วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 32.1 Other Scientific

ระยะของพัฒนาการในแมว

เผยแพร่แล้ว 22/03/2023

เขียนโดย Kersti Seksel

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Português , Español และ English

การทำความเข้าใจระยะต่างๆในการพัฒนาของลูกแมวนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการแนะนำเจ้าของให้ทราบถึงวิธีที่ดีที่สุดในการมีปฏิสัมพันธ์กับแมวของพวกเขา ตามที่ Kersti Seckel ได้อธิบายไว้

การได้รับสัมผัสจากมนุษย์ในช่วงอายุ 7 สัปดาห์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกแมว

ประเด็นสำคัญ

เจ้าของลูกแมวจำเป็นที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีที่จะช่วยปรับปรุงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ของพวกเขา


สภาพแวดล้อมภายในมดลูกของแม่แมวในช่วงระหว่างตั้งท้องนั้นมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในอนาคตและพัฒนาการของลูกแมวแต่ละตัว และอาหารที่สมดุลสำหรับแม่แมวที่ตั้งท้องนั้นก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก


การสัมผัสและการเลี้ยงดูจากมนุษย์มีความสำคัญอย่างมากในลูกแมวอายุก่อน 9 สัปดาห์ เนื่องจากจะช่วยให้ลูกแมวมีพฤติกรรมที่ยอมรับได้ในสังคม


ลูกแมวที่เลี้ยงดูโดยมนุษย์อย่างเดียวจนโต (hand-reared kittens) มีแนวโน้มที่จะพัฒนาลักษณะขี้กลัวและก้าวร้าวทั้งต่อคนและแมวตัวอื่น รวมไปถึงแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการเรียนรู้น้อยลง


บทนำ

ในบางครั้งแมวมีพฤติกรรมบางอย่างที่เจ้าของอาจทำความเข้าใจหรือจัดการได้ยาก ปัญหานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของพัฒนาการ อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสำหรับลูกแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของบทบาทการเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจช่วงพัฒนาการต่างๆของแมวเพื่อช่วยให้ลูกแมวเติบโตเป็นแมวที่ดีและเป็นเพื่อนที่ดีให้กับเจ้าของ พฤติกรรมนั้นจะถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายประการซึ่งรวมไปถึงความบกพร่องทางพันธุกรรมของแมว ลักษณะทางพันธุกรรมของพ่อและแม่ (genotype) สิ่งที่แมวได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา (ทั้งประสบการณ์ที่ดี ไม่ดี และทั่วไป) ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่แมวได้เจอในช่วงเวลาต่างๆ โดยพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetics) นั้นก็ยังมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน

การรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกแมวเติบโตเป็นแมวที่มีมารยาทดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องเริ่มตั้งแต่นักเพาะพันธุ์สัตว์ซึ่งจะเป็นคนตัดสินใจว่าแม่แมวควรจะผสมพันธุ์กับพ่อแมวตัวไหนและเมื่อไร แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งที่สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเท่านั้น การทำความเข้าใจถึงวิธีการจัดการแม่แมวทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการตั้งท้อง วิธีที่จะช่วยสร้างความพร้อมให้กับลูกแมว และวิธีการเลี้ยงดูลูกแมวก่อนที่จะไปบ้านใหม่ก็เป็นเพียงบางส่วนที่ต้องพิจารณา นอกจากนี้สัตวแพทย์ควรยินดีที่จะให้คำแนะนำและต้องสามารถให้คำปรึกษาได้ทุกด้าน โดยที่สำคัญคือเจ้าของลูกแมวตัวใหม่ต้องได้รับความรู้เรื่องวิธีดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของแมวให้ดีที่สุด เนื่องจากปัจจัยทั้งสองต่างมีความสำคัญที่จะส่งผลให้แมวกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดี อีกทั้งการมีความคาดหวังที่เป็นไปได้ในสิ่งที่ลูกแมวสามารถทำได้และควรทำให้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแมวกับเจ้าของให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการของลูกแมวจากลูกแมวแรกเกิดที่ต้องอาศัยการพึ่งพิงอย่างสมบูรณ์และมีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่จำกัด ไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นอิสระ มีสรีระที่พัฒนาอย่างเต็มที่ซึ่งจะช่วยให้สามารถดูแลตนเอง ล่าเหยื่อ และมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ตัวอื่นในสปีชีส์เดียวกันหรือสปีชีส์อื่นๆได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้จะมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน รวมถึงได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย มีการระบุถึงระยะพัฒนาการที่แตกต่างกันหลายช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนคลอด (prenatal) ลูกสัตว์แรกเกิด (neonatal) ช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional) ช่วงเข้าสังคม (socialization) ช่วงวัยรุ่น (juvenile) ช่วงสัตว์โตเต็มวัย (adult) และช่วงสัตว์สูงวัย (senior) ซึ่งแต่ละระยะล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของแมว (ตารางที่ 1) เมื่อลูกแมวโตขึ้น ระบบต่างๆของร่างกายซึ่งรวมถึงระบบกล้ามเนื้อและกระดูกและระบบประสาท ตลอดจนด้านจิตใจ (อารมณ์) จะต้องพัฒนาตามลำดับที่ถูกต้อง หากลูกแมวมีพัฒนาการทางระบบประสาทที่ปกติ สัตวแพทย์ควรให้ความสนใจกับช่วงเข้าสังคมเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกแมวหย่านมแล้วและอาจถูกย้ายไปบ้านใหม่รวมถึงอาจถูกทำหมัน ดังนั้นจึงมีความเครียดมากมายต่อสัตว์ในระยะพัฒนาการนี้ซึ่งมีความอ่อนไหวมาก อย่างไรก็ตามช่วงเข้าสังคมก็ไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวที่ต้องให้ความสนใจ นอกจากนี้เราควรจะตระหนักว่าระยะเวลาในการพัฒนานั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัวและอาจแตกต่างกันไปตามลูกแมวแต่ละตัว เพราะหน่วยงานที่แตกต่างกันอาจจะกำหนดระยะพัฒนาการโดยใช้ขอบเขตเวลาที่แตกต่างกันได้

