 2013;4:664. DOI: 10.3389/fpsyg.2013.00664

  6. Guardini G, Bowen J, Raviglione S, et al. Maternal behavior in domestic dogs: a comparison between primiparous and multiparous dogs. Dog Behav. 2015;1:23-33. 

  7. Guardini G, Mariti C, Bowen J, et al. Influence of morning maternal care on the behavioral responses of 8-week-old Beagle puppies to new environmental and social stimuli. App. Anim. Behav. Sci. 2016;181:137-144.

  8. Gazzano A, Mariti C, Notari L, et al. Effects of early gentling and early environment on emotional development of puppies. App. Anim. Behav. Sci. 2008;110:294-304.

  9. https://v12data.com/blog/25-amazing-statistics-on-how-consumers-shop-for-cars/. Accessed 31st Dec 2021.

  10. Packer R, Brand C, Belshaw Z, et al. Pandemic Puppies: characterising motivations and behaviours of UK owners who purchased puppies during the 2020 COVID-19 pandemic. Animals 2021;11:2500. 

  11. Bowen J. The 5 Top Behavioral Tips for New Puppy Owners. In; Proceedings, VMX, North American Veterinary Congress 2020.

  12. Weiss E, Miller K, Mohan-Gibbons H, et al. Why did you choose this pet?: Adopters and pet selection preferences in five animal shelters in the United States. Animals 2012;2:144-159.

  13. Howell T, King T, Bennett P. Puppy parties and beyond: the role of early age socialization practices on adult dog behavior. Vet. Med. (Auckl) 2015;6:143-153.

Jon Bowen

Jon Bowen

Dr. Bowen จบการศึกษาจาก Royal Veterinary College ในปี 1992 และใช้เวลาหลายปีในการเป็นสัตวแพทย์ในคลินิกสัตว์เลี้ยง อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 จากทั้งหมด 2 ตอน โดยผู้เขียนได้พิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ และสาเหตุว่าทำไมระเบียบปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการดำเนินกิจการคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทีมงานและการประสบความสำเร็จในการออกแบบและใช้ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 28/05/2023

การใช้ยาต้านจุลชีพในลูกสุนัขและแมว

เราควรเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นปัญหาในลูกสุนัขและแมวอย่างไร บทความนี้ J. Scott Weese ได้เสนอคำแนะนำเชิงปฏิบัติสำหรับสถานการณ์ทั่วไปในสถานพยาบาลสัตว์เล็ก

โดย J. Scott Weese

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 25/05/2023

ความสำคัญของ DHA ในลูกสุนัข

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Russ Kelley ผ่านการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีสมมติฐานว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (DHA) นั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายอย่างไรบ้าง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับลูกสุนัข

โดย Russ Kelley