อาหารสูตรฟื้นฟู (recovery diet) ที่มีแคลอรี่และโปรตีนสูงที่วางจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมักเพียงพอต่อความต้องการทางโภชนาการของแมวในแง่ของกระอะมิโนจำเป็นและไขมัน ทั้งนี้ข้อจำกัดด้านโปรตีนมักไม่ค่อยระบุไว้ยกเว้นแต่แมวที่เป็นโรคสมองจากตับ (HE) รุนแรง ความต้องการแคลอรี่ต่อวัน (daily caloric intake) ที่คำนวณได้ (ความพลังงานพื้นฐานที่ร่างกายต้องการขณะพักหรือ resting energy requirement: 30 x (น้ำหนักตัว) + 70 หรือ (น้ำหนักตัว)0.75 x70) แล้วแบ่งเป็น 4-6 มื้อ ปริมาณของแต่ละมื้อรวมไปถึงน้ำที่ใช้ในการฟลัชล้างสายยางตอนท้ายนั้นต้องไม่เกิน 10-15 มล./กก./มื้อ ทั้งนี้แนะนำให้ค่อยๆปรับปริมาณอาหารและปริมาณแคลอรี่โดยรวมขึ้นทีละน้อย ซึ่งปกติแล้วควรปรับให้เพิ่มขึ้นโดยใช้เวลาประมาณ 3 วัน วิธีนี้จะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารปรับตัวเข้ากับอาหารได้อย่างค่อยเป็นค่อยเป็น เพื่อติดตามการพัฒนาภาวะลำไส้อุดตัน (ileus) ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถให้อาหารต่อไปได้และเพื่อบลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการหลังการได้รับสารอาหาร (refeeding syndrome) (ดูหัวข้อ “ภาวะแทรกซ้อน” ด้านล่าง)
แมวที่เป็นโรคไขมันพอกตับนั้นจะสูญเสียวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน (เช่น วิตามินดี วิตามินเค) และวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ (เช่น ไทอามีน (thiamine) โคบาลามิน (cobalamin)) 2. การขาดวิตามินเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น ภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะฝ่อของวิลลัสในลำไส้ (villous atrophy) ภาวะแอมโมเนียในเลือดสูง (hyperammonemia) และความผิดปกติทางระบบประสาท เพราะฉะนั้นการให้วิตามินเสริมจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา (ตารางที่ 2)
การรักษาโดยการให้สารน้ำและการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน
เมื่อคำนวณความต้องการน้ำในแต่ละวัน (daily fluid requirement) สัตวแพทย์จะต้องคำนึงถึงระดับน้ำในร่างกาย (hydration status) ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับ (maintenance needs) รวมถึงปริมาณน้ำที่สูญเสียออกจากร่างกายที่วัดได้ (sensible) (เช่น อาเจียน/ท้องเสีย) และวัดไม่ได้ (insensible) อย่างไรก็ตามอาจต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจร่วม (concurrent cardiac disease) และปริมาณน้ำที่ให้ผ่านสายยางให้อาหารด้วย การเสริมโพแทสเซียมมักจะถูกระบุเป็นโพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride (KCl)) หรือโพแทสเซียมฟอสเฟต (potassium phosphate (KPO4)) เมื่อมีภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำร่วมด้วย (ตารางที่ 2) หากไม่สามารถวัดระดับความเข้มข้นของแมกนีเซียมในเลือดได้ การจัดการแบบดั้งเดิม (conservative approach) อาจเป็นการเสริมด้วยสารน้ำที่มีแมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulphate) ที่ 0.5 mEq/กก. ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 วัน
แมวทุกตัวต้องได้รับการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน (antinausea and antiemetic therapy) โดยการใช้ยา metoclopramide, maropitant และ ondansetron ร่วมกันหลายๆชนิด อีกทั้งสัตวแพทย์ยังมักให้ mirtazapine ร่วมด้วยเนื่องจากคุณสมบัติในการลดอาการคลื่นไส้และกระตุ้นความอยากอาหารโดยเฉพาะในแมวที่มีอาการเบื่ออาหารหลังจากออกจากโรงพยาบาลสัตว์ ยา metoclopramide นั้นมีประโยชน์เพิ่มเติมในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal motility) ในกรณีที่มีภาวะลำไส้อุดตัน (ileus) แม้จะได้รับการรักษาด้วยยา metoclopramide และรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำหายแล้ว สัตวแพทย์ควรพิจารณาการรักษาด้วย cisapride (0.5 มก./กก. ทุก 8 ชั่วโมง ทางการกิน)