ตารางที่ 1 ระยะของพัฒนาการในแมวที่แตกต่างกันและช่วงอายุที่เหมาะสม

ระยะของพัฒนาการ ช่วงอายุ
ช่วงก่อนคลอด อยู่ในมดลูก
ช่วงลูกสัตว์แรกเกิด 0-2 สัปดาห์
ช่วงเปลี่ยนผ่าน 2-3 สัปดาห์
ช่วงเข้าสังคม 3 ถึงประมาณ 7-9 สัปดาห์
ช่วงวัยรุ่น ประมาณ 9 สัปดาห์จนถึง 4-10 เดือน
ช่วงสัตว์โตเต็มวัย/สัตว์สูงวัย ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์เป็นต้นไป

 

ช่วงก่อนคลอด

ช่วงก่อนคลอดหรือก็คือช่วงตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งคลอด ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 63 วันนั้นถือว่าเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากกว่าที่จะเป็นแค่การคาดหวังลักษณะในอนาคตของลูกแมว ระยะของการพัฒนาตัวอ่อน (embryonic development) นั้นเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิของไข่ซึ่งนำไปสู่การฝังตัวอ่อนในเยื่อบุมดลูก (ประมาณ 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ) โดยจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งนี้แมวนั้นเป็นสัตว์ที่สามารถตั้งท้องลูกได้หลายตัวในหนึ่งครั้ง (multiparous) กระบวนการเหล่านี้จึงเกิดขึ้นซ้ำๆได้โดยไซโกต-โมรูลัสหลายอันซึ่งอาจมาจากการผสมพันธุ์กับแมวตัวผู้หลายตัว เมื่อแม่แมวตั้งท้องแล้ว สภาพแวดล้อมในมดลูกก็มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในอนาคตและพัฒนาการของลูกแมวแต่ละตัว มีงานวิจัยที่พบว่าลูกแมวที่เกิดจากแม่แมวที่ได้รับอาหารเป็นโปรตีนต่ำในช่วงตั้งท้องและตลอดการให้นมนั้นจะมีการแสดงอารมณ์มากกว่า เคลื่อนไหวมากกว่าและส่งเสียงร้องบ่อยกว่าลูกแมวที่เกิดจากแม่แมวที่ได้รับอาหารที่มีสารอาหารสมดุลและครบถ้วน 1 นอกจากนี้ลูกแมวเหล่านี้ยังสูญเสียการทรงตัวได้บ่อยขึ้น มีความผูกพันทางสังคมไม่ค่อยดี และมีปฏิสัมพันธ์กับแม่แมวน้อยลง มีการศึกษาอื่นได้รายงานว่าเมื่อแม่แมวถูกจำกัดความต้องการทางโภชนาการครึ่งหนึ่ง ลูกแมวจะแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการเจริญเติบโตของสมองบางส่วน (เช่น สมองส่วนซีรีบรัม สมองส่วนซีรีเบลลัม และก้านสมอง 2) ซึ่งสมองส่วนต่างๆเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นและยังเป็นจุดที่คอยประสานการเคลื่อนไหวและการกระทำต่างๆของร่างกายจึงทำให้ลูกแมวมีพัฒนาการหลายๆด้านช้าลง รวมไปถึงการดูดนม การลืมตา การคลาน การขยับร่างกาย การเดิน การวิ่ง การเล่นและการปีน อย่างไรก็ตามการวิจัยผลกระทบของอาหารต่อการแสดงออกของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (epigenetics) นั้นยังคงต้องทำการศึกษาต่อไป เนื่องจากยีนหรือพันธุกรรมของแมว (feline microbiome) เป็นสิ่งที่ได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันแต่ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกแมวนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน

ช่วงลูกสัตว์แรกเกิด

ระยะเวลาของลูกสัตว์แรกเกิดเริ่มตั้งแต่ทันทีที่เกิดไปจนถึงอายุ 2 สัปดาห์ แม้ว่าอาจจะมีผู้เขียนบางท่านที่พิจารณาว่าช่วงลูกสัตว์แรกเกิดจะกินเวลาถึงอายุ 7 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม่แมวจะเริ่มต้นดูแลและกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกสัตว์ (การกระตุ้นบริเวณรอบๆทวารหนักนั้นจำเป็นสำหรับการปัสสาวะและอุจจาระของลูกแมวแรกเกิด) ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของชีวิต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าช่วงลูกสัตว์แรกเกิดจะคงอยู่จนถึงช่วงเวลานี้ พฤติกรรมความเป็นแม่ที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของลูกแมวที่แข็งแรง (รูปภาพที่ 1) เพราะลูกแมวเมื่อแรกเกิดจะมีภาวะตาบอดและหูหนวกเกือบสนิท อีกทั้งยังมีความสามารถในการเคลื่อนไหวและควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ค่อนข้างจำกัด พวกมันจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแม่แมวอย่างสมบูรณ์เพื่อความอยู่รอด

การกินและการนอนหลับเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกแมวที่อยู่ในช่วงลูกสัตว์แรกเกิด โดยปกติแล้วในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิตลูกแมวจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวันในการดูดนม เนื่องจากลูกแมวแรกเกิดจะเกิดมาพร้อมกับตาที่บอด (แม้ว่าปฏิกิริยาตอบสนองทางสายตาหลายอย่าง เช่น ปฏิกิริยาการกระพริบตา (blink reflex) อาจมีได้ก่อนที่จะเกิด 3) และหูที่หนวกเกือบสนิท ทำให้การได้ยินในลูกแมวแรกเกิดนั้นไม่ดี ลูกแมวจึงต้องอาศัยประสาทสัมผัสในการดมกลิ่น การสัมผัสและการตรวจจับความอบอุ่น เนื่องจากลูกแมวแรกเกิดนั้นยังไม่สามารถที่จะควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ เพราะฉะนั้นความสามารถในการตรวจจับระดับความต่างของอุณหภูมิ (thermal gradient) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอด ในขณะเดียวกันลูกแมวหาตำแหน่งของเต้านมโดยใช้ประสาทสัมผัสในการดมกลิ่น แม้ว่าลูกแมวจะไม่ส่งเสียงร้องมากนัก แต่พวกมันมักจะส่งเสียงเพอร์ (purr) เมื่อดูดนมและจะร้องเพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกไม่สบายทางกาย ลูกแมวเกิดมาพร้อมกับระบบประสาทที่ยังพัฒนายังไม่สมบูรณ์ รวมถึงการเคลื่อนไหวก็ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ขาของลูกแมวแรกเกิดนั้นยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของตัวมันเองได้จนกว่าจะอายุได้ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามลูกแมวสามารถพยุงตัวหรือปรับท่าทางได้หากล้มกลิ้งนอนหงาย เนื่องจากปฏิกิริยาปรับเปลี่ยนตำแหน่งท่าทาง (righting reflex) จะพัฒนาขึ้นก่อนจะคลอด

ลูกแมวแรกเกิดนั้นต้องพึ่งพิงแม่แมวอย่างสมบูรณ์เพื่อให้อยู่รอด

รูปภาพที่ 1 ลูกแมวแรกเกิดนั้นต้องพึ่งพิงแม่แมวอย่างสมบูรณ์เพื่อให้อยู่รอด พฤติกรรมความเป็นแม่ที่ดีนั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกแมวที่มีสุขภาพแข็งแรง
อ้างอิง: Shutterstock

Kersti Seksel

นักพฤติกรรมสัตวแพทย์ในปัจจุบันเชื่อว่าห้องเรียนพฤติกรรมการเข้าสังคมของลูกแมว (เมื่อมีการสอนอย่างเหมาะสม) นั้นมีประโยชน์ อีกทั้งแนวคิดนี้ก็ถูกรวบรวมอยู่ในแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมวของ American Association of Feline Practitioners feline behavior guidelines

Kersti Seksel

ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในช่วงนี้ (อายุ 2-3 สัปดาห์) ลูกแมวจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว โดยลูกแมวจะมีความเป็นอิสระจากแม่แมวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งจะเริ่มคลานและเดินได้มากขึ้นแม้ว่าจะมีความงุ่มง่ามอยู่บ้าง นอกจากนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ตาและหูของลูกแมวก็จะสามารถเริ่มใช้งานได้แล้ว ฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้น แม้ว่าโดยปกติแล้วลูกแมวจะไม่เริ่มกินอาหารแข็งจนกว่าจะสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านแต่ว่าประสาทรับกลิ่นของลูกแมวนั้นจะพัฒนาเต็มที่ตั้งแต่ลูกแมวอายุได้ 3 สัปดาห์แล้ว

ที่สำคัญคือมีรายงานว่าลูกแมวที่แยกจากแม่และถูกเลี้ยงดูด้วยมนุษย์ตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ดูเหมือนว่าจะมีความก้าวร้าวต่อผู้คนและต่อแมวตัวอื่นๆมากกว่าลูกแมวที่เลี้ยงโดยแม่แมว 4,5,6 ลูกแมวเหล่านั้นยังมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นใหม่มากขึ้น มีความสามารถในการเรียนรู้ที่แย่ลง รวมถึงมีทักษะการเข้าสังคมและมีพฤติกรรมความเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี ผลกระทบเหล่านี้อาจลดลงหากลูกแมวถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์ในบ้านที่มีแมวลักษณะปกติเพื่อให้ลูกแมวได้เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆโดยการสังเกตพฤติกรรมของแมวตัวอื่นแทน

