ขั้นตอนที่ 3 : การเก็บรวบรวมประวัติทางโภชนาการ
ควรรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับปริมาณ และประเภทของอาหารที่มีการบริโภคทุกวัน เพื่อคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับอย่างแท้จริงของแมว แต่ในความเป็นจริงสามารถทำได้ยาก เนื่องจากแมวจำนวนมากได้รับอาหารเม็ดแบบไม่จำกัด (ad libitum dry food) และเจ้าของยังมีความไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการวัดปริมาณอาหารที่ให้อย่างแท้จริง ภายใต้สถานการณ์นี้ควรขอให้เจ้าของวัด หรือชั่งน้ำหนักอาหารในแต่ละมื้อ และตรวจสอบปริมาณที่เหลือทิ้งไว้หลังจากแต่ละช่วงเวลา
สิ่งสำคัญ คือ การตั้งคําถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกินของแมว บางครั้งเจ้าของอาจพูดว่าแมวยังสามารถกินได้ดี หรือแสดงอาการหิวมากกว่าปกติเมื่อแมวมีการแสดงพฤติกรรมการหาอาหาร เช่น การคลอเคลียกับขาของเจ้าของ หรือส่งเสียงร้องในช่วงเวลาอาหาร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้บ่งบอกถึงความสนใจในการกินก็จริง แต่ก็ยังต้องหาว่าแมวกินอาหารเข้าไปมากเท่าไหร่ ในแมวบางตัวอาจมีพฤติกรรมการขออาหาร และกินอาหารกระป๋องหรือขนม แทนการกินอาหารเม็ด ซึ่งเจ้าของอาจมองว่าปริมาณการกินเพียงต่อแมวแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงปริมาณพลังงานที่แมวควรได้รับต่อวันไม่เพียงพอ
อาจเป็นเรื่องยากในการระบุปริมาณการกินของแมวแต่ละตัวในบ้านที่มีการเลี้ยงแมวร่วมกันหลายตัว ในสถานการณ์นี้ เจ้าของต้องมีความใส่ใจในการสังเกตพฤติกรรมแมวในกลุ่ม (group dynamics) ที่อาจมีแมวตัวที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เหมือนแมวตัวอื่นๆ ซึ่งทำให้แมวตัวนั้นไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ 3 ชื่อกันว่าแมวมักกินอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งเมื่ออยู่ตัวเดียว และไม่ถูกรบกวนจากแมวด้วยกันเอง หรือสัตว์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการจำกัดการกินของตัวแมวเอง ดังนั้นจึงควรพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของชามอาหารแมว หากมีการตั้งชามอาหารไม่เหมาะสม แมวที่มีปัญหากระดูกและข้ออาจเกิดความไม่สบายตัว และต้องใช้ความพยายามอย่างมากทำให้แมวได้รับอาหารน้อยลง หรือการตั้งชามอาหารอยู่ใกล้กับเครื่องจักรที่มีเสียงดัง เช่น เครื่องซักผ้า ก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน
ระดับพลังงานต่อวันของแมวแต่ละตัวที่ต้องการมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และระดับกิจกรรมเฉพาะตัว สำหรับแมวที่สูงอายุ และทำหมัน ควรได้รับพลังงานแบบคร่าวๆ อย่างน้อย 40 ถึง 66 kcal ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับการคำนวณปริมาณพลังงานที่สัตว์ต้องการต่อวัน (Basal/resting energy requirement; RER) สามารถคิดได้จากสูตร RER = น้ำหนักตัว(kg)0.75 x 70 ส่วนในแมวโตการคิด RER ต้องคูณด้วย factor ที่ 1.2 -1.4 ตามระดับกิจกรรมของแมวแต่ละตัว เพื่อคำนวณหาพลังงานที่สัตว์ต้องการต่อวัน 4 หากแมวมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ideal body weight) ควรใช้น้ำหนักตัวที่เหมาะสมเพื่อกำหนดความต้องการพลังงานที่แท้จริงในแต่ละวัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนสำหรับกรณีที่แมวมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น แมวที่มีน้ำหนักลดโดยไม่แสดงความผิดปกติใดในผลทางห้องปฎิบัติการ ทั้งที่ได้รับปริมาณอาหารและพลังงานอย่างเพียงพอ ถือเป็นความผิดปกติ