การรักษาเพื่อปกป้องเซลล์ (cytoprotective therapy)
การทำลายออกซิเดชั่น (oxidative damage) และความเข้มข้นของลูตาไธโอน (glutathione) ที่ลดลงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทราบกันดีของโรคไขมันพอกตับในแมว และการรักษาด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant therapy) มักจะใช้ในแมวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้แก่ SAMe และ silymarin โดย SAMe เป็นโมเลกุลที่มีอยู่ทั่วไปซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวเคมี (biochemical pathways) มากมาย 23,24, ในขณะที่ silymarin (ซึ่งประกอบไปด้วยสารประกอบหลายชนิด โดยมี silibinin เป็นส่วนประกอบสำคัญ (active ingredient) ที่มีมากที่สุด) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเพิ่มปริมาณการหลั่งน้ำดีจากตับ (choleretic activities) รวมถึงยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) 23. ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับสัตวแพทย์อยู่หลายชนิดที่ประกอบด้วย silymarinและ SAMe รวมกัน แต่หากไม่สามารถให้สารเสริมทางการกินหรือผ่านสายยางให้อาหารได้ ก็สามารถเลือกใช้ -acetylcysteine ผ่านหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มระดับความเข้มข้นของซิสเตอีนในตับ (hepatic cysteine concentration) และเพิ่มระดับของกลูตาไธโอนตามมา อย่างไรก็ตามยานี้ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมเหมือนกับ silymarinและ SAMe และอาจทำให้อาเจียนได้หากฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็ว 23. สุดท้าย สัตวแพทย์อาจเสริมวิตามินอีเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (free radical scavenger) จากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของฟอสโฟลิปิด (phospholipid oxidation) ในเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) วิตามินอีนั้นมีผลข้างเคียงน้อยมากแต่ก็ไม่มีรายงานประโยชน์ทางคลินิกใดใดเช่นกัน 23 (ตารางที่ 2)
ยาอื่นๆ
Ursodeoxycholic acid เป็นกรดน้ำดีที่ชอบน้ำ (hydrophilic bile acid) และอาจมีประโยชน์ต่อโรคไขมันพอกตับในแมว เนื่องจากมีคุณสมบัติในการเพิ่มปริมาณการหลั่งน้ำดีจากตับ (choleretic) ป้องกันการตายของเซลล์ (anti-apoptotic) และต้านการอักเสบ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อย 23 (ตารางที่ 2) แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) มีหน้าที่ขนส่งกรดไขมันสายยาว (long-chain fatty acids) เข้าไปในไมโตคอนเดรีย จึงทำให้สามารถนำไปใช้ผลิตพลังงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในแมวอ้วนที่ต้องควบคุมอาหาร แอลคาร์นิทีนก็จะช่วยลดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ในตับ ทั้งนี้จากการสังเกตทางคลินิกพบว่าแอลคาร์นิทีนมีประโยชน์ต่อโรคไขมันพอกตับในแมว10. แม้ว่าระดับของแอลคาร์นิทีนจะเพิ่มขึ้นในแมวที่เป็นโรคไขมันพอกตับ25, แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงแนะนำให้เสริมแอลคาร์นิทีนด้วย (ตารางที่ 2) ภาวะพร่องทอรีนมักจะเกี่ยวข้องกับพยาธิวิทยาของโรคหัวใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์และความผิดปกติของพัฒนาการ (developmental pathologies) อีกทั้งยังส่งผลต่อการสะสมของไขมันในตับ แม้ว่าอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะมีกรดอะมิโนชนิดนี้ในปริมาณที่เพียงพอแต่บางครั้งผู้เขียนก็จะแนะนำให้ให้เสริมทางสายยางให้อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ ursodeoxycholic acid เนื่องจากจะทำให้เกิดการสูญเสียทอรีนในทางเดินน้ำดี (biliary loss of taurine) มากขึ้น1. สุดท้ายสัตวแพทย์อาจพิจารณาใช้ lactulose เมื่อมีอาการของโรคสมองจากตับอย่างรุนแรงและมีภาวะแอมโมเนียในเลือดสูงหรือในแมวที่มีอาการท้องผูก นอกจากนี้สัตวแพทย์ควรใช้ pantoprazole/omeprazole เมื่อสงสัยว่ามีแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulceration) หรือหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (reflux esophagitis)