ช่วงเข้าสังคม

การเข้าสังคมมีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางระบบประสาทและร่างกายของลูกแมวเป็นอย่างมาก แต่กระบวนการเข้าสังคมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่วงวัยเด็กของลูกแมวเท่านั้นเพราะมันจะดำเนินต่อไปตลอดชีวิตของแมว การเข้าสังคมของลูกแมวจะมีผลต่อการมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับบุคคลใหม่ๆในฐานะแมวโตเต็มวัย ทั้งนี้ช่วงเข้าสังคมจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 3-7 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีผู้เขียนบางท่านที่แนะนำว่าช่วงเข้าสังคมอาจจะยาวไปจนถึงอายุ 9 สัปดาห์ ซึ่งจะแตกต่างไปจากสุนัขเนื่องจากช่วงเข้าสังคมของแมวดูเหมือนจะสิ้นสุดเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากการเล่นทางสังคม (social play) ของลูกแมวมักจะมีจุดสูงสุดอยู่ระหว่างอายุ 9-14 สัปดาห์ จึงมีผู้เขียนหลายท่านที่ลงความเห็นว่าช่วงเข้าสังคมนั้นอาจจะไม่ได้สิ้นสุดที่ 7 สัปดาห์เช่นนั้นเสมอไป ช่วงเข้าสังคมจะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ และปัจจัยจากประสบการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ในช่วงเข้าสังคมลูกแมวจะมีความเป็นอิสระมากขึ้นและมักจะเป็นช่วงที่ลูกแมวจะถูกย้ายไปบ้านใหม่อีกด้วย

ช่วงนี้จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบต่างๆภายในร่างกายของลูกสัตว์ เมื่อลูกแมวอายุได้ 4 สัปดาห์ การได้ยินของพวกมันจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ (โดยจะสามารถจดจำเสียงร้องของแม่ได้เมื่อเปิดคลิปเสียงร้องของแม่หรือร้องเหมียวแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองกับเสียงร้องของแมวตัวอื่นๆ 7) นอกจากนี้ลูกแมวยังสามารถรับรู้ความลึกได้ ถึงแม้ว่าการมองเห็นจะค่อยๆพัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนถึงอายุประมาณ 16 สัปดาห์ก็ตาม ความสามารถในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งท่าทางเมื่อตกลงจากที่สูง (air righting ability) ของลูกแมวจะเทียบเท่ากับแมวโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 6 สัปดาห์ เมื่ออายุได้ 7 สัปดาห์ลูกแมวก็จะสามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้เช่นเดียวกับแมวโตเต็มวัย และเมื่ออายุได้ 5-6 สัปดาห์ลูกแมวก็จะสามารถควบคุมการขับถ่ายของตัวเองได้อย่างเต็มที่รวมถึงอาจเริ่มขุดดินเพื่อกลบอุจจาระหรือปัสสาวะได้ การตอบสนองโดยการเผยอริมฝีปากบนขึ้นแล้วยิงฟันหรือ flehmen response จะเริ่มที่อายุประมาณ 5 สัปดาห์และจะเทียบเท่ากับแมวโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 7 สัปดาห์ ลูกแมวจะมีการเคลื่อนไหวเหมือนกับแมวโตเต็มวัยเมื่ออายุ 6-7 สัปดาห์ และในช่วงเข้าสังคมนี้เองที่การเล่นของลูกแมวจะพัฒนาขึ้นโดยมีการเล่นอยู่หลายประเภท (การเล่นทางสังคม (social play) การเล่นทางวัตถุ (object play) และการเล่นทางการเคลื่อนไหว (locomotory play)) การเล่นทางสังคมนั้นจะเริ่มขึ้นเมื่อลูกแมวมีอายุประมาณ 4 สัปดาห์และจะมีจุดสูงสุดที่อายุประมาณ 9-14 สัปดาห์ ส่วนการเล่นทางวัตถุและการเล่นทางการเคลื่อนไหวนั้นจะเริ่มที่อายุ 6 สัปดาห์และมีจุดสูงสุดที่อายุประมาณ 16 สัปดาห์ ร่วมกับการพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างตาและขา (eye-paw coordination) ที่จะเริ่มเมื่ออายุ 6 สัปดาห์เช่นเดียวกัน (รูปภาพที่ 2) โดยเมื่ออายุ 14 สัปดาห์ขึ้นไปลูกแมวก็จะเริ่มเล่นในสิ่งที่น่ากลัวมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ที่จะเล่นต่อสู้และมีการต่อสู้ทางสังคมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าลูกแมวที่มีตัวเดียวจะเล่นกับวัตถุหรือแม่แมวมากกว่าลูกแมวที่มีเพื่อนร่วมครอกหลายตัว 8

 การเล่นเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการของลูกแมว

รูปภาพที่ 2 การเล่นเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการของลูกแมว โดยจะช่วยพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างตาและขา
อ้างอิง: Shutterstock

