วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
วารสารเชิงวิชาการและการรักษาสัตวป่วยเพื่อผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

หมายเลขหัวข้อ 31.2 Other Scientific

การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยากลุ่ม Staphylococcus ที่ผิวหนัง

เผยแพร่แล้ว 11/02/2023

เขียนโดย Eleanor K. Wyatt และ Laura M. Buckley

สามารถอ่านได้ใน Français , Deutsch , Italiano , Español , English และ 한국어

การจัดการกับการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยากลุ่ม Staphylococcus ทางสัตวแพทย์ถือว่ามีความยากในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาต่างๆนั้นสามารถจัดการได้อย่างเป็นขั้นตอนตามคำแนะนำในบทความนี้

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 100 เท่าของการทำ impression smear พบลักษณะ pyogranulomatous inflammation มีเชื้อแบคทีเรียชนิด cocci และ bacilli ในเซลล์เม็ดเลือดขาวสอดคล้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย

ประเด็นสำคัญ

เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus ที่มีการดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถติดต่อจากสุนัขไปยังสุนัขตัวอื่น จากสุนัขสู่คนและจากคนสู่สุนัข


สัตวแพทย์สามารถใช้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อ Staphylococci ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตรวจหาเชื้อดื้อยาจากสัตว์ป่วย


หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะควรทำอย่างมีขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่แบคทีเรียจะพัฒนากลายเป็นเชื้อดื้อยา


การพยากรณ์การหายของการติดเชื้อดื้อยานั้นเทียบได้กับการติดเชื้อชนิด wild type ตราบเท่าที่ยังสามารถรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้หายได้


 

บทนำ

การติดเชื้อแบคทีเรีย staphylococci ที่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด (multidrug- resistant Staphylococci; MDRS) พบได้บ่อยทั้งในทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ก่อปัญหาแก่ทั้งสัตว์ป่วยและในระดับชุมชน การป้องกันการเพิ่มจำนวนและการติดเชื้อ MDRS นั้นสำคัญต่อสุขภาพของสัตว์ป่วย บุคลากรในสถานพยาบาลสัตว์และประชาชนโดยรอบ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้นเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง การตรวจหาเชื้อ MDRS รวมไปถึงการรักษา บทความนี้จะกล่าวโดยรวมเกี่ยวกับการติดเชื้อ MDRS ในสุนัขรวมถึงช่วงเวลาและขั้นตอนการตรวจหาเชื้อที่เหมาะสม การจัดการสิ่งแวดล้อมที่บ้านและภายในสถานพยาบาลสัตว์ รวมถึงแนวทางในการจัดการเพื่อรักษาการติดเชื้อและยับยั้งไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำอีก

ความเป็นมาของเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus

Staphylococcusจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อแบคทีเรีย cocci แกรมบวกที่สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม กลุ่มที่มีความสำคัญทางสัตวแพทย์มากที่สุดคือกลุ่ม coagulase positive S. intermedius (S. pseudintermedius, S. delphini และ S. intermedius) และกลุ่ม S. aureus 1 

S. pseudintermedius เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในสุนัขที่มีสุขภาพดีโดยสามารถพบในปริมาณสูงที่บริเวณเยื่อบุช่องปาก ผิวหนังรอบทวาร เยื่อบุโพรงจมูก และขาหนีบตามลำดับ 1 พบว่าสุนัขที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีมีอัตราการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดนี้สูงกว่าสุนัขปกติ 2. S. aureus เป็นเชื้อที่อาศัยแบบเกื้อกูล(commensalism)บนผิวหนังและคอหอยร่วมจมูกในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงแต่สามารถกลายเป็นเชื้อฉวยโอกาสได้ (opportunism) เช่นเดียวกับเชื้อ S. pseudintermedius 3

การเพิ่มจำนวนและการติดเชื้อแบคทีเรีย staphylococci เกิดจากการที่แบคทีเรียยึดติดกับ corneocyte ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของแบคทีเรีย S. pseudintermedius มีความชอบในการจับกับ corneocyte ของสุนัขสูงกว่าของคนมาก 1 ในขณะที่ S. aureus มีความชอบจับกับเซลล์ของสุนัขน้อยกว่าของคนรวมถึงการพบเชื้อ methicillin-resistant S. aureus (MRSA) ในโพรงจมูกสุนัขนั้นสามารถหายเองได้ 4 การแพร่เชื้อ S. pseudintermedius จากสุนัขสู่คนพบได้ไม่บ่อย จากการที่เชื้อแบคทีเรียจับตัวกับ corneocyte ทำให้เกิดการแพร่เชื้อทางอ้อมของทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดื้อยาและดื้อยาผ่านการหลุดลอกของเซลล์สู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการควบคุมการติดเชื้อจึงสำคัญมากทั้งในกรณีที่เป็นการติดเชื้อที่แท้จริงหรือเป็นการเพิ่มจำนวนของ MDRS

การดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด(multidrug resistance)  

การดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด(multidrug resistance; MDR) เป็นคำจำกัดความที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงต่อเชื้อ staphylococciเท่านั้นโดยสามารถใช้กับแบคทีเรียทุกชนิดที่แสดงการดื้อยาปฏิชีวนะอย่างน้อยหนึ่งตัวหรือมากกว่าในสามกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่นเชื้อแบคทีเรีย S. pseudintermedius ที่ดื้อต่อยา cephalexin clindamycin และ doxycycline หรือ Pseudomonas aeruginosa ที่ดื้อต่อยา marbofloxacin(หรือ enrofloxacin) gentamicin และ polymyxin B 5คำว่า methicillin-resistant staphylococci (MRS) ใช้นิยามกลุ่มของ staphylococci ที่มีการดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่ม beta-lactam การดื้อยาเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียมียีน mecA ซึ่งถอดรหัสได้เป็นโปรตีนที่จับกับยา penicillin (PBP2a) โปรตีนนี้มีลักษณะเป็น transpeptidase ทำหน้าที่สังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรียโดย PBP2a มีความชอบจับกับยาฏิชีวนะกลุ่ม beta-lactam ต่ำกว่า transpeptidase ตัวอื่น 6 ยีน mecA จะสร้างความดื้อยาต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม beta-lactam เกือบทั้งหมดรวมถึง methicillin penicillin และกลุ่ม cephalosporins ส่วนใหญ่ การที่ MRSA พัฒนาไปสู่การดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิดเกิดจากการสะสมยีนดื้อยาหลายตัวรอบยีน mecA ที่อยู่ภายในปลอกหุ้มโครโมโซม (SCCmec) 7.

การติดเชื้อ MRSA ในคนเกิดได้ 2 ทางหลักคือจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล(nosocomial infection) และการติดเชื้อจากในชุมชน การติดเชื้อในโรงพยาบาลเกิดจากผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือมีการทำหัตถการที่โรงพยาบาลในขณะที่การติดเชื้อจากในชุมชนจะเกิดกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์ ลักษณะทาง phenotype และ genotype ของเชื้อจะแตกต่างกับ MRSA ที่ติดจากในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน 8 ในสุนัขพบว่าการติดเชื้อ MRSA ที่ผิวหนังพบได้น้อยกว่า methicillin-resistant S. pseudintermedius (MRSP) 9

การตรวจยืนยันและการรักษาเชื้อดื้อยาปฏิชีวีนะหลายชนิด(multidrug-resistance; MDR)

หากสงสัยการติดเชื้อ MDR จำเป็นต้องมีการวางแผนจัดการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อป้องกันสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ป่วย เจ้าของสัตว์ บุคลากร และสัตว์อื่นที่อาจสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังทำการยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี cytology แล้วต้องยืนยันการติดเชื้อ MDR ด้วยการเพาะเชื้อและหาความไวต่อยาปฏิชีวนะ(culture and susceptibility testing; CST) จากนั้นจึงสร้างมาตรการในการควบคุมการติดเชื้อเพื่อลดการแพร่ของเชื้อสู่สิ่งแวดล้อมที่บ้านและสถานพยาบาลสัตว์ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปยังคนและสัตว์อื่น ท้ายที่สุดคือการเลือกวิธีการรักษาที่หยุดการติดเชื้อและไม่ทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาเพิ่มขึ้น

การตรวจยืนยันการติดเชื้อแบคทีเรีย

ขั้นตอนแรกในการตรวจกรณีสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังคือการวิเคราะห์รอยโรคที่เข้าข่ายขณะตรวจร่างกาย(รูป 1) ตามด้วยการเก็บตัวอย่างผิวหนังและการตรวจ cytology สิ่งที่ควรระวังคือการเพาะเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม staphylococci ได้จากบริเวณที่ไม่ได้ปลอดเชื้อเช่นผิวหนังหรือช่องหูไม่สามารถยืนยันการติดเชื้อได้ เป็นเพียงแค่การยืนยันการมีอยู่ของเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเก็บตัวอย่างเท่านั้น การยืนยันการติดเชื้อแบคทีเรียทำได้โดยการตรวจ cytology จากการเก็บตัวอย่างผิวหนังที่เหมาะสมจะพบกระบวนการ phagocytosis ที่เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลหรือแมคโครฟาจกลืนกินแบคทีเรีย(รูป 2 และ 3)
 
รอยโรค papule pustule และ epidermal collarette จำนวนมากที่บริเวณใต้ท้องสุนัข

รูป 1 รอยโรค papule pustule และ epidermal collarette จำนวนมากที่บริเวณใต้ท้องสุนัขที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปีซึ่งสอดคล้องกับผิวหนังอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย (superficial bacterial pyoderma) © University of Liverpool Dermatology Service

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 100 เท่าของการทำ impression smear พบนิวโทรฟิลจำนวนมากที่มีแบคทีเรียชนิด cocci อยู่ภายในเซลล์

รูป 2 ภาพจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 100 เท่าของการทำ impression smear พบนิวโทรฟิลจำนวนมากที่มีแบคทีเรียชนิด cocci อยู่ภายในเซลล์สอดคล้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย© S.C. Shaw (2021)

รอยโรค papule pustule และ epidermal collarette จำนวนมากที่บริเวณใต้ท้องสุนัข

รูป 3 ภาพจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 100 เท่าของการทำ impression smear พบลักษณะ pyogranulomatous inflammation มีเชื้อแบคทีเรียชนิด cocci และ bacilli ในเซลล์เม็ดเลือดขาวสอดคล้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย © S.C. Shaw (2021)

วิธีการตรวจหา MDRS

เมื่อสามารถยืนยันการติดเชื้อแบคทีเรียจากการตรวจ cytology แล้วจึงทำการเพาะเชื้อและหาความไวต่อยาปฏิชีวนะ(culture and susceptibility test ;CST) เพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียและยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม การตรวจหาความไวต่อยาปฏิชีวนะแบบทั่วไปนั้นไม่ครอบคลุมต่อยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกและควรทำการเพาะเชื้อแบคทีเรีย หาความไวต่อยาปฏิชีวนะทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางระบบ ลักษณะของแบคทีเรียที่ถูก phagocytosis จากการตรวจ cytology ควรสอดคล้องกับแบคทีเรียที่เพาะเชื้อได้เพื่อยืนยันว่าแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่เพาะเชื้อได้