การวินิจฉัยที่ต้องพิจารณาภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ ได้แก่ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติระยะเริ่มต้น (early hyperthyroidism) โรคลำไส้อักเสบ (IBD) และโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (exocrine pancreatic insufficiency) (แสดงในตารางที่ 1) นอกจากนี้แมวบางตัวที่มีภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (cachexia) ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือการติดเชื้อแบบเรื้อรัง สามารถเกิดภาวะน้ำหนักลดทั้งที่กินอาหารเพียงพอ อย่างไรก็ตามการเบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลงจะเป็นอาการที่แสดงออกได้บ่อยในโรคกลุ่มนี้ 5 ในแมวที่เกิดภาวะผอมผิดปกติจนหนังหุ้มกระดูก (cachectic disorder) อาจมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากกว่าเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญของร่างกาย (metabolism) ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของสารอักเสบ (inflammatory cytokines) เช่น tumor necrosis factor-alpha และ interleukins 1 และ 6 การวินิจฉัยสำหรับแมวที่มีภาวะน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และการกินลดลง มีความเป็นไปได้มากมายหลากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างในแต่ละโรคให้ถี่ถ้วนและครอบคลุม (แสดงในตารางที่ 2)
ตารางที่ 1 ข้อควรพิจารณาในการวินิจฉัยในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะได้รับปริมาณแคลอรี่เพียงพอหรือมากเกินไป
ตารางที่ 2 ข้อควรพิจารณาในการวินิจฉัยในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ
*SDMA = symmetric dimethylarginine
ขั้นตอนที่ 4 : พิจารณาข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ
ฐานข้อมูลมาตรฐาน (minimum database) สำหรับแมวที่เกิดภาวะน้ำหนักลดควรประกอบไปด้วย การวิเคราะห์เลือด (complete blood count) การวิเคราะห์ชีวเคมี และอิเล็กโทรไลต์ของซีรัม (serum biochemical profile with electrolytes) และการวิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis) การตรวจอุจจาระด้วยการลอยตัวแบบง่าย (fecal floatation) แนะนำให้ทำในแมวที่มีการเลี้ยงปล่อยให้ออกไปนอกบ้าน หากแมวมีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดระดับฮอร์โมน total thyroxine concentration ร่วมด้วยตามคำแนะนําจาก American Association of Feline Practitioners ในแมวบางตัวที่มีภาวะการเกิดโรคทางระบบร่างกายควรตรวจหาไวรัส feline leukemia (FeLV) และ feline immunodeficiency (FIV) ด้วย
ถึงแม้ว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กล่าวมานั้นจะครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีแมวบางตัวที่ป่วยแต่มีผลการตรวจเลือดอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องประเมินข้อมูลที่มีอยู่อย่างรอบคอบ และเปรียบเทียบกับผลทางห้องปฏิบัติการที่เคยมีการตรวจและจดบันทึกไว้อย่างสม่ำเสมอ (แสดงในตารางที่ 3) ในการวิเคราะห์ เช่น ค่า creatinine และ albumin อาจดึงดูดความสนใจชวนให้ตั้งคำถามได้ในแมวที่สุขภาพดีบางตัว ดังนั้น การมองหาแนวโน้มแทนที่จะมุ่งเน้นไปหาความผิดปกติอาจมีประโยชน์มากกว่า ยกตัวอย่าง