ลูกแมวจะเริ่มกินอาหารแข็งในช่วงนี้ และมักจะกินสิ่งที่แม่แมวกินถ้ามีโอกาสเข้าถึงอาหารของแม่แมวได้ การเลือกอาหาร (taste preferences) นั้นยังถูกกำหนดขึ้นในช่วงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เวลาหย่านมของลูกแมวนั้นจะมีผลกับพฤติกรรมของลูกแมวในอนาคต 9,10,11,12 โดยลูกแมวที่หย่านมเร็ว (ตั้งแต่อายุ 4 สัปดาห์ขึ้นไป) มักจะแสดงพฤติกรรมล่าเหยื่อ (predatory behavior) เร็วกว่าปกติ ในขณะที่ลูกแมวที่หย่านมช้า (ตั้งแต่อายุ 9 สัปดาห์ขึ้นไป) จะมีพฤติกรรมล่าเหยื่อที่ช้าและฆ่าเหยื่อไม่ค่อยได้

เมื่อลูกแมวอายุประมาณ 3 สัปดาห์ แม่แมวจะเริ่มสอนลูกแมวเรื่องพื้นฐานในการล่าเหยื่อ 13 และเมื่อถึงเวลาที่ลูกแมวอายุประมาณ 5 สัปดาห์ พฤติกรรมการล่าแบบพื้นฐานและพฤติกรรมการล่าแบบอิสระจะสามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจน โดยลูกแมวจะไม่สามารถเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสัญลักษณ์ทางสายตาได้จนกว่าจะอายุอย่างน้อย 1 เดือน แต่ประมาณ 6-8 สัปดาห์ลูกแมวจะเริ่มตอบสนองต่อภัยคุกคามทางสายตาและกลิ่นได้เหมือนแมวที่โตเต็มวัย

ปฏิกิริยาหวาดกลัวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีความคุกคามอาจเริ่มแสดงเมื่ออายุได้ 6 สัปดาห์ ส่วนความแตกต่างทางพฤติกรรมส่วนตัวนั้นจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงอายุ 2 เดือนเนื่องจากอิทธิพลทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในช่วงแรกที่แตกต่างกัน การจับลูกแมวเพิ่มมากขึ้น (เพิ่มความเครียดเพียงเล็กน้อย) นั้นดูเหมือนจะช่วงเร่งพัฒนาการของพวกมันได้ ช่วงเวลาที่ลูกแมวสามารถเข้าสังคมกับมนุษย์และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆได้ดีที่สุดคืออายุระหว่าง 2-9 สัปดาห์ และยิ่งมีคนเลี้ยงดูลูกแมวมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่ลูกแมวจะกลัวมนุษย์ก็น้อยลงเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าการที่ลูกแมวจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เข้าสังคมได้ดีนั้น สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการสัมผัสจากมนุษย์ก่อนอายุได้ 7 สัปดาห์เพื่อให้ลูกแมวมีพฤติกรรมที่ยอมรับได้ในสังคม 14 ดังนั้นเจ้าของจึงควรฝึกจับลูกแมวด้วยความอ่อนโยนอย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำ (หยิบจับและอุ้ม) ก่อนลูกแมวจะอายุ 3 เดือน อีกทั้งยังควรเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แม้จะเพิ่งคลอดออกมาได้ไม่นานก็ตาม (รูปภาพที่ 3) นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือต้องฝึกให้ลูกแมวสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นใหม่ๆที่ไม่เป็นอันตรายในช่วงนี้อีกด้วย 15 เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการเริ่มชั้นเรียน “อนุบาลลูกแมว” (กล่องข้อความที่ 1) นักพฤติกรรมสัตวแพทย์ในปัจจุบันเชื่อว่าห้องเรียนพฤติกรรมการเข้าสังคมของลูกแมว (เมื่อมีการสอนอย่างเหมาะสม) นั้นมีประโยชน์ อีกทั้งแนวคิดนี้ก็ถูกรวบรวมอยู่ในแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมวของ American Association of Feline Practitioners (AAFP) feline behavior guidelines 16