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนมากมายนั้นอาจเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากโรคไขมันพอกตับในแมวและการรักษาได้ กลุ่มอาการหลังได้รับสารอาหาร (refeeding syndrome) เป็นกลุ่มอาการของการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเมตาบอลิซึมที่เกิดขึ่นหลังจากให้อาหารอีกครั้งหลังมีภาวะทุพโภชนาการเป็นเวลานาน โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งแต่มีบันทึกข้อมูลในแมวไว้ค่อนข้างน้อย กลุ่มอาการนี้เกี่ยวข้องกับภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ (hypophosphatemia) อย่างรุนแรง และบางครั้งอาจเกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia) และภาวะพร่องไทอามีน (thiamine deficiency) การค่อยๆเพิ่มปริมาณแคลอรี่ทีละน้อย ร่วมกับการจำกัดคาร์โบไฮเดรต การเสริมอิเล็กโทรไลต์และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจะช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียที่ตามมาจากกลุ่มอาการนี้ได้ 1,14,15.
ภาวะวิลลัสฝ่อแบบกระจาย (diffused villous atrophy) ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเบื่ออาหารเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (malabsorption) และท้องเสียหลังจากให้อาหารทางสายยาง (enteral feeding) อีกครั้งได้ แต่การให้อาหารทางสายยางอย่างค่อยเป็นค่อยไปและให้อาหารที่ย่อยได้ง่าย (highly digestible diets) จะสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ แมวที่เป็นโรคไขมันพอกตับมักพยาธิสภาพร่วม (concurrent pathologies) เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ ภาวะไตวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ภาวะแทรกซ้อนจากการมีเลือดออก/ลิ่มเลือดอุดตัน (bleeding/thrombotic complications) และภาวะดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้การมีน้ำสะสมในช่องว่างร่างกายอาจเกิดขึ้นจากภาวะโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ โรคหัวใจหรือภาวะตับอ่อนอักเสบ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวบ่งชี้การพยากรณ์โรคเชิงลบ (negative prognostic factor) 9.
สุดท้ายภาวะภูมิต้านทานต่ำ (immunosuppression) จากภาวะทุพโภชนาการอาจโน้มนำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (secondary bacterial infections) ได้ และสัตวแพทย์ควรให้ยาปฏิชีวนะหากมีข้อบ่งชี้ของการติดเชื้อ (เช่น ภาวะถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis)) นอกจากนี้อาจพิารณาใช้ในรณีที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ/สูง (neutropenia/neutrophilia) อย่างรุนแรง และ/หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางเซลลวิทยาหรือแบคทีเรียวิทยาที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อก็ตาม
สรุป
โรคไขมันพอกตับเป็นโรคตับที่พบได้บ่อยที่สุดในแมวและอาจมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการพยากรณ์โรค (prognostic) ของโรคพื้นเดิม (underlying diseases) และโรคร่วม (comorbidities) ต่างๆ ทั้งนี้อัตรารอดชีวิต (survival rates) โดยรวมจะอยู่ระหว่างร้อยละ 50-85 แต่ภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ การมีน้ำสะสมในช่องว่างร่างกาย (cavitary effusions) ภาวะโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ (hypoalbuminemia) และอายุที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเริ่มแสดงอาการของโรคนั้นก็ถูกรายงานว่าเป็นตัวบ่งชี้ของการพยากรณ์โรคเชิงลบ (negative prognostic markers) อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคนี้จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยที่รุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่การรักษามักจะประสบความสำเร็จและไม่ค่อยกลับมาเป็นซ้ำ