- มีการลดลงของ serum albumin (แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานปกติ) อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในระบบทางเดินอาหารได้ (gastrointestinal disease) เช่น การเกิดลำไส้อักเสบ (IBD) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (small cell lymphoma; SCL) 6 ควรตระหนักว่าแมวจำนวนมากจะยังมีความปกติของลักษณะอุจจาระถึงแม้จะมีปัญหาการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น ลักษณะอุจจาระที่ปกติไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะลำไส้อักเสบ (IBD) ควรทำการตรวจวัดความเข้มข้นของ folate และ cobalamin ในซีรัม เนื่องจากระดับที่ต่ำกว่าปกติ จะช่วยบ่งชี้ถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป)
- ปริมาณ Serum creatinine ในแมวที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระดับ 1 (chronic kidney disease; CKD) และระดับ 2 สำหรับบางตัว อาจมีค่าอยู่ในช่วงปกติ ถึงแม้ว่าโรคไตเรื้อรังจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการสูญเสียการทำงานของไตได้ และแมวอาจมีน้ำหนักลดลงอย่างมากได้เช่นกัน 7 ซึ่งน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเผาผลาญของร่างกายที่ตามมาจากโรคไตเรื้อรัง และสารอักเสบ (inflammatory cytokines) ที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารของแมว การเพิ่มขึ้นของ creatinine ในซีรัม มากกว่า 26 µmol/L หรือ 0.3 mg/dL เมื่อเทียบกับระดับ creatinine ที่อยู่ในช่วงปกติของแมว แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียการทำงานของไต ซึ่งการสูญเสียการทำงานครั้งนี้อาจเกิดร่วมกันมีค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine specific gravity) น้อยกว่า 1.035 หรือการพบโปรตีนในปัสสาวะ 8 ดังนั้น สถานะการทำงานของไตจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมจากการวัดความดันโลหิต (systolic blood pressure) และทำอัลตราซาวน์ตรวจเพื่อระบบไต (ultrasonography of the renal system)
- ควรพิจารณาความเข้มข้นของ Total thyroxine (T4) อย่างรอบคอบโดยเฉพาะในรายที่มีค่าอยู่ในช่วงปกติ เมื่อแมวมีอายุมากขึ้นปริมาณ T4 จะค่อยๆลดลงจนถึงขอบล่างของค่ามาตรฐานปกติ หากปริมาณ T4 เพิ่มขึ้นในเมื่อที่มีภาวะน้ำหนักลด จึงบ่งบอกถึงภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติในระยะเริ่มต้นได้ 9 โดยทั่วไปแล้วหาก total T4 มีค่าอยู่ในระดับครึ่งบนของช่วงค่ามาตรฐานในแมวสูงอายุที่มีภาวะน้ำหนักลด ควรทำการตรวจ free T4 เพิ่มเติม และปริมาณฮอร์โมน Feline-specific thyroid stimulating ยังอาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติในรายที่มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานในแมวปกติ 10
- ในแมวปริมาณ Serum total calcium ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับการแตกตัวของไอออน (ionized levels) เมื่อแคลเซียมแตกตัวเป็นไอออนเพิ่มขึ้นอาจถูกมองข้ามได้ ถ้าปริมาณแคลเซียมในซีรัมอยู่ในค่ามาตรฐาน หากปริมาณแคลเซียมในซีรัมมีค่าสูงถึงขอบบนของค่ามาตรฐาน จึงค่อยทำการวัดการแตกตัวของแคลเซียม 11 การเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) ไม่ว่าจะเกิดด้วยเหตุผลใดก็ตาม มักมีความเกี่ยวข้องกับภาวะไม่อยากกินอาหาร และเกือบร้อยละ 20 ของแมวที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันถึงภาวะแคลเซียมในเลือดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุมักมีอาการน้ำหนักลดด้วย 12
- เมื่อการวิเคราะห์ผลเลือดอยู่ในค่าปกติจะมีความสามารถในการโน้มนำสาเหตุของภาวะน้ำหนักลดได้น้อย แต่เมื่อปริมาณเม็ดเลือดขาว Eosinophil อยู่ระดับขอบบนของค่ามาตรฐานอาจมีนัยยะสำคัญที่ช่วยบ่งบอกถึงปัญหาได้ เนื่องจากกระบวนการการเกิดเนื้องอกมะเร็ง เช่น การเกิด lymphoma และ mast cell tumor จะมีการปล่อย chemokines ออกมาซึ่งจะดึงดูด eosinophil ให้เข้ามา 13 ดังนั้นในแมวที่เกิด eosinophilic IBD จึงมีปริมาณ eosinophil ในเลือดสูงขึ้น