กล่องข้อความที่ 1 ข้อบ่งชี้สำหรับห้องเรียนอนุบาลลูกแมวที่ประสบความสำเร็จ

• ควรเปิดห้องเรียนในช่วงแรกโดยไม่มีลูกแมวเพื่อให้เจ้าของมีสมาธิกับหัวข้อที่กำลังจะสอน
• ห้องเรียนแรกควรจะมีหัวข้อครอบคลุมการดูแลลูกแมว พูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ปกติของแมว และช่วยเจ้าของออกแบบสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการของลูกแมวทั้งหมดและในขณะเดียวกันก็ป้องกันการพัฒนาปัญหาพฤติกรรมในอนาคต
• ห้องเรียนอาจจะต้องดำเนินการในช่วงเวลาสั้นๆเพราะช่วงเข้าสังคมของลูกแมวจะสิ้นสุดที่อายุประมาณ 9 สัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น อาจจำเป็นที่จะต้องสอน 3 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์
• ลูกแมวที่เข้าร่วมควรมีอายุระหว่าง 8-13 สัปดาห์ โดยต้องปราศจากปรสิตภายนอกและปลอดโรคติดเชื้อ รวมถึงต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มก่อนจะเริ่มเรียน โดยเวลาเข้าร่วมที่แน่นอนนั้นจะขึ้นกับตารางการฉีดวัคซีนของลูกแมวและข้อจำกัดที่ว่าลูกแมวจะย้ายบ้านเมื่อไร
• ไม่แนะนำให้ลูกแมวที่มีอายุมากกว่า 13 สัปดาห์เข้าร่วม แต่ควรสนับสนุนให้เจ้าของแมวแก่เข้าร่วมชั้นเรียนโดยไม่มีแมวอยู่ด้วย
• ห้องเรียนในอุดมคติควรมีลูกแมวแค่ 3 ตัว สูงสุดไม่เกิน 6 ตัว
• ควรสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวเข้าร่วม โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องมาพร้อมกับผู้ใหญ่
• ห้องเรียนจะจัดการได้ง่ายขึ้นถ้ามีผู้สอน 2 คน แม้ว่าโดยปกติแล้วผู้สอนเพียงหนึ่งคนก็สามารถรับมือได้ เพราะลูกแมวนั้นไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์มากเท่ากับลูกสุนัข
• พื้นที่ว่างจะเป็นตัวกำหนดจำนวนลูกแมวและจำนวนคนที่สามารถรองรับได้ โดยควรมีพื้นที่ให้ทุกคนได้นั่ง และควรมีที่ว่างสำหรับวางอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เสาลับเล็บแมว กระบะทราย ของเล่นและตะกร้า โดยห้องเรียนควรจะต้องป้องกันไม่ให้แมวหนีได้ด้วย
• จัดทำเอกสารประกอบคำบรรยายเพื่อให้เจ้าของสามารถทบทวนความรู้ด้วยตนเองที่บ้านได้ในภายหลัง
การได้รับสัมผัสจากมนุษย์ในช่วงอายุ 7 สัปดาห์สำคัญต่อลูกแมว

รูปภาพที่ 3 การได้รับสัมผัสจากมนุษย์ในช่วงอายุ 7 สัปดาห์สำคัญต่อลูกแมว เพื่อพัฒนาพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับในสังคม ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกแมวด้วยความอ่อนโยนอย่างสม่ำเสมอควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเริ่มได้แม้จะเป็นช่วงหลังคลอดไม่นาน
อ้างอิง: Shutterstock

ช่วงวัยรุ่น

ช่วงวัยรุ่นจะเริ่มต้นเมื่อแมวอายุประมาณ 9 สัปดาห์และยาวไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างอายุ 4-10 เดือน) โดยถึงแม้ว่ารูปแบบพฤติกรรมพื้นฐานจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนี้ แต่ทักษะการเคลื่อนไหวและการทำงานร่วมกันของอวัยวะต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ รวมไปถึงลูกแมวจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น ช่วงเวลานี้ยังเกี่ยวข้องกับการที่ลูกแมวมีความพร้อมที่จะย้ายบ้าน ในช่วงนี้ลูกแมวยังเป็นอิสระจากความต้องการอาหารอย่างเต็มที่ การเล่นและการสำรวจวัตถุต่างๆที่ไม่มีชีวิตรวมไปถึงการเล่นทางการเคลื่อนไหวจะเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 7-8 สัปดาห์โดยมีจุดสูงสุดที่อายุ 18 สัปดาห์ ส่วนการเล่นทางสังคมจะพบเจอได้บ่อยในช่วงอายุ 4-14 สัปดาห์ อีกทั้งลูกแมวจะเริ่มมีพฤติกรรมการล่าเมื่ออายุได้ 3 เดือน การเล่นทางวัตถุอาจเป็นการเล่นกับสัตว์ตัวอื่นหรือเล่นคนเดียวก็ได้ โดยอาจประกอบไปด้วยการตะปบ การสะกดรอย การพุ่งกระโจน และการกัดสิ่งของโดยใช้อุ้งเท้ายึดวัตถุเอาไว้ ซึ่งการเล่นประเภทนี้เป็นการจำลองลักษณะต่างๆของขั้นตอนการล่าเหยื่อ

Kersti Seksel

แมวบางตัวอาจไม่มั่นใจในตัวมนุษย์มากนักไม่ว่าพวกมันจะได้รับการฝึกให้เข้าสังคมมากแค่ไหนก็ตาม การดูแลแมวอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7-9 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มโอกาสที่แมวจะเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้น แม้จะเพียงวันละ 15 นาทีก็ถือว่ามีประโยชน์

