ความชุกที่สูงของการทำการุณยฆาตนั้นเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาต่างๆที่มาจากปัญหาพฤติกรรมในสุนัขซึ่งยังมีอีกมากมาย สถิติต่างๆเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกแย่ให้เราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การการุณยฆาตก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาพฤติกรรมในสุนัขได้และมักจะใช้วิธีนี้กับกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าของสัตว์อาจเลือกที่จะหาบ้านใหม่ให้กับสุนัขหรือรักษาสุนัขให้หายจากพฤติกรรมเหล่านี้หรือแม้แต่ปรับรูปแบบของการใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อรองรับปัญหาด้านพฤติกรรม โดยตัวเลือกทั้งหมดเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดภาระทางอารมณ์ ภาระทางการเงิน หรือทำให้สูญเสียเวลาของครอบครัวเจ้าของสัตว์เลี้ยงไปก็ได้
ปัญหาพฤติกรรมนั้นเป็นสาเหตุหลักของการทอดทิ้งสุนัข (relinquishment) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังที่มีรายงานในการศึกษาหลายฉบับและสถิติประจำปีขององค์กรรับหาบ้านและสวัสดิภาพสัตว์ (rehoming and welfare organizations) นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องของกองทุนสาธารณะ (public funds) และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ การรักษาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี เพียงแต่การนำไปปฏิบัติตามและความสำเร็จจะขึ้นกับว่าเจ้าของนั้นมีแรงจูงใจหรือความกระตือรือร้นที่มากน้อยแค่ไหน มีความรู้ที่ดีพอหรือไม่ และได้รับคำแนะนำเพื่อเข้าถึงแหล่งขอความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ น่าเสียดายที่การศึกษาของชาวออสเตรเลีย 2 พบว่าร้อยละ 82.8 ของการตายของสุนัขทั้งหมดที่มีรายงานนั้นไม่มีการระบุสาเหตุและค่าเฉลี่ยอายุของสุนัขเมื่อเริ่มแสดงสัญญาณแรกของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาขึ้นคืออายุประมาณ 11 เดือน สิ่งนี้ช่วยบ่งชี้ว่าเรามักจะพลาดโอกาสที่จะช่วยแก้ไขปัญหาพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญไป เนื่องมาจากศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงที่มีภาระหน้าที่มากเกินไปตลอดเวลา รวมไปถึงการที่เจ้าของไม่ได้ให้การสนับสนุนตามที่ศูนย์พักพิงต้องการ หลายๆคนจึงต้องอยู่กับสุนัขที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อไป สิ่งนี้จะทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยง ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์และสุขภาพร่างกายรวมถึงจิตใจแย่ลง อีกทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งครอบครัวและสุนัขลดลงอีกด้วย
เมื่อเราทราบถึงผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมต่อผู้คนและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น แต่ทำไมเราถึงยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่พวกเราไม่ได้ใส่ใจในการป้องกันปัญหานี้มากพอ ในด้านของนักเพาะพันธุ์สัตว์ก็คือการคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขที่ถูกต้องและจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนแม่สุนัขให้เลี้ยงลูกสุนัขและช่วยให้เกิดการเข้าสังคมและสร้างพฤติกรรมความเคยชินตั้งแต่เด็ก ส่วนด้านของเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็คือการรู้ว่าควรเลือกสุนัขแบบไหน จากนั้นก็ให้ใช้เวลาและพลังงานไปกับการฝึกสุนัขให้เข้าสังคมเพื่อให้เกิดพฤติกรรมความเคยชินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความเข้าใจในสภาวะทางอารมณ์และแรงจูงใจของลูกสุนัข การให้ลูกสุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการฝึกฝนอย่างถูกต้อง
ในฐานะสัตวแพทย์นั้นก็หมายถึงการทำงานเชิงรุกร่วมกับนักเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อให้เกิดการคัดเลือกสัตว์ที่ดีและได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ตลอดจนการฉีดวัคซีนให้เมื่อลูกสัตว์มีอายุเหมาะสม การให้แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดแก่เจ้าของ และความเข้าใจทั้งในเรื่องการป้องกันโรคและการพัฒนาพฤติกรรมในลูกสุนัข ซึ่งโดยปกติสัตวแพทย์มักจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะฉะนั้นบทความนี้จะช่วยเน้นย้ำถึงสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างได้มากที่สุด ประการแรกคือการทบทวนขั้นตอนของพัฒนาการของลูกสุนัขและความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการกับการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงดูที่บ้าน
ขั้นตอนของพัฒนาการ
รูปภาพที่ 2 แสดงเส้นเวลา (timeline) ของขั้นตอน (stages) และจุดเวลา (timepoints) ที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติต่อพัฒนาการของลูกสุนัข ก่อนจะอายุ 3 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะยังขาดการเคลื่อนไหว (lack mobility) และประสาทสัมผัสหลักที่พวกมันสามารถตอบสนองได้คือการสัมผัส (touch) และการดมกลิ่น (olfaction) เท่านั้น หลังจากช่วงนี้ลูกสุนัขจะค่อยๆมีความกระตือรือร้นมากขึ้นเมื่อระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวพัฒนาดีขึ้น ซึ่งจะเรียกว่าช่วงมีความตื่นตัวสูง (sensitive period) และมักจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าช่วงปรับตัวเข้าสังคม (socialization period) ในช่วงเวลานี้ลูกสุนัขจะมีความเป็นอิสระจากสิ่งที่อยู่ด้วยเป็นเวลานานมากขึ้น (เช่น แม่สุนัขหรือคนที่พวกสัตว์รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย) และจะช่างสงสัยหรือช่างสำรวจมากขึ้น ช่วงมีความตื่นตัวสูงอาจจะขยายต่อไปจนถึงอายุ 12-14 สัปดาห์ แต่ถ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับตัวเข้าสังคมและพฤติกรรมความเคยชิน การสมมติว่าจุดสิ้นสุดคืออายุ 12 สัปดาห์จะดีที่สุด