ตารางที่ 3 พารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญต่อแนวโน้มในแมวที่มีการลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
ขั้นตอนที่ 5 การทดสอบในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
ฐานข้อมูลมาตรฐาน (minimum database) ไม่ได้ใช้เบาะแสที่เป็นประโยชน์ ทางผู้เขียนแนะให้ตรวจสอบการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และวัดปริมาณความเข้มข้นของ folate และ cobalamin ในซีรัม
ภาวะโฟเลตต่ำ (Hypofolatemia) บ่งชี้ถึงการทำหน้าที่ดูดซึมที่ผิดปกติไปของลำไส้เล็กส่วน duodenum แต่ความผิดปกตินี้ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้ และถึงแม้ว่าค่า serum folate อยู่ในช่วงค่ามาตรฐานปกติ ก็ไม่สามารถตัดปัญหาการอักเสบ หรือการเกิดเนื้องอกในลำไส้ได้เช่นกัน 14 การใช้ความเข้มข้นของ cobalamin (B12)ในซีรัม ดูเหมือนจะมีประโยชน์มากกว่า เมื่อมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานปกติจะสามารถบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนลำไส้เล็กส่วน ileal (ileal disease) การเปลี่ยนแปลงของจุลชีในลำไส้ (intestinal dysbiosis) หรือตับอ่อนทำงานผิดปกติ (exocrine pancreatic insufficiency) ในทางปฏิบัติเมื่อความเข้มข้นของ cobalamin (B12) ในซีรัม มีค่าน้อยกว่า 400 ng/L (ช่วงค่ามาตรฐาน 290-1,500 ng/L) ถือว่านัยยะสำคัญ การขาด Cobalamin อาจส่งผลต่อความอยากอาหาร ดังนั้นการรับรู้และจัดการ hypocobalaminemia จึงเป็นสิ่งสำคัญ 15
แมวที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) อาจไม่แสดงอาการอาเจียน (vomit) หรืออาการไม่สบายบริเวณช่องท้อง (abdominal discomfort) แต่อาจแสดงอาการไม่อยากกินอาหารแทน แม้ว่าในการวินิจฉัยยืนยันต้องใช้จุลพยาธิวิทยาของตัวอย่างตับอ่อน แต่การวินิจฉัยทางคลินิกในการสันนิษฐานมักจะขึ้นอยู่กับการแสดงอาการทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งอาจแสดงอาการแค่ความอยากอาหารลดลง (hyporexia) ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการทำอัลตราซาวน์ช่องท้อง และ/หรือการตรวจวัด pancreas-specific lipase immunoreactivity ซึ่งการเพิ่มขึ้นของพารามิเตอร์นี้บ่งชี้ถึงความเสียหายของ acinar cell ในตับอ่อน อย่างไรก็ตาม โรคตับอ่อนอักเสบอาจไม่สาเหตุเดียวของการเกิดน้ำหนักลดในแมว ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของการเปิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร หรือความผิดปกติอื่นๆ16 นอกจากนี้การอักเสบของตับอ่อนอาจแสดงอาการแบบเป็นๆ หายๆ ดังนั้นผลการตรวจที่อยู่ในระดับปกติไม่สามารถตัดปัญหาเกี่ยวกับการอักเสบนี้ออกไปได้ การตรวจวัดระดับ pancreas-specific lipase ซ้ำจ่ะช่วยในการวินิจฉัยนี้ได้
ในสุนัข การใช้ C-reactive protein เป็น biomarker สำหรับการบ่งชี้การอักเสบ และการเพิ่มขึ้นของโปรตีนนี้ก็สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติได้อีกหลายๆอย่าง 17 ซึ่ง C-reactive protein เป็นโปรตีนที่ถูกสร้างจากตับเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกายในระยะเฉียบพลัน (acute phase protein) ซึ่งจะมีค่ามากกว่าปกติถึง 20 เท่าเมื่อมีการตอบสนองต่อการอักเสบ การบาดเจ็บ และการเกิดเนื้องอกในสุนัข แต่ในแมวไม่สามารถใช้โปรตีนชนิดนี้เป็นตัวบ่งชี้ของการอักเสบ หรือการเกิดเนื้องอกได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณ C-reactive protein ไม่พบความแตกต่างทางคลินิกระหว่างแมวที่มีสุขภาพดีกับแมวหลังการผ่าตัด (post-operative) 18