การเก็บตัวอย่างเพื่อการเพาะเชื้อ MDRS นั้นทำเช่นเดียวกันกับการเพาะเชื้อตามปกติโดยใช้วิธีปลอดเชื้อในการเก็บตัวอย่างด้วย swab จากนั้นทำการส่งตัวอย่างที่บรรจุใน transport media ที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียชนิด aerobe เช่น Amies Bacterial Transport Medium ที่อาจมีถ่านหรือไม่ก็ได้สำหรับการตรวจ CST ทั่วไป การตรวจ PCR เพื่อหายีน mecA เป็น gold standard ในการระบุการดื้อยา methicillin 10 ซึ่งการตรวจ PCR อาจไม่สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการบางแห่งทำให้การวินิจฉัยมักอ้างอิงจากผลการเพาะเชื้อเป็นหลัก การทำ CST สามารถใช้ยืนยันการมีอยู่ของเชื้อ MDRS ได้ในสองกรณี กรณีแรกคือจากบริเวณที่เกิดการติดเชื้อและ/หรือกรณีที่เป็นแหล่งพาหะพบเชื้อ Staphylococcus

1. 1. กรณีสัตว์ป่วยที่สงสัย MDRS ทุกรายควรทำ CST ที่บริเวณที่พบการติดเชื้อ ในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรียที่พิจารณาแล้วว่าการใช้ยาปฏิชีวนะภายนอกเพียงพอต่อการควบคุมการติดเชื้อเช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังส่วนมากรวมถึงการติดเชื้อบริเวณหู การเพาะเชื้อจะช่วยบอกการมีอยู่ของ MDRS เพื่อปรับการจัดการควบคุมการติดเชื้ออย่างเหมาะสม การที่สัตวแพทย์สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด MDRS/MRS จะทำให้มีการตรวจหาเชื้ออย่างทันท่วงที(ตาราง 1) ปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างหนึ่งของการเพิ่มจำนวนของ MRSP คือประวัติการได้รับยาปฏิชีวนะก่อนหน้า ดังนั้นควรทำ CST ในกรณีสัตว์ป่วยทุกรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเคยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มสามารถใช้ในกรณีของ MRS ได้และ MRSP อาจสามารถเพาะได้จากบริเวณที่เคยเกิดการติดเชื้อ MRS ที่ผิวหนังถึงแม้ว่าอาการอักเสบติดเชื้อจะหายไปแล้ว 11สัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะแบบ empirical เว้นแต่มีความเสี่ยงอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตสัตว์หรือหากการได้รับยาล่าช้าจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยอย่างมาก

 

ตาราง 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อ MRS* 1213
ปัจจัยจากสัตว์ป่วย  ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม 
โรคผิวหนังเรื้อรัง
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะแบบ empirical
สัตว์ป่วยเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อ MRS
สัตว์ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะหลายขนาน
มีแผลที่ไม่หาย
พึ่งเข้ารักษาตัวที่สถานพยาบาล 
มีการพบสัตวแพทย์ที่สถานพยาบาลบ่อยครั้ง
มีการสัมผัสกับคนหรือสัตว์ที่เป็นโรคผิวหนัง
ผู้อาศัยในบ้านทำงานในสถานพยาบาล
ผู้อาศัยในบ้านหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆมีประวัติตรวจพบ MRS
 
 
 
 
*MRS: methicillin-resistant Staphylococci

 


2. สัตว์ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ MDRS จำเป็นต้องตรวจการเพิ่มจำนวนของเชื้อ MDRS ที่บริเวณพบเชื้อ การเพิ่มจำนวนของเชื้อไม่ได้บ่งบอกถึงความจำเป็นในการลดการปนเปื้อน(decontamination) แต่การทราบถึงการมีอยู่ของเชื้อแบคทีเรียนั้นสำคัญต่อการควบคุมการติดเชื้อ สุนัขที่มีเชื้อเจริญและเพิ่มจำนวนอยู่บนร่างกายมีโอกาสปล่อยเชื้อหรือแพร่แบคทีเรียเชื้อสู่ที่อื่น การตรวจ MDRS ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจ cytology เพราะการยืนยันการเพิ่มจำนวนของเชื้อ MDRS ต้องการเพียงตรวจการมีอยู่ของเชื้อ MDRS การเก็บตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียด้วย swab จากเยื่อบุโพรงจมูก เหงือก และรอบรูทวารอาจใช้ร่วมกันในการเก็บตัวอย่าง(pooled sample)เพื่อการเพาะเชื้อ การตรวจจะถือว่าผลเป็นบวกเมื่อพบเชื้อ MDRS หนึ่งตำแหน่งขึ้นไป จากการที่ไม่มีความจำเป็นในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่พบในกรณีส่วนใหญ่ทำให้ไม่จำเป็นต้องตรวจหาความไวต่อยาปฏิชีวนะจากบริเวณที่พบเชื้อแบคทีเรีย ถึงแม้ว่าจะทำการตรวจหาความไวต่อยาปฏิชีวนะจากบริเวณที่พบเชื้อ พบว่าร้อยละ 80 ของ Staphylococcus spp. ที่แยกได้จะไม่ต่างจากเชื้อที่อยู่ในตุ่มหนองจากบริเวณอื่นของร่างกายที่อยู่ห่างออกไป 14 สุนัขบางตัวที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดสามารถพบเชื้อ MRSP ได้นานกว่า 12 เดือน 15

 

สัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อ

สัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อคือสัตว์ที่มีการพบ MDRS ที่บริเวณของร่างกายซึ่งตามปกติสามารถพบเชื้อกลุ่ม Staphylococcus (เยื่อบุโพรงจมูก ช่องปาก และผิวหนังรอบรูทวาร)โดยไม่พบการอักเสบติดเชื้อที่บริเวณอื่นของร่างกาย สุนัขอาจเป็นพาหะของ MRSP ได้ยาวนาน แต่เป็นพาหะและแพร่เชื้อ MRSA ระยะเวลาไม่กี่วันจนถึงไม่กี่สัปดาห์ ในคนไม่มีการทดสอบเป็นกิจวัตรเพื่อระบุผู้ที่เป็นพาหะของ MRSA โดยไม่แสดงอาการแต่จะทำในกรณีที่บุคคลนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อที่จะกำจัดเชื้อ(decolonization)อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังควรทำการกำจัดเชื้อกรณีที่มีผู้มีความเสี่ยงสูงอาศัยอยู่ในบ้านหรือสมาชิกในบ้านมีการกลับมาติดเชื้อซ้ำ 16 ทางสัตวแพทย์ควรประยุกต์แนวทางจากคนในการตรวจคัดกรองสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ MDRS ก่อนการผ่าตัดที่ซับซ้อนเช่นการผ่าใส่อุปกรณ์ถาวรต่างๆ เพื่อทำการกำจัดเชื้อเช่นเดียวกัน

การตรวจหาสถานะการเป็นพาหะในสัตว์ที่หายจากการติดเชื้อ MDRS อาจจำเป็นต้องนำมาใช้เป็นกิจวัตรจากสาเหตุที่กล่าวไว้ด้านบนว่าสุนัขอาจแพร่เชื้อ MRSP ได้ยาวนานถึงหนึ่งปีหลังจากที่หายจากการติดเชื้อ ประเทศที่มีความชุกของ MRSP ต่ำ อาจใช้มาตรการการควบคุมสิ่งแวดล้อมและยาปฏิชีวนะที่บริเวณพบเชื้อแบคทีเรียจนกระทั่งผลการตรวจคัดกรองเป็นลบติดต่อกันสองครั้งห่างกันครั้งละสามสัปดาห์ ซึ่งถือว่าสมเหตุสมผลในการลดการแพร่เชื้อ MRSP สู่สิ่งแวดล้อม 16.

การควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล

การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางสัตวแพทย์มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปในการเป็นพาหะของเชื้อ MRSA และ MRSP 17 ดังนั้นสถานพยาบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการติดเชื้อ MDRS ระหว่างบุคลากรและสัตว์ป่วย อาจเป็นขั้นตอนง่ายๆที่ลดโอกาสการแพร่เชื้อทางตรงระหว่างบุคลากรและสัตว์ป่วยหรือทางอ้อมที่เป็นการแพร่เชื้อผ่านเครื่องมือต่างๆ(fomites) สัตวแพทย์และผู้เกี่ยวข้องสามารถลดการแพร่กระจายของแบคทีเรียด้วยการล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่หรือหากไม่สามารถล้างมือได้ควรทำความสะอาดน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 16 

การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อนั้นจำเป็นในการลดการปนเปื้อนของ MDRS ในสิ่งแวดล้อม น้ำยาฆ่าเชื้อที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ quaternary ammonium และ hydrogen peroxide มีประสิทธิภาพดีในการทำลายเชื้อ Staphylococcus spp. 16 ควรทำการขจัดอินทรียสารออกจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อก่อนที่จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพราะอินทรียสารที่ค้างอยู่บนพื้นผิวอาจบดบังไม่ให้น้ำยาฆ่าเชื้อสัมผัสกับเชื้อได้โดยตรงทำให้เชื้อ MDRS อยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อม

มาตรการต่อไปนี้อาจนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยตรงและการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของเชื้อ MDRS เมื่อสัตวแพทย์ต้องทำการตรวจรักษาสัตว์ป่วยนอกที่มีการติดเชื้อ MDRS หรือเป็นพาหะของ MDRS

สัตวแพทย์ควรนัดสัตว์ป่วยดังกล่าวเป็นคิวสุดท้ายของวันและควรให้รออยู่ภายนอกสถานพยาบาลจนกว่าจะถึงเวลานัด
บาดแผลที่มีการติดเชื้อควรได้รับการปิดแผลก่อนเข้าสถานพยาบาล
สัตว์ป่วยควรมุ่งหน้าไปยังห้องตรวจรักษาทันทีโดยหลีกเลี่ยงการคอยบริเวณที่นั่งรอ
หากเป็นไปได้ควรใช้รถเข็นในการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อบนพื้น
ห้องตรวจรักษาต้องได้รับการทำความสะอาดและมีเพียงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อสัตว์ป่วยตัวที่กำลังทำการรักษาเท่านั้น
ห้องตรวจรักษาและรถเข็นต้องได้รับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทันทีหลังการตรวจวินิจฉัยเสร็จสิ้น

บุคลากรที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ป่วยทุกคนควรสวมใส่ personal protection equipment(PPE) อย่างเหมาะสมซึ่งประกอบไปด้วย ถุงมือ เสื้อคลุม และที่คลุมรองเท้า หลังการสัมผัสสัตว์ป่วยที่ติดเชื้อ MDRS ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีนอกจากว่า PPE จะเป็นชนิดที่ปกปิดร่างกายอย่างสมบูรณ์ เสื้อผ้าที่ใช้แล้วควรใส่ถุงให้เรียบร้อยเพื่อนำไปซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาทีจากนั้นจึงปั่นแห้ง 18 ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านการหายใจเพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ได้ติดต่อทางอากาศ(airborne) แต่การสวมใส่หน้ากากอาจช่วยลดโอกาสในการจับสัมผัสหน้าของบุคลากรทำให้ลดโอกาสในการที่เชื้อ MDRS เพิ่มจำนวนบนผิวหน้าได้ 16