Kersti Seksel

ช่วงสัตว์โตเต็มวัย

ช่วงวัยรุ่นนั้นถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อแมวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือก็คือเมื่อแมวสามารถสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้ (sexual reproduction) นอกจากนี้ช่วงสัตว์โตเต็มวัยจะดำเนินต่อไปจนกว่าแมวจะสิ้นอายุขัย ลูกแมวเพศเมียอาจแสดงอาการของการเป็นสัดครั้งแรกได้ในช่วงอายุ 3.5-12 เดือน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วมักจะแสดงอาการเมื่ออายุ 5-9 เดือนก็ตาม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แมวสายพันธุ์ต่างๆที่อยู่แถบซีกโลกตะวันออกมักจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น สัญญาณของการเป็นสัดในระยะแรกนั้นอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การที่แมวเกิดในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ การสัมผัสกับแมวเพศผู้ที่โตเต็มวัย การมีแมวเพศเมียตัวอื่นที่เป็นสัด หรือช่วงที่มีแสงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้น้ำหนักแมวหรือฤดูกาลที่แมวเกิดก็ยังส่งผลต่อการเป็นสัดเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ว่าแมวตัวนั้นเกิดในซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้ก็ล้วนส่งผลทั้งสิ้น แมวเพศเมียเป็นสัตว์ที่การเป็นสัดจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล (seasonally polyestrous) ดังนั้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์แมวจึงมีโอกาสที่จะผสมพันธุ์ได้หลายช่วงซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ กล่าวคือแมวจะไม่ตกไข่เว้นแต่ว่าจะได้รับการผสมพันธุ์ แมวเพศเมีย 1 ตัวสามารถผสมพันธุ์กับแมวเพศผู้ได้หลายตัวในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนช่วงวัยรุ่นของลูกแมวเพศผู้จะสิ้นสุดลงเมื่อลูกแมวเริ่มสร้างสเปิร์มที่มีชีวิตได้เมื่ออายุประมาณ 8-12 เดือน

ความสมบูรณ์ทางเพศ (sexual maturity) นั้นไม่เท่ากับความสมบูรณ์ด้านการเข้าสังคม (social maturity) ซึ่งคำนี้หมายถึงพัฒนาการของพฤติกรรมทางสังคมในแมวโตเต็มวัยและการมีปฏิสัมพันธ์กับแมวตัวอื่นควบคู่ไปกับพฤติกรรมการป้องกัน/หวงอาณาเขต (territorial defense behavior) โดยเชื่อกันว่าจะแมวจะมีความสมบูรณ์ด้านการเข้าสังคมในช่วงอายุ 36-48 เดือน ซึ่งนานกว่าสุนัข เนื่องจากมีความเชื่อว่าแมวจะต้องมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะรับมือกับการเข้าสังคมในแบบสัตว์โตเต็มวัย

สุดท้ายนี้ ในปัจจุบันมีการให้ความสนใจกับแมวในช่วงสัตว์สูงวัยมากขึ้น แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแมวสูงอายุในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอายุค่อนข้างน้อยก็ตามแต่ก็ได้รับการยอมรับทั่วไปในทางปฏิบัติ โดยการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหลายอย่างนั้นได้รับการยอมรับในแมวสูงอายุ อีกทั้งความสามารถทางสติปัญญานั้นก็ถดถอยลงเมื่อแมวมีอายุมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีการศึกษาจำนวนมากที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับการรู้คิดของแมว (feline cognition) และความเสื่อมถอยของการรู้คิดในแมวสูงวัย

บุคลิกภาพ

การที่แต่ละบุคคลมีแนวโน้มที่จะแสดงรูปแบบพฤติกรรม ความคิดและความรู้สึกที่มีลักษณะเฉพาะนั้นถูกอธิบายว่าคือบุคลิกภาพ ความสามารถของแมวในการเข้าสังคมกับมนุษย์นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่ได้รับสืบทอดต่อกันมา (รูปภาพที่ 4) งานวิจัยบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมที่แสดงถึงความ “เป็นมิตร” (กล้าหาญ) และ “ไม่เป็นมิตร” (ขี้ขลาด) และบุคลิกภาพส่วนนี้ได้รับอิทธิพลมาจากทางพ่อ (paternally influenced) 17 เพราะฉะนั้นแมวบางตัวอาจไม่มั่นใจในตัวมนุษย์มากนักไม่ว่าพวกมันจะได้รับการฝึกให้เข้าสังคมมากแค่ไหนก็ตาม การดูแลแมวอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7-9 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แมวเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้น แม้จะเพียงวันละ 15 นาทีก็ถือว่ามีประโยชน์ โดยผลลัพธ์จะชัดเจนยิ่งขึ้นในลูกแมวที่ขี้อาย ความแตกต่างของบุคลิกภาพของแมวนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังของเจ้าของที่มีต่อความสัมพันธ์กับแมวของตนเอง ทั้งนี้เพราะแมวที่มีบุคลิกภาพกล้าหาญเสียงดังนั้นอาจไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของเจ้าของทุกคน แต่ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าของบางคนที่พบว่าแมวขี้อายที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คนนั้นรับมือได้ค่อนข้างยาก

บุคลิกภาพของแมวนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังของเจ้าของที่มีต่อความสัมพันธ์กับแมว

รูปภาพที่ 4 บุคลิกภาพของแมวนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังของเจ้าของที่มีต่อความสัมพันธ์กับแมวของตนเอง
อ้างอิง: Shutterstock

สรุป

การทำความเข้าใจช่วงพัฒนาการของแมวจะช่วยให้พวกเราเข้าใจถึงพฤติกรรมของพวกมันได้ดีขึ้นและทราบถึงเหตุผลของพฤติกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะรวมไปถึงความจริงที่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักเพาะพันธุ์สัตว์เลือกเพาะพันธุ์แมวที่จะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดีที่สุดได้ อีกทั้งยังจะช่วยประสานสายสัมพันธ์ระหว่างแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของได้ด้วย (ด้วยเหตุนี้จึงหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการทอดทิ้งแมวและการทำการุณยฆาตเนื่องจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์) สัตวแพทย์นั้นต้องสามารถให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่เจ้าของเกี่ยวกับแมวและพัฒนาการของแมวเพื่อให้ลูกแมวมีสวัสดิภาพที่เหมาะสมที่สุด วิธีนี้จะทำให้อนาคตของแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงนั้นปลอดภัย