ในกรณีของสัตว์ป่วยที่ติดเชื้อ MDRS ซึ่งต้องเข้าพักรักษาในสถานพยาบาลแบบค้างคืน อาจทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ MDRS ไปยังบุคลากรและสัตว์ป่วยตัวอื่น รวมไปถึงการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม

ร่างกายบริเวณที่มีการติดเชื้อ MDRS ควรใช้วัสดุปิดแผลชนิดที่มีการผ่านเข้าออกไม่ได้
สัตว์ป่วยควรอยู่ในหอพักสัตว์ป่วย(ward)ที่แยกออกมาโดยเฉพาะ
จำกัดปริมาณบุคคลากรที่ใช้ดูแลสัตว์ป่วยให้น้อยที่สุดรวมถึงมีการสวมชุด PPE อย่างเหมาะสม
หากต้องการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยควรใช้รถเข็นเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อบนพื้น
สวมใส่ถุงมือขณะเปลี่ยนวัสดุปิดแผลที่มีการรติดเชื้อและเปลี่ยนถุงมือก่อนที่จะแปะวัสดุปิดแผลใหม่

Eleanor K. Wyatt

การติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ที่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด(multidrug- resistant Staphylococci; MDRS) พบได้บ่อยทั้งในทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ก่อปัญหาแก่ทั้งสัตว์ป่วยและในระดับชุมชน การป้องกันการเพิ่มจำนวนและการติดเชื้อ MDRS นั้นสำคัญต่อสุขภาพของสัตว์ป่วย บุคลากรในสถานพยาบาลสัตว์และประชาชนโดยรอบ

Eleanor K. Wyatt

การควบคุมการติดเชื้อในที่อยู่อาศัย

การจัดการสัตว์ป่วย MDRS ในที่อยู่อาศัยมีความท้าทายหลายประการเพราะทั้งตัวสัตว์เลี้ยงและสิ่งแวดล้อมในบ้านเป็นแหล่งกักเก็บโรคที่มีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงอื่นและผู้อาศัยในบ้านที่เข้ามาสัมผัสกับเชื้อ บ้านยังเป็นสถานที่ที่มีโอกาสน้อยกว่าในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในแบบเดียวกับสถานพยาบาล อย่างไรก็ตามการจัดการการติดเชื้อ MDRS และการทำลายเชื้อนั้นสามารถทำได้ที่บ้านทั้งยังมีข้อดีเมื่อเทียบกับการพักรักษาตัวในสถานพยาบาล จากการที่ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ประชากรปริมาณมากกว่ารวมถึงสัตว์ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ MRSP ของคนที่มีสุขภาพดีนั้นต่ำมาก แต่ในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีแผลเปิดและ/หรือแผลผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงกว่าในการติดเชื้อ บุคคลดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสระหว่างสัตว์ป่วย สิ่งแวดล้อมและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเมื่อสามารถทำได้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรป้องกันการสัมผัสโดยตรงโดยแยกบริเวณอยู่อาศัยของสัตว์ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อในบ้านเดียวกัน ขั้นตอนอื่นๆที่อาจช่วยลดการแพร่เชื้อในบ้านได้แก่

ซักทำความสะอาดที่นอนและของเล่นเป็นประจำทุกวัน สิ่งของดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อและการสะสมเชื้อ MDRS ในสัตว์เลี้ยง 16
ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และ/หรือล้างทำความสะอาดหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง
ป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเลียผู้คน
หากต้องการพาสัตว์เลี้ยงไปเดินออกกำลังกายควรใช้สายจูงตลอดเวลาและหลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจพบสัตว์อื่นจำนวนมากเช่นสวนสาธารณะ
หลังการเก็บอุจจาระควรล้างมือทันที
สวมใส่ถุงมือและชุด PPE เมื่อต้องจัดการกับร่างกายบริเวณที่มีการติดเชื้อ
ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสิ่งแวดล้อมที่สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่บ่อยๆ พิจารณาแยกสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในบริเวณที่ง่ายต่อการทำความสะอาด
ป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงนอนเตียงเดียวกับเจ้าของ

 

ทางเลือกในการรักษาการติดเชื้อ MDRS

การจัดการการติดเชื้อนั้นมีความท้าทายจากการที่มีตัวเลือกยาปฏิชีวนะที่จำกัดและมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เข้มงวด ถึงกระนั้นการพยากรณ์โรคในการหายจากเชื้อ MDRS ไม่ต่างจากการติดเชื้อชนิด wild type หากสามารถจัดการสาเหตุของการติดเชื้อได้เช่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อะโทปี 16 ตัวเลือกยาปฏิชีวนะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ(surface superficial หรือ deep) และขนาดของการติดเชื้อ(localized หรือ generalized) (ตารางที่ 2) พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังแทนการใช้ยาปฏิชีวนะแบบกินจากการที่มีความเข้มข้นของตัวยาสูงกว่าที่บริเวณที่มีการติดเชื้อ

 