Further reading

  • Overall KL. Clinical Behavioural Medicine for Small Animals. St Louis, MI; Mosby, 2013.
  • Seksel K. Training Your Cat. Melbourne; Hyland House, 2001.
  • Landsberg G, Hunthausen W, Ackerman L. Handbook of Behaviour Problems of the Dog and Cat. Oxford; Butterworth-Heinemann, 2012.
  • Beaver B. Feline Behavior; A Guide for Veterinarians (2nd ed.) St Louis, MI; Saunders Elsevier, 2003.
  • Bradshaw, JWS. The Behaviour of the Domestic Cat. London; CAB International, 2012.

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 เม.ย. - 15 มิ.ย. 2023

ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Gallo PV, Werboff J, Knox K. Protein restriction during gestation and lactation; development of attachment behavior in cats. Behav. Neural Biol. 1980;29:216-223.

  2. Smith B, Jensen G. Brain development in the feline. Nutr. Rep. Int. 1997;16:487.

  3. Beaver B. Reflex development in the kitten. Appl. Anim. Ethol. 1978;4:93. 

  4. Mellen J. Effects of early rearing experience on subsequent adult sexual behavior using domestic cats (Felis catus) as a model for exotic small felids. Zoo. Biol. 1992;11:17-32. 

  5. Seitz PFD. Infantile experience and adult behavior in animal subjects; II. Age of separation from the mother and adult behavior in the cat. Psychosom. Med. 1959;21:353-378. 

  6. Chon E. The effects of queen (Felis sylvestris)-rearing versus hand-rearing on feline aggression and other problematic behaviors. In; Mills D, Levine E (eds) Current Issues and Research in Veterinary Behavioral Medicine. West Lafayette, Ind. Purdue University Press, 2005;201-202.

  7. Szenczi P, Banszegi O, Urrutia A, et al. Mother-offspring recognition in the domestic cat; kittens recognize their own mother’s call. Develop. Psychobiol. 2016;58:568-577.

  8. Mendl M. The effects of litter-size variation on the development of play behaviour in the domestic cat; litters of one and two. Anim. Behav. 1988;36:20-34.

  9. Barrett P, Bateson P. The development of play in cats. Behaviour 1978;66:106-120.

  10. Bateson P, Mendl M, Feaver J. Play in the domestic cat is enhanced by rationing of the mother during lactation. Anim. Behav. 1990;40:514-525.

  11. Martin P, Bateson P. The influence of experimentally manipulating a component of weaning on the development of play in domestic cats. Anim. Behav. 1985;33:502-510.

  12. Tan PL, Counsilman JJ. The influence of weaning on prey-catching behaviour in kittens. Zeit Tierpsychol. 1985;70:148-164.

  13. Caro TM. Effects of the mother, object play, and adult experience on predation in cats. Behav. Neural Biol. 1980;29:29-51.

  14. Collard RR. Fear of strangers and play behavior in kittens varied with social experience. Child Develop. 1967;38:877-891.

  15. Hudson HL, Eckerman CO. Familiar social and nonsocial stimuli and the kitten’s response to a strange environment. Develop. Psychobiol. 1971;4:71-89.

  16. Quimby J, Gowland S, Carney HC, et al. AAHA/AAFP Feline Life Stage Guidelines J. Feline Med. Surg. 2021;23:211-233.

  17. McCune S. The impact of paternity and early socialisation on the development of cats’ behaviour to people and novel objects. Appl. Anim. Behav. Sci. 1995;45:111-126.

Kersti Seksel

Kersti Seksel

ภายหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ Dr.Seksel ได้เข้าทำงานที่อังกฤษก่อนเข้าศึกษาระดับมหาบัณฑิตด้านศิลปศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 จากทั้งหมด 2 ตอน โดยผู้เขียนได้พิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ และสาเหตุว่าทำไมระเบียบปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการดำเนินกิจการคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 24/10/2023

ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ ตอนที่ 2

ในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทีมงานและการประสบความสำเร็จในการออกแบบและใช้ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์

โดย Philippe Baralon , Antje Blättner และ Pere Mercader

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 25/05/2023

ความสำคัญของ DHA ในลูกสุนัข

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Russ Kelley ผ่านการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีสมมติฐานว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (DHA) นั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายอย่างไรบ้าง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับลูกสุนัข

โดย Russ Kelley

หมายเลขหัวข้อ 32.1 เผยแพร่แล้ว 22/03/2023

วิธีป้องกันปัญหาพฤติกรรมในลูกสุนัข

เจ้าของสัตว์หลายคนเลือกสุนัขด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ Jon Bowen ได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่จะช่วยให้ลูกสุนัขอายุน้อยพัฒนากลายเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวได้

โดย Jon Bowen