ตารางที่ 2 ทางเลือกของการใช้ยาปฏิชีวนะ
Surface pyoderma ยาทาภายนอก
Superficial pyoderma
ยาทาภายนอก
หากมีการติดเชื้อบริเวณกว้างอาจต้องให้ยาทางระบบ
Deep pyoderma
ยาทาภายนอก
ส่วนมากต้องได้รับยาทางระบบ
บาดแผล
ยาทาภายนอก
กรณีแผลผ่าตัดอาจต้องได้รับยาทางระบบ
หูชั้นนอกอักเสบ(otitis externa) และหูชั้นกลางอักเสบไม่รุนแรง(otitis media)
ยาทาภายนอก(ต้องไม่เป็นพิษต่อหูกรณีหูชั้นกลางอักเสบ)
ให้ยาทางระบบสำหรับกรณีหูชั้นในอักเสบ

 

ยาทาภายนอก

ตัวเลือกทางยาอันดับแรกในการรักษาการติดเชื้อ MDRS ที่ผิวหนังนั้นเป็นเช่นเดียวกันกับการรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นนอกและหูเช่นการใช้สารละลาย chlorhexidine เข้มข้นร้อยละ 2-4 พบว่ามีประสิทธิภาพดีในการจัดการ MDRS ในสัตว์ทดลอง(in vivo test) 19 การศึกษาหนึ่งพบว่าสุนัข 7 ใน 10 ตัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น superficial pyoderma มีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นหลังฟอกด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ chlorhexidine เข้มข้นร้อยละ 3 ทิ้งไว้เป็นเวลา 10 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 21 วัน 20 ขั้นตอนดังกล่าวเพียงพอต่อการรักษาการติดเชื้อ MDRS ที่ระดับผิวชั้นนอก(superficial pyoderma) chlorhexidine สำหรับใช้ภายนอกมีจำหน่ายในรูปแบบแผ่นเช็ดทำความสะอาด โฟมหรือมูสและสเปรย์ซึ่งสามารถใช้เป็นประจำทุกวันร่วมกับการอาบแชมพูยาจะทำให้หายจากการติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น เจ้าของสัตว์ยังมีความเห็นว่าใช้งานง่ายกว่าด้วย

ยาภายนอกอีกชนิดที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษา MDRS คือ sodium hypochlorite(NaOCl) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในน้ำยาฟอกขาว(bleach) สารละลาย sodium hypochlorite เข้มข้นร้อยละ 6.15 มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพ(bactericidal) MRSP ในหลอดทดลองเมื่อเจือจางในอัตราส่วน 1:32 และ 1:265 21 ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวชนิดไม่ผสมน้ำหอมที่ใช้ในครัวเรือนอาจใช้ผสมน้ำราดตัวสุนัขหลังฟอกแชมพูสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งโดยผสมสารฟอกขาวเข้มข้นร้อยละ 5 ปริมาณ 5 มิลลิลิตรกับน้ำ 2 ลิตร NaOCl เป็นสารประกอบเกลือโซเดียมของกรดไฮโปคลอรัส(HOCl) มีฤทธิ์ในการออกซิไดซ์ซึ่งใช้แพร่หลายเพื่อการฆ่าเชื้อได้มีวางจำหน่ายในรูปแบบของสเปรย์และไฮโดรเจลเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังในสัตว์ การทดลองนำร่องในหลอดทดลองพบว่า HOCl ออกฤทธิ์ดีต่อ MRSP Escherichia coli ชนิดที่ผลิต extended spectrum β-lactamase และ MDR P. aeruginosa 22.

ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาภายนอกพบได้ไม่บ่อยและมักจำกัดอยู่ที่อาการแพ้อย่างเฉียบพลัน(acute hypersensitivity)และผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส(contact dermatitis) อย่างไรก็ตามการฟอกด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ chlorhexidine และ/หรือราดด้วย NaOCl เป็นประจำอาจทำให้ผิวแห้งเกินไปซึ่งจำเป็นต้องใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้นหรือสเปรย์บำรุงผิวในการแก้ไข

ยาทางระบบ

กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในชั้นลึก (deep bacterial pyoderma)หรือการติดเชื้อที่ผิวหนังที่ไม่อาจรักษาได้โดยการใช้ยาภายนอกเพียงอย่างเดียวเช่นการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นนอกเป็นวงกว้างในสัตว์ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน มักต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะทางระบบร่วมด้วย การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะนั้นต้องพิจารณาทั้งผลต่อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติในทางเดินอาหารและผิวหนัง ดังนั้นยาปฏิชีวนะที่เลือกใช้ควรเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์เป็นวงแคบมากที่สุด ใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุดที่จะรักษาการติดเชื้อเพื่อลดโอกาสการเกิดและการปล่อยเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อต้องการใช้ยาปฏิชีวนะทางระบบควรทำการเพาะเชื้อหาความไวต่อยาปฏิชีวนะทุกครั้ง ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกเพื่อร่นระยะเวลาในการรักษาและลดการใช้ยาทางระบบ หากทำได้ควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกเป็นอันดับแรกขณะรอผลการเพาะเชื้อหาความไวต่อยาปฏิชีวนะ นอกจากยาปฏิชีวนะแล้วการให้ยาลดอักเสบอาจช่วยได้ในบางกรณีของการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังโดยเฉพาะการอักเสบในช่องหู ในกรณีที่การติดเชื้อมีสาเหตุมาจากการอักเสบที่ผิวหนังและ/หรือมีการอักเสบที่รุนแรงซึ่งมีสาเหตุจากโรคเรื้อรังอาจใช้สเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกหรือให้ทางระบบในขนาดลดการอักเสบเป็นระยะเวลาสั้นๆหากว่าสัตว์ไม่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาในการรักษาการติดเชื้อ MDRS นั้นมีจำกัด ควรทำการเพาะเชื้อหาความไวต่อยาปฏิชีวนะจากบริเวณที่มีการติดเชื้อซ้ำหลังสิ้นสุดการรักษาเพื่อติดตามผลของยาซึ่งไม่ควรทำก่อน 7 วันหลังเริ่มให้ยาปฏิชีวนะ แนวทางในปัจจุบันสำหรับระยะเวลาในการรักษา superficial pyoderma คือ 3 สัปดาห์หรือต่ออีก 1 สัปดาห์หลังจากที่อาการทางคลินิกดีขึ้น กรณีของ deep pyoderma คือ 4-6 สัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์หลังจากที่อาการทางคลินิกดีขึ้น 16

Laura M. Buckley

การจัดการเชื้อ MDRS ที่ดีต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการลดการปนเปื้อนของเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปยังสัตว์อื่นและคน ร่วมกับการใช้วิธีรักษาการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพซึ่งไม่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น

Laura M. Buckley

 

การจัดการ biofilm ของเชื้อแบคทีเรีย

หนึ่งในกลไกป้องกันตนเองของแบคทีเรียกลุ่ม staphylococci Staphylococcus คือความสามารถในการสร้าง biofilm ซึ่งส่งผลให้การรักษาการติดเชื้อ MDRS ทำได้ยากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณรอยพับของผิวหนัง ช่องหูและอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกาย(surgical implants) biofilm คือกลุ่มก้อนของแบคทีเรีย staphylococci ซึ่งเติบโตอยู่ภายใน extracellular matrix ที่แบคทีเรียผลิตออกมา จัดเป็นเกราะป้องกันทางกายภาพต่อทั้งยาปฏิชีวนะทางระบบและชนิดทาภายนอก ทางการแพทย์คนได้มีมาตรการมากมายเพื่อการจัดการกับ biofilm ไม่ว่าจะเป็นการถอดอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกายหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีการติดเชื้อออกหรือการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกและทางระบบในขนาดที่สูง การขจัด biofilm ออกด้วยวิธีการทางภายภาพไม่ว่าจะด้วยวิธีการชำระล้าง หรือการเช็ดทำความสะอาดล้วนเป็นขั้นตอนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีวิธีการใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองใช้ ยกตัวอย่าง metal chelator เช่น ethylenediaminetetraacetate (EDTA) เอนไซม์ สารเคมีสกัดจากพืช(phytochemicals) และ ไวรัสที่กินแบคทีเรีย(bacteriophages) ซึ่งยังต้องได้รับการศึกษาต่อไป 23 N-acetylcysteine (NAC) ชนิดทาภายนอกถูกนำมาใช้เพื่อสลาย biofilm ทั้งในทางการแพทย์และสัตวแพทย์ อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์สารละลายที่ผสมกับ tris-EDTA สามารถนำมาใช้ล้างผิวหนังและช่องหูเพื่อสลาย biofilm ก่อนที่จะใช้ยาปฏิชีวนะ ผลการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่า NAC และ tris-EDTA มีประสิทธิภาพดีต่อ biofilm ของเชื้อ S. pseudintermedius และ P. aeruginosa 24

สรุป

การจัดการระยะยาวและการป้องกันการติดเชื้อ MDRS ต้องอาศัยการระบุและจัดการกับโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันยังขาดแนวทางที่มีหลักฐานสนับสนุนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ MDRS แต่การใช้ยาปฏิชีวนะทางระบบมีส่วนก่อให้เกิดการพัฒนาของเชื้อแบคทีเรียไปเป็น MDRS ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้นอกจากมีความจำเป็น การดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกอาจเกิดขึ้นได้แต่การใช้เป็นประจำสามารถช่วยป้องกันการเจริญของแบคทีเรียและการติดเชื้อในสัตว์ที่มีความไวต่อเชื้อได้ การจัดการในระยะยาวเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการติดเชื้อ หากสามารถระบุและจัดการกับสาเหตุของการติดเชื้อจะได้จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี หากไม่สามารถทำได้จะทำให้มีโอกาสกลับมาติดเชื้อ MDRS ซ้ำได้อีก

พิเศษสำหรับสัตวแพทย์ไทย

เข้าทำเเบบทดสอบเพื่อสะสม VET-CE ภายในวันที่ 15 .. - 15 เม.ย. 2023

ทำแบบทดสอบ VET-CE

แหล่งอ้างอิง

  1. Bannoehr J, Guardabassi L. Staphylococcus pseudintermedius in the dog: taxonomy, diagnostics, ecology, epidemiology and pathogenicity. Vet Dermatol 2012;23:253-266.

  2. Fazakerley J, Nuttall Y, Schmidt V, et al. Staphylococcal colonization of mucosal and lesional skin sites in atopic and healthy dogs. Vet Dermatol 2009;20:179-184.

  3. Harris LG, Foster SJ, Richards RG. An introduction to Staphylococcus aureus, and techniques for identifying and quantifying S. aureus adhesins in relation to adhesion to biomaterials: a review. Eur Cell Mater 2020;4:39-60.

  4. Frank LA, Kania SA, Kirzeder EM, et al. Risk of colonization or gene transfer to owners of dogs with meticillin-resistant Staphylococcus pseudintermedius. Vet Dermatol 2009;20:496-501.

  5. Magiorakos AP, Srinivasan A, Carey RB, et al. Multidrug-resistant, extensively drug-resistant and pan-drug-resistant bacteria: an international expert proposal for interim standard definitions for acquired resistance. Clin Microbiol Infect 2012;18:268-281.

  6. Weese JS, van Duijkeren E. Methicillin-resistant Staphylococcus aureus and Staphylococcus pseudintermedius in veterinary medicine. Vet Microbiol 2010;140:418-429.

  7. Ito T, Hiramatsu K. Acquisition of methicillin resistance and progression of multiantibiotic resistance in methicillin-resistant Staphylococcus aureus. Yonsei Med J 1998;39:526-533.

  8. Xie X, Bao Y, Ouyang N, et al. Molecular epidemiology and characteristic of virulence gene of community-acquired and hospital-acquired methicillin-resistant Staphylococcus aureus isolates in Sun Yat-sen Memorial Hospital, Guangzhou, Southern China. BMC Inf Dis 2016;16:339-348.

  9. Hanselman BA, Kruth SA, Rousseau J, et al. Coagulase positive staphylococcal colonization of humans and their household pets. Can Vet J 2009;50:954-958.

  10. Chambers HF. Methicillin resistance in staphylococci: molecular and biochemical basis and clinical implications. Clin Microbiol Rev 1997;10:781-791.

  11. Beck KM, Waisglass SE, Dick HLN, et al. Prevalence of meticillin-resistant Staphylococcus pseudintermedius (MRSP) from skin and carriage sites of dogs after treatment of their meticillin-resistant or meticillin-sensitive staphylococcal pyoderma. Vet Dermatol 2012;23:369-375.

  12. Iverson SA, Brazil AM, Ferguson JM, et al. Anatomical patterns of colonization of pets with staphylococcal species in homes of people with methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) skin or soft tissue infection (SSTI). Vet Microbiol 2015;176:202-208.

  13. Grönthal T, Moodley A, Nykäsenoja S, et al. Large outbreak caused by methicillin-resistant Staphylococcus pseudintermedius ST71 in a Finnish veterinary teaching hospital – from outbreak control to outbreak prevention. PLOS One 2014;9:1-11.

  14. Pinchbeck LR, Cole LK, Hillier A, et al. Pulsed-field gel electrophoresis patterns and antimicrobial susceptibility phenotypes for coagulase-positive staphylococcal isolates from pustules and carriage sites in dogs with superficial bacterial folliculitis. Am J Vet Res 2007;68:535-542.

  15. Windahll U, Reimegård E, Holst BS, et al. Carriage of methicillin-resistant Staphylococcus pseudintermedius in dogs – a longitudinal study. BMC Vet Res 2012;8:34-41.

  16. Morris DO, Loeffler A, Davis MF, et al. Recommendations for approaches to meticillin-resistant staphylococcal infections of small animals: diagnosis, therapeutic considerations and preventative measures. Vet Dermatol 2017;28:304-330.

  17. Aklilu E, Zunita Z, Hassan L, et al. Molecular epidemiology of methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) among veterinary students and personnel at a veterinary hospital in Malaysia. Vet Microbiol 2013;164:352-358.

  18. Lakdawala N, Pham J, Shah M, et al. Effectiveness of low-temperature domestic laundry on the decontamination of healthcare workers' uniforms. Infect Control Hosp Epidemiol 2011;32:1103-1108.

  19. Borio S, Colombo S, La Rosa G, et al. Effectiveness of a combined (4% chlorhexidine digluconate shampoo and solution) protocol in MRS and non‐MRS canine superficial pyoderma: a randomized, blinded, antibiotic‐controlled study. Vet Dermatol 2015;26: 339-344.

  20. Loeffler A, Cobb MA, Bond R. Comparison of a chlorhexidine and a benzoyl peroxide shampoo as sole treatment in canine superficial pyoderma. Vet Rec 2011;169:248-252.

  21. Pariser M, Gard S, Gram D, et al. An in vitro study to determine the minimal bactericidal concentration of sodium hypochlorite (bleach) required to inhibit meticillin‐resistant Staphylococcus pseudintermedius strains isolated from canine skin. Vet Dermatol 2013;24:632-634.

  22. Uri M, Buckley LM, Marriage L, et al. A pilot study comparing in vitro efficacy of topical preparations against veterinary pathogens. Vet Dermatol 2016;27:152-159.

  23. Suresh MK, Biswas R, Biswas L. An update on recent developments in the prevention and treatment of Staphylococcus aureus biofilms. Indian J Med Microbiol 2019;309:1-12.

  24. Chan WE, Hickey EE, Page SW, et al. Biofilm production by pathogens associated with canine otitis externa, and the antibiofilm activity of ionophores and antimicrobial adjuvants. J Vet Pharmacol Ther 2019;42:682-692.

Eleanor K. Wyatt

Eleanor K. Wyatt

Small Animal Teaching Hospital, Institute of Veterinary Science, University of Liverpool, UK อ่านเพิ่มเติม

Laura M. Buckley

Laura M. Buckley

โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงเพื่อการเรียนการสอน, Institute of Veterinary Science, University of Liverpool, UK อ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นๆ ในประเด็นนี้

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 08/02/2023

ภาพรวมของอาการไม่พึงประสงค์จากอาหารที่พบในสุนัข

อาการไม่พึงประสงค์จากอาหารนั้นมักจะคล้ายคลึงกับความผิดปกติทางผิวหนังอื่นๆ การมีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับพยาธิวิทยาและตัวเลือกในการวินิจฉัยนั้นจะเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จในการรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากอาหาร

โดย Elisa Maina

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 07/09/2022

การรักษาโรคขี้เรื้อนเปียกในสุนัขด้วย isoxazolines

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีสารเคมีชนิดใหม่หลายชนิดถูกนำมาใช้เพื่อการป้องกันปรสิตภายภายนอก

โดย Vincent E. Defalque

หมายเลขหัวข้อ 31.2 เผยแพร่แล้ว 05/09/2022

ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากผิดปกติในสุนัข

สุนัขที่มีภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากผิดปกติมักแสดงอาการทางผิวหนัง

โดย Fiona Scholz และ Sam